รู้จัก Climatarian diet อาหารชนิดใหม่แห่งยุคสมัย กินเพื่อใส่ใจชะตากรรมโลก

Climatarian diet หรือ “อาหารสภาพภูมิอากาศ” เป็นอาหารที่เน้นการลดรอยเท้าคาร์บอน คำนี้ปรากฏขึ้นครั้งแรกในช่วงกลางปี 2010 ต่อมา The New York Times ได้รวมคำศัพท์ใหม่ที่เกี่ยวข้องกับอาหารในปี 2015 และนิยามมันให้ชัดขึ้นว่าเป็น “อาหารที่มีเป้าหมายหลักในการแก้ไขการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ”

อาหารที่เน้นสภาพภูมิอากาศไม่เกี่ยวข้องกับกฎเกณฑ์ที่เข้มงวดมาก แต่เน้นการใส่ใจในการผลิตอาหาร เช่น ที่มาของอาหาร และที่ที่อาหารไป หลักการหลักเน้นที่การกินในท้องถิ่น ลดการบริโภคเนื้อสัตว์หรือเลือกเนื้อสัตว์ที่มีผลกระทบต่ำ และกำจัดเศษอาหารหากเป็นไปได้

หากคุณคิดจะเป็นนักกินแบบ Climatarian diet แนวทางหลักๆ ก็เช่น กินอาหารที่ใช้ที่ดินอย่างมีประสิทธิภา เพราะการใช้ที่ดินเพื่อการเกษตรแบบอุตสาหกรรมจะปลดปล่อยก๊าซมีเทนและคาร์บอนเป็นจำนวนมาก นอกจากนั้นยังไม่กินเนื้อที่เลี้ยงแบบอุตสาหกรรม เพราะปล่อยมมีเทนมหาศาล เน้นกินพืชผลที่ทนแล้ง
และลดเศษอาหาร

กลุ่มนี้จริงจังกันมาก ในปี 2016 กลุ่มรณรงค์เรื่องสภาพภูมิอากาศของออสเตรเลีย Less Meat Less Heat ได้เปิดตัวแคมเปญคราวด์ฟันดิ้งเพื่อพัฒนาแอปที่จะช่วยให้ผู้บริโภคกินได้ง่ายขึ้นในแบบที่ใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อม แอปเปิดตัวในเดือน พ.ย. 2016 และมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนให้ผู้ใช้ลดปริมาณการปล่อยคาร์บอนจากอาหารให้เหลือคาร์บอนน้อยกว่า 80 กิโลกรัมต่อเดือน

ออสเตรเลียเป็นประเทศมีอุตสาหกรรมเนื้อวัวและเนื้อแกะมากอันดับต้นๆ ของโลก แต่กลุ่มเหล่านี้ชี้ว่า การบริโภคอาหารของพวกเขาจะเป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมน้อยลงหากหลีกเลี่ยงการกินเนื้อวัวและเนื้อแกะ

จากการศึกษาในปี 2014 พบว่า “เนื้อวัวใช้ดินมากกว่า 28 เท่า ใช้น้ำมากกว่า 11 เท่า และปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากกว่าการผลิตเนื้อหมู สัตว์ปีก ผลิตภัณฑ์จากนม หรือไข่ถึง 5 เท่า”

รายงานมีการคำนวณว่าคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของเนื้อวัวมีมากกว่าคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า 20,000 กรัมต่อกิโลกรัม ในขณะที่ปลามีคาร์บอนฟุตพริ้นท์เพียง 4,500 กรัม และเนื้อสัตว์ปีกประมาณ 4,000 กรัม ถั่วและผลไม้แห้งมีคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า 2,000 กรัมต่อกิโลกรัม ในขณะที่ผักและผลไม้ตามฤดูกาลใช้น้อยกว่า 1,000 กรัม

ข้อมูลจาก
• Moskin, Julia (15 December 2015). “‘Hangry’? Want a Slice of ‘Piecaken’? The Top New Food Words for 2015”. The New York Times.
• Eshel, G.; Shepon, A.; Makov, T.; Milo, R. (2014-07-21). “Land, irrigation water, greenhouse gas, and reactive nitrogen burdens of meat, eggs, and dairy production in the United States”. Proceedings of the National Academy of Sciences.
• “Climatarian: the “zero emissions” meal”. BCFN Foundation. 24 June 2016. Retrieved 6 February 2020.
ภาพ miikkahoo – https://www.flickr.com/photos/miikkah/2577964672/

Related posts

ประมงพื้นบ้านค้านร่างพ.ร.บ.การประมง เปิดช่องทำลายห่วงโซ่อาหาร

กรรมการชาติเห็นชอบร่างพรบ.โลกร้อน เดินหน้าสู่เศรษกิจคาร์บอนต่ำ

จัดเดิน-วิ่ง มินิมาราธอน ปีที่ 2 ส่งต่อขาเทียมช่วยผู้พิการยากไร้