ชุบชีวิต ‘ขยะทะเล’ เพิ่มมูลค่า ชุมชนยั่งยืน ลดโลกร้อน

by Pom Pom

 

“ขยะทะเล” หนึ่งวิกฤตใหญ่ ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน ภาคเอกชน ต่างให้ความสนใจ ชุบชีวิตขยะ ให้เป็นประโยชน์ ชุมชนยั่งยืน คืนชีวิตให้ทะเล

 

วิกฤต “ขยะ” กำลังเป็นปัญหาใหญ่ไปทั่วโลก ต้นเหตุหลักทำให้เกิดภาวะ “โลกร้อน” ทั้งภาครัฐ และเอกชน ต่างให้ความสนใจที่จะแก้วิกฤตนี้ โดยเฉพาะ “ขยะพลาสติก” ที่ยากต่อการย่อยสลาย และเริ่มล้นโลกขึ้นมาทุกที หลายคนจึงคิดค้นไอเดีย หรือนวัตกรรมต่างๆ ที่สามารถเปลี่ยนกองขยะพลาสติกให้กลับมาใช้งานได้อีกครั้ง

 

“คืนชีวิตให้ทะเล” เป็นคอนเซปที่ ocyco แบรนด์ที่ดูแลเรื่องขยะทะเลและจัดการขยะทะเลอย่างเป็นระบบ เพื่อนำกลับมาเพิ่มมูลค่า ให้เกิดความยั่งยืน ทั้งในด้านสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และสังคม โดยนำเอาขยะรีไซเคิล มาอัปไซเคิลใหม่ ให้กลายเป็นสินค้าต่างๆ สร้างเป็นวงจรดูแลสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนขึ้น ซึ่งทำมากว่า 2 ปีแล้ว

 

“เป้าหมายของเราคือการช่วยให้ชุมชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น พร้อมสร้างรอยยิ้มและความสุขให้กับทุกคน นั่นคือสิ่งที่ Ocyco กำลังทำอยู่ คือการพยายามเป็นส่วนหนึ่งในการลดขยะทะเล”

 

ยศกร ทองตัน ผู้จัดการโครงการ ocyco เล่าถึงที่มาของการสร้างแบรนด์ ocyco เริ่มต้นจาก ผศ.ดร.เศกสันต์ อุดมศรี ผู้ก่อตั้ง บริษัท วงษ์พาณิชย์กระบี่ ซึ่งเล็งเห็นถึงขยะ ที่สร้างความหายนะให้กับโลกใบนี้ จึงเกิดแนวคิดทำให้ขยะมีมูลค่ามากที่สุด โดยทำงานร่วมกับชาวบ้านในชุมชนชายฝั่งกว่า 20 เกาะในพื้นที่ภาคใต้ ที่ระบบจัดการขยะเข้าถึงยาก ชาวบ้านจึงนิยมเผาทิ้ง ซึ่งสร้างมลพิษให้กับสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างมาก จึงสร้างแรงจูงใจ ด้วยการให้ชาวบ้านเก็บขยะ แยกขยะ รวบรวมขยะ เพื่อนำขยะกลับมาใช้ใหม่ สร้างสรรค์เป็นผลงาน แต่ให้มีมูลค่า ส่วนชาวบ้านในบางชุมชน ที่มีความสามารถในเรื่องการเย็บปักถักร้อย เราก็จะเข้าไปสนับสนุนการดีไซน์ การทำอย่างไรให้สินค้าน่าสนใจ

 

พวงกุญแจจากขยะพลาสติก แบรนด์ ocyco

 

ขยะทะเล ประเภทไหน ที่ ocyco นำมาอัปไซเคิล

 

ส่วนใหญ่เน้นไปที่พลาสติก เพราะเป็นขยะที่ก่อมลพิษมากที่สุด หากพูดแบบไม่ได้โลกสวย เราคงไม่สามารถที่จะเลิกใช้พลาสติกได้ แต่ให้ลดการใช้ ดังนั้น หากเลิกไม่ได้ ก็ต้องใช้อย่างไรให้เกิดคุณค่ามากที่สุด ทำอย่างไรไม่ให้เป็น single use plastic แต่สามารถนำมาอัปไซเคิล เช่น พวงกุญแจ ซึ่งแปลงโฉมจากฝาขวดพลาสติกจำนวน 15-23 ฝา, เสื้อจากเศษพลาสติก หรือ กระเป๋าจากแหอวน เรียกได้ว่า “ลดขยะ” แต่ “เพิ่มมูลค่า”

 

รับบริจาคขยะพลาสติกจนกว่าจะหมดโลก

 

หนึ่งในวิสัยทัศน์ของ ผศ.ดร.เวชสวรรค์ หล้ากาศ หรือ ดร.เป้า Green Road อาจารย์ประจำภาควิชาเทคโนโลยีอุตสาหกรรม คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ที่ล่าสุด ได้ประกาศรับบริจาคฝาขวดพลาสติกจนกว่าจะหมดโลก เพื่อนำไปผลิตเป็นโต๊ะเก้าอี้ให้เด็กนักเรียน ที่ประสบภัยน้ำท่วมในพื้นที่ภาคเหนือ นอกจากนี้ เศษพลาสติกที่เหลือจากการทำโต๊ะเก้าอี้ให้โรงเรียน ยังถูกนำกลับมาทำลูกปัด เครื่องประดับ เพื่อให้ประชาชนผู้สนใจ นำไปสร้างงาน และอาชีพ เป็นรายได้เสริมเลี้ยงครอบครัว

 

ฝาขวดพลาสติก นำไปผลิตเป็นโต๊ะเก้าอี้นักเรียน

 

จุดเริ่มต้นการทำโครงการของ ดร.เป้า ไม่ต่างไปจาก ocyco ที่เคยเล่าให้ national geographic ฟังว่า เขาพาลูกคนที่ 2 ไปเที่ยวทะเลครั้งแรก แต่ช่วงที่กำลังจะขึ้นเกาะ น้ำตื้น เพื่อให้เด็กๆ เล่นน้ำได้ ได้เห็นภาพขยะมากมายในน้ำลอยไปมา เป็นภาพที่น่าสลดใจ เหตุการณ์ครั้งนั้น จึงทำให้ ดร.เป้า ตัดสินใจหาวิธีแก้วิกฤตขยะในสิ่งแวดล้อมจากมุมของตัวเอง เริ่มศึกษางานวิจัยของต่างประเทศ เกี่ยวกับการทดลองแปรรูปขยะ และพบว่าขยะพลาสติกที่ลอยอยู่ในทะเลนั้น มีแหล่งกำเนิดเดียวกับยางมะตอย ซึ่งจัดเป็นปิโตรเคมีเช่นกัน จึงสามารถนำมาใช้ทดแทนกันได้

 

ขยะทะเล คือ

 

ขยะทะเล คือของเสียที่เกิดจากมนุษย์ ที่ถูกทิ้งลงสู่ทะเลทั้งทางตรง และทางอ้อม โดยตั้งใจและไม่ได้ตั้งใจ ซึ่งขยะดังกล่าวเป็นขยะพลาสติก มีน้ำหนักเบา และไม่สามารถย่อยสลายได้ในเวลาที่สั้น จึงถูกพัดพาไปในที่ที่ห่างไกลจากแหล่งกำเนิด โดยคลื่น ลม กระแสน้ำ และน้ำขึ้นน้ำลง

 

ขยะพลาสติกส่วนใหญ่ประกอบด้วย ของใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น ถุง ขวด ภาชนะใส่อาหาร และวัสดุที่ใช้ในการบรรจุหีบห่อ รวมทั้งผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม เช่น สายรัด แผ่นพลาสติก หมวกนิรภัย และ เครี่องมือประมง เช่น แห อวน ลอบ

 

ข้อมูลจากกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง อ้างอิงจากผลการสำรวจประเมินจากภาพรวมปริมาณขยะมูลฝอยของประเทศ ในปี 2558 ซึ่งมีจำนวนขยะประมาณ 26.85 ล้านตัน/ปี (หรือคิดเป็นปริมาณขยะ จำนวน 1.13 กิโลกรัม/คน/วัน) โดยในจำนวนนี้ มีปริมาณขยะที่ตกค้างเพราะไม่สามารถกำจัดอย่างถูกวิธี ประมาณ 23 % หรือประมาณ 6.22 ล้านตัน/ปี 

 

ขยะทะเล

 

สำหรับจังหวัดชายฝั่งทะเล 23 จังหวัด มีปริมาณขยะ ประมาณ 10 ล้านตัน/ปี  ในจำนวนนี้มีประมาณ 5 ล้านตัน ที่ได้รับการจัดการไม่ถูกวิธี ข้อมูลจากการสำรวจประเมิน พบว่า ประมาณร้อยละสิบของขยะที่ตกค้าง เนื่องจากกจัดการไม่ถูกวิธีจะไหลลงทะเล ซึ่งนั่นหมายถึงมีขยะไหลลงทะเลปีละประมาณ 50,000-60,000 ตัน/ปี ซึ่งประเมินว่าในแต่ละปี จะมีปริมาณขยะพลาสติกในทะเลประมาณ 50,000 ตัน หรือ 750 ล้านชิ้น โดยขยะทะเล จะส่งผลกระทบทั้งต่อการท่องเที่ยว ต่อการประมง/การเดินเรือ ต่อสุขภาพอนามัย ต่อสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศ รวมถึงส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของประเทศ ซึ่งนับว่าเป็นประเด็นสำคัญ เนื่องจากประเทศไทยได้ถูกจัดอันดับว่าเป็นประเทศที่มีขยะทะเลอันดับ 6 ของโลก (จากผลการสำรวจโดยทีมนักวิจัย มหาวิทยาลัยจอร์เจีย ปี 2558)

 

อย่างไรก็ตาม ปริมาณขยะมูลฝอยยังมีการนำกลับมาใช้ประโยชน์ค่อนข้างน้อย เฉลี่ยประมาณปีละ 0.5 ล้านตัน (ร้อยละ 25) ส่วนที่เหลือ 1.5 ล้านตัน (ร้อยละ 75) ส่วนใหญ่เป็นพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว (Single-use plastics) โดยไม่มีการนำกลับไปใช้ประโยชน์เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) แม้พลาสติกจะมีอายุยาวนานแต่มีอายุการใช้งานสั้นมากโดยถูกทิ้งเป็นขยะมูลฝอยในปริมาณและสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

 

 

 

 

อ้างอิง : กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง

https://www.dmcr.go.th/

https://ngthai.com/

ขอบคุณภาพ ocyco

ขอบคุณภาพ Green Road

 

Copyright @2021 – All Right Reserved.