ฝุ่น PM2.5 พุ่ง ‘หอฟอกอากาศระดับเมือง’ คืนชีวิตให้คนกรุง อย่างไร

Close up of a businesswoman in a suit wearing Protective face mask and cough, get ready for Coronavirus and pm 2.5 fighting against beside road in background.

เมื่อ “ฝุ่น PM2.5” ในเมืองกรุง พุ่งไม่หยุด “หอฟอกอากาศระดับเมือง” ฟ้าใส อีกหนึ่งเทคโนโลยี อีกหนึ่งความหวัง แก้มลพิษทางอากาศ คืนชีวิตให้คนกรุง สู้ฝุ่น PM2.5 ได้อย่างยั่งยืน

จากข้อมูลเรื่องฝุ่น pm2.5 ที่สร้างความน่าตระหนกตกใจ โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ในรอบ 1 ปี มีปริมาณสูงเกินกว่าค่าแนะนำขององค์การอนามัยโลก (WHO) ยาวนานถึง 6–7 เดือน ไม่ใช่เพียงแค่ 2–3 เดือน อย่างที่เคยเข้าใจ ส่วนข้อมูลการประเมินความเสียหายทางสุขภาพจากมลพิษทางอากาศ จาก 180 ประเทศทั่วโลก ของธนาคารโลก (World Bank) พบว่า ประเทศไทยติดอันดับที่ 20 มีมูลค่าความเสียหายมากถึง 45,334 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (USD) โดยคิดเป็น 3.89% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (GDP) ซึ่งสูงเป็นลำดับที่ 2 ในอาเซียน รองจากประเทศอินโดนีเซีย

ความเสียหายทางสุขภาพและสังคม ที่เกิดขึ้น ยิ่งต้องทำให้หน่วยงานภาครัฐ ต้องเร่งจัดการต้นตอของปัญหา ทั้งการผลักดัน ร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาด ที่คาดว่า ภายในปี 2568 หากสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภาโหวตเห็นชอบ และไม่มีการแก้ไข ก็จะถูกนำขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อลงพระปรมาภิไธย และประกาศใช้เป็นกฎหมาย

หอฟอกอากาศระดับเมือง ฟ้าใส ลดฝุ่น PM2.5 ได้จริงหรือไม่

หอฟอกอากาศระดับเมือง ฟ้าใส ถูกนำมาพูดถึง ในงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 17 ว่าด้วยเรื่อง “เศรษฐกิจสร้างสรรค์เพื่อการจัดการอากาศสะอาด” ที่นักวิชาการเชื่อว่า จะสามารถทำให้ปัญหาฝุ่น PM2.5 ดีขึ้น ทำให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น จากการต้องอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่เปรียบเสมือนถังรับมลพิษ อย่าง กทม.

หอฟอกอากาศระดับเมือง คืออะไร

หอฟอกอากาศระดับเมือง เป็นโครงการของการฟอกอากาศในระดับเมือง เพื่อแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศในพื้นที่ที่มีมลพิษสูง เช่น กรุงเทพมหานคร โดยการใช้เทคโนโลยีในการฟอกอากาศที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งสามารถดูดซับและกรองมลพิษต่างๆ เช่น ฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) และสารพิษอื่นๆ ที่ทำให้คุณภาพอากาศเสื่อมโทรม

หอฟอกอากาศนี้ จะถูกติดตั้งในสถานที่ที่มลพิษสูง และจะทำงานโดยการดูดเอาอากาศจากภายนอกไปผ่านระบบฟอกอากาศที่มีประสิทธิภาพ เช่น การกรองฝุ่นและคาร์บอนจากอากาศ ก่อนปล่อยออกไปในสภาพที่สะอาด และมีคุณภาพดีขึ้น ระบบเหล่านี้ จะช่วยลดความเสี่ยงจากปัญหาสุขภาพที่เกิดจากมลพิษทางอากาศในระยะยาว

โครงการดังกล่าว เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามในการปรับปรุงคุณภาพชีวิตในเมือง และทำให้เมืองเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

หอฟอกอากาศระดับเมืองเครื่องแรก ถูกนำมาติดตั้งที่บริเวณหน้าห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิร์ล เมื่อปี 2562 สมัย พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง เป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เพื่อหวังแก้ปัญหาฝุ่นควันมลพิษ PM2.5 แต่นักวิชาการสิ่งแวดล้อมในยุคนั้น ไม่เห็นด้วย เพราะเชื่อว่า หอฟอกอากาศไม่คุ้ม แถมช่วยลด PM2.5 ได้ไม่มาก สวนทางกับราคา

ต่อมาในปี 2563 หอฟอกอากาศระดับเมืองฟ้าใส ถูกพัฒนาโดย บริษัทแมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (MQDC) คิดค้นและพัฒนาร่วมกับบริษัท เนสแทค ประเทศไทย จำกัด (NESTECH) เริ่มติดตั้งที่โครงการ 101 True Digital Park ที่เป็นศูนย์กลางแหล่งรวม Tech และ Startup Ecosystem ที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียง เพื่อทำการฟอกอากาศ และเก็บข้อมูลสภาพอากาศ

หอฟอกอากาศระดับเมืองฟ้าใส

ประสิทธิภาพ หอฟอกอากาศระดับเมือง ฟ้าใส

หลักการทำงานของหอฟอกอากาศอัตโนมัติแบบไฮบริด พัฒนาต่อยอดจากระบบดูดฝุ่น PM2.5 โดยประสานระบบพลังงานไฮบริด คือการใช้พลังงานจากแผงโซล่าร์เซลล์ขนาด 3,850 วัตต์ ร่วมกับระบบแบตเตอรี่ จึงช่วยลดการพึ่งพาแหล่งพลังงานไฟฟ้าจากภายนอก

เริ่มต้นจากการใช้ใบพัดความเร็วสูง ดึงอากาศเข้าไปในระบบ และแยกฝุ่นขนาดใหญ่และขนาดเล็ก ด้วยความเร็วลมและการปล่อยละอองน้ำเพื่อการดักจับฝุ่นสามชั้น ต่อเนื่องด้วยระบบ Jet Venturi Scrubber ระบบทั้งหมดใช้น้ำ 70 ลิตร ทำให้สามารถฟอกอากาศได้ในอัตราสูงสุดถึง 120,000 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง

โดยระบบอัจฉริยะจะควบคุมการทำงานของมอเตอร์ใบพัดให้สอดคล้องกับความเข้มข้นของฝุ่นละออง จนระดับความเข้มข้น PM2.5 ลดลงถึงเกณฑ์ปกติ โดยทาง RISC ได้มีแผนการพัฒนาหอฟอกอากาศระดับเมือง เพื่อลดปัญหามลภาวะทางอากาศให้กับเมืองอย่างต่อเนื่อง ใช้งบประมาณกว่า 10 ล้านบาท

นายปณิธาน ปวโรฬารวิทยา รองเลขาธิการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เชื่อว่า หอฟอกอากาศระดับเมือง ฟ้าใส มีประสิทธิภาพ สามารถฆ่าเชื้อโรคได้ทั้งในน้ำและในอากาศ ทั้งยังมีความสะดวกในการติดตั้ง วางได้ทุกสถานที่ มีระบบล้อเคลื่อนได้ในระยะใกล้ๆ ราคาของเครื่องอยู่ที่ 3–5 ล้านบาท ซึ่งถือว่าเป็นราคาที่ไม่แพง เมื่อเปรียบเทียบกับต้นทุนทางสังคม ที่คน กทม. ต้องเสียไป ตามที่ระบุในงานวิจัย

“เชื่อว่า หากมีการนำหอฟอกอากาศฯ ฟ้าใส มาใช้ในพื้นที่ กทม.สัก 1 หมื่นเครื่อง ก็จะทำให้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ดีขึ้น ทำให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น จากการต้องอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่เปรียบเสมือนถังรับมลพิษ อย่าง กทม.”

อย่างไรก็ตาม ปัญหามลพิษทางอากาศ PM2.5 ถือเป็นปัญหาระดับมหภาค ซึ่งส่งผลกระทบต่อคุณภาพของชีวิตผู้คนเป็นจำนวนมาก และทวีความรุนแรงมากขึ้น การที่หลายภาคส่วนเริ่มตระหนักถึงการแก้ปัญหาเรื่องมลพิษทางอากาศในระยะยาว นับเป็นเรื่องที่ดี หากโครงการนี้ มีการขยายตัว เพื่อเพิ่มจำนวนหอฟอกอากาศในพื้นที่ต่างๆ ตามความจำเป็น เพื่อปรับปรุงคุณภาพอากาศในเมือง อาจช่วยลดมลพิษที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนอย่างยั่งยืน

อ้างอิง :

Related posts

กรรมการชาติเห็นชอบร่างพรบ.โลกร้อน เดินหน้าสู่เศรษกิจคาร์บอนต่ำ

5 ปีอุณภูมิโลกส่อทะลุ 1.5 องศา ไทยเร่งรับมือ 6 สาขาเสี่ยงระดับพื้นที่

‘สารเคมีตลอดกาล’ ภัยร้ายคุกคาม ทุกอณูบนโลก อยู่ในทุกผลิตภัณฑ์ที่ใช้