เมื่อโลกก้าวเข้าสู่ปี 2025 กำลังเผชิญกับ “ภาวะโลกปั่นป่วน” ความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อมที่รุนแรงขึ้น จากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ และการกระทำของมนุษย์ ที่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศและเศรษฐกิจทั่วโลก
1 ใน 9 เทรนด์โลกปี 2025 ที่ ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ วิเคราะห์ไว้ บ่งบอกถึงความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อม เพราะภัยพิบัติเพิ่มขึ้น ฝนตกหนัก น้ำท่วมรุนแรง ดินถล่ม แผ่นดินไหว ไฟไหม้ป่า ฝุ่นพิษ pm2.5 สารพันปัญหาสิ่งแวดล้อม ไม่มีแนวโน้วดีขึ้น เพราะ “ภาวะโลกปั่นป่วน” ขณะที่ประเทศพัฒนาเตรียมหาหนทางป้องกันและบรรเทา แม้จะสร้างข้อกำหนดเพื่อการลดภาวะโลกร้อน แต่ความร่วมมือมา “ช้าเกินไป”
ปัจจัยทำ ภาวะโลกปั่นป่วน
การปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เพิ่มขึ้นจากกิจกรรมของมนุษย์ ทำให้ระดับ CO2 ในชั้นบรรยากาศสูงขึ้น ส่งผลให้อุณหภูมิพื้นผิวโลกเฉลี่ยคาดว่า จะอยู่ระหว่าง 1.29-1.53 องศาเซลเซียสในปี 2025 ผลกระทบจากภาวะโลกร้อน จะทำให้เกิดเหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้วมากขึ้น เช่น คลื่นความร้อน และพายุเฮอริเคน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อชุมชนและระบบนิเวศอย่างรุนแรง
การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ยังส่งผลกระทบต่อการเกษตรและการผลิตอาหาร โดยคาดว่าความสามารถในการผลิตอาหารจะลดลงในหลายพื้นที่ เนื่องจากสภาพอากาศที่ไม่แน่นอน และความแห้งแล้งที่เพิ่มขึ้นนอกจากนี้ การขาดแคลนน้ำยังเป็นปัญหาที่สำคัญ โดยเฉพาะในพื้นที่แห้งแล้ง ซึ่งจะต้องมีการจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน เพื่อให้เกิดความมั่นคงทางอาหาร
ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงด้านสิ่งแวดล้อมในปี 2025 จะส่งผลกระทบต่อประเทศไทยในหลายด้านที่สำคัญ โดยคาดว่า ประเทศไทยจะเผชิญกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่รุนแรงขึ้น เช่น คลื่นความร้อนที่สูงถึง 43 องศาเซลเซียส น้ำท่วมฉับพลัน และดินถล่ม ซึ่งจะส่งผลต่อความปลอดภัยของประชาชนและความมั่นคงทางเศรษฐกิจ นอกจากนี้ ความหลากหลายทางชีวภาพ โดยเฉพาะหญ้าทะเล ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของประชากรพะยูน กำลังเผชิญกับการลดลงอย่างรวดเร็ว
จากสถิติ 20 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 2543-2562 จะพบว่า ประเทศไทยมีความเสี่ยงเป็นอันดับ 9 จากภาวะโลกรวน และเกิดอากาศวิปริต 146 ครั้ง สร้างความเสียหายเป็นจำนวน 7.7 พันล้านดอลลาร์/ปี ซึ่งในอนาคต ประเทศไทยจะเจอกับ 4 ภัยอันตรายใหญ่
- ทะเลสูง แผ่นดินต่ำ
- น้ำท่วมแรง
- แห้งแล้งจัด
- วิบัติคลื่นร้อน
ภาวะโลกปั่นป่วน จึงเป็นโจทย์ใหญ่ที่เราต้องเผชิญ แต่ถึงแม้ว่าจะมีความท้าทายมากมาย แต่ก็มีโอกาสในการเปลี่ยนแปลงไปสู่อนาคตที่ยั่งยืนมากขึ้น การลงทุนในพลังงานหมุนเวียน และเทคโนโลยีสีเขียว จะช่วยลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ นอกจากนี้ การพัฒนานวัตกรรมด้านการเกษตรเพื่อเพิ่มผลผลิตในสภาพอากาศที่ไม่แน่นอน ก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่จะช่วยให้เราสามารถรับมือกับวิกฤตนี้ได้
แนวทางรับมือ ภาวะโลกปั่นป่วน
- การลดก๊าซเรือนกระจก
ไทยมีเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างมีนัยสำคัญ โดยมุ่งหวังที่จะลดการปล่อยก๊าซให้ได้ 222 ล้านตันภายในปี 2030 และตั้งเป้าหมายที่จะเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2050 การดำเนินการเหล่านี้ จะต้องใช้การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานสะอาดและเทคโนโลยีสีเขียว เพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว
- ความมั่นคงทางอาหาร
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อาจส่งผลให้เกิดความไม่แน่นอนในด้านการเกษตร ซึ่งอาจทำให้ผลผลิตลดลงและเกิดปัญหาความมั่นคงทางอาหารในประเทศ การปรับตัวในภาคเกษตรกรรม เพื่อเพิ่มความสามารถในการผลิตในสภาพอากาศที่ไม่แน่นอนจะเป็นสิ่งจำเป็น
- การพัฒนานโยบายและกฎหมาย
ประเทศไทยกำลังพัฒนาร่าง พ.ร.บ. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งจะช่วยในการควบคุมและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ ยังมีการส่งเสริมตลาดซื้อขายคาร์บอนเครดิต เพื่อสนับสนุนธุรกิจที่มุ่งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
บทสรุป
แม้ว่าจะมีความท้าทาย แต่ประเทศไทยยังมีโอกาสในการพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียว โดยการลงทุนในพลังงานหมุนเวียนและเทคโนโลยีที่ยั่งยืน การปรับตัวเหล่านี้ ไม่เพียงแต่ช่วยลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แต่ยังสามารถสร้างงาน และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยการดำเนินมาตรการที่เข้มข้น เพื่อจัดการกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และสร้างโอกาสในการพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืนในอนาคต
อ้างอิง :
(1) https://policywatch.thaipbs.or.th/article/environment-80
(2) https://www.facebook.com/suchatvee.ae