ถึงเวลาต้องปฏิวัติเมือง ลดมลพิษจากการก่อสร้างต้นเหตุโลกร้อนที่คนมองข้าม

ธนาคาร Triodos ในเนเธอร์แลนด์ได้รับการออกแบบตามหลักการของธรรมชาติและชีวจำลอง

รู้หรือไม่ว่า การก่อสร้างเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ใหญ่ที่สุดของวิกฤตสภาพภูมิอากาศทั่วโลก โดยมีส่วนทำให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากกว่า 23% ของโลก อีกทั้งวัสดุก่อสร้าง และภาคการก่อสร้างยังมีส่วนในการบริโภคอุปโภคทรัพยากรทั่วโลกมากกว่า 30%

C40 Cities เป็นกลุ่มเมือง 97 แห่งทั่วโลกที่มุ่งเน้นการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และขับเคลื่อนการดำเนินการในเมืองเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และความเสี่ยงจากสภาพอากาศ เพื่อสุขภาพ ความเป็นอยู่ที่ดี และเศรษฐกิจที่รุ่งเรืองของชาวเมือง โดยหนึ่งในนั้นมีกรุงเทพมหานครร่วมอยู่ด้วย

เมืองในกลุ่ม C40 Cities พยายามผลักดันแนวทางใหม่ ๆ ในกาลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกผ่านการวางผังเมือง และการออกแบบอาคาร เพราะมีข้อมูลระบุว่า การปล่อยมลพิษจากอาคารและอุตสาหกรรมการก่อสร้างกำลังเพิ่มขึ้น และรายงานคาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้น 37% ภายในปี 2050 (พ.ศ. 2593)

เมือง C40 Cities ตระหนักดีว่า พวกเขาต้องจัดการกับอาคารเพื่อให้การปล่อยมลพิษทั่วทั้งระบบเป็นศูนย์หรือใกล้ศูนย์ในระยะยาว เมืองเหล่านี้หลายแห่งกำลังเห็นพลังงานสุทธิเป็นศูนย์และคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ในอาคารใหม่ หากทำได้เมืองต่าง ๆ จะสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 11%

เซซีล ฟาโรด์ ผู้จัดการโครงการก่อสร้างที่ปลอดมลพิษของ C40 Cities บอกว่า ถ้านักพัฒนาโครงการก่อสร้างกำจัดของเสียในขั้นตอนการออกแบบ พวกเขาจะสามารถลดการปล่อยก๊าซที่ทำให้โลกร้อนได้ 18% และการออกแบบที่ดีสามารถลดการปล่อยมลพิษที่เกี่ยวข้องกับอาคารได้ 44% ในช่วง 3 ทศวรรษข้างหน้า

แนวทางหนึ่งที่กำลังเกิดขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุโรปคือ การใช้เทคนิคแบบบิวท์อินสำหรับโครงการก่อสร้างใหม่ และการปรับปรุงอาคารที่มีอยู่เดิม ซึ่งสามารถลดการปล่อยมลพิษที่เกี่ยวข้องกับอุปกรณ์ก่อสร้างในไซต์งาน เพราะประมาณ 60% ของการปล่อยมลพิษจากการก่อสร้างมาจากการผลิตและการส่งมอบวัสดุ

พิธภัณฑ์ Munch ในเมือง Bjørvika กรุงออสโล สร้างขึ้นจากคอนกรีตและเหล็กกล้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและรีไซเคิลได้

ยุโรปกำลังเป็นผู้นำด้านนี้ เช่น การออกแบบ Triodos Bank ในเนเธอร์แลนด์โดยบริษัท EDGE, RAU Architects และ Ex Interiors ช่วยกันออกแบบอาคารที่จะปล่อยคาร์บอนน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ ซึ่งสิ่งสำคัญคือ จะต้องทำให้คอนกรีตเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้นเพราะมีคาร์บอนฟุตพรินต์ที่สูง และหันมาใช้ไม้มากขึ้น เช่นที่ Triodos Bank

ธนาคาร Triodos ใช้พลังงานเป็นกลาง คือ หลังคามีพลังงานแสงอาทิตย์ 505,000 kWh ต่อปีทำให้มีพลังงานเหลือไม่ต้องต่อกริด ประกอบด้วยวัสดุที่ยั่งยืน และโครงสร้างไม้ไฮบริดที่ถอดแยกได้ ซึ่งช่วยให้สามารถถอดแยกชิ้นส่วน และสร้างสำนักงานขึ้นใหม่ได้ในที่อื่นได้ อาคารแวดล้อมด้วยป่าขนาดย่อม แต่ความสูงของอาคารได้รับการปรับให้อยู่ต่ำกว่าแนวต้นไม้

รวมทั้งได้รับการออกแบบตามหลักการของธรรมชาติ และชีวจำลอง (Biomimicry คือ การเรียนรู้และเลียนแบบรูปแบบ กระบวนการ และระบบนิเวศของธรรมชาติ เพื่อสร้างการออกแบบที่ยั่งยืนมากขึ้น) และได้มีการพัฒนาแปลนผังแสงพิเศษขึ้นเพื่อป้องกันไม่ให้ค้างคาวสับสนจนบินมาชนอาคาร และเพื่อปกป้องสัตว์ต่าง ๆ ด้วย

แต่ในยุโรป กลุ่มสแกนดิเนเวียเป็นผู้นำในเรื่องนี้ ผู้นำเมืองของกรุงโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก; กรุงออสโล, ประเทศนอร์เวย์; และกรุงสตอกโฮล์ม ประเทศสวีเดน มุ่งมั่นที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และมลภาวะจากการก่อสร้างอาคาร โดยกำลังร่วมมือกับ Clean Construction Forum เพื่อสร้างตลาดใหม่ของโลกสำหรับการขนส่งและวัสดุก่อสร้างที่สะอาดขึ้น

Clean Construction Forum เป็นศูนย์กลางให้เมืองต่าง ๆ มารวมกันเพื่อรวมกำลังซื้อสำหรับผลิตภัณฑ์ที่ยั่งยืน ฟอรัมนี้เปิดตัวในออสโลในเดือนพฤษภาคม 2562 เป้าหมายของฟอรัมคือ การสนับสนุนเมืองที่ต้องการสร้างเมืองอย่างยั่งยืนทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ผู้ดำเนินการก่อสร้าง และชุมชนผู้อยู่อาศัย โดยงานนี้กรุงออสโลเป็นเจ้าภาพในการผลักดัน

มาร์ค วัตส์ กรรมการบริหารของ C40 Cities กล่าวในแถลงการณ์ว่า “นายกเทศมนตรีกรุงออสโล โคเปนเฮเกน และสตอกโฮล์มตระหนักดีว่าหากไม่มีการดำเนินการเร่งด่วนในการลดการปล่อยมลพิษที่เกิดขึ้นในการก่อสร้างอาคารและโครงสร้างพื้นฐานจะไม่มีโอกาสบรรลุข้อตกลงปารีส และป้องกันการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่รุนแรง”

มันเป็นความจำเป็นเร่งด่วนมาก เพราะรู้หรือไม่ว่า การก่อสร้างเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ใหญ่ที่สุดของวิกฤตสภาพภูมิอากาศทั่วโลก โดยมีส่วนทำให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากกว่า 23% ของโลก อีกทั้งวัสดุก่อสร้าง และภาคการก่อสร้างยังมีส่วนในการบริโภคอุปโภคทรัพยากรทั่วโลกมากกว่า 30%

ความต้องการอาคาร และโครงสร้างพื้นฐานจะทวีความรุนแรงมากขึ้นอีกแน่นอน ภายในปี 2568 เราจะต้องสร้างบ้านใหม่ 1,000 ล้านหลังทั่วโลก ประมาณ 60% ของอาคารที่จะสร้างในปี 2593 นั้นตอนนี้ยังไม่ได้สร้าง แต่ถ้าเริ่มเมื่อไหร่ หมายความว่าจะมีการสร้างเมืองขนาดเท่ากับสตอกโฮล์ม หรือมิลาน (1.5 ล้านคน) ต่อสัปดาห์จนถึงปี 2593 หรือเมืองขนาดเท่ากับสิงคโปร์ หรือนิวยอร์กทุกเดือนจนถึงปี 2593

ในตอนต่อ ๆ ไปเราจะมาดูตัวอย่างความล้ำของเมืองที่เป็นผู้ผลักดันฟอรัมการก่อสร้างปลอดมลพิษ ของ C40 Cities คือ กรุงออสโล โคเปนเฮเกน และสตอกโฮล์ม ว่าพวกเขามีทางออกให้กับโลกอย่างไรบ้าง?

ข้อมูลจาก
• “Three cities in Europe reflect C40 priorities to reduce emissions” www.usgbc.org
• “Clean Construction Forum” จาก www.c40.org
• “The bank with a new wooden spine” จาก www.triodos.co.uk
ภาพจาก: www.usgbc.org

Related posts

การเกษตรรักษ์โลก ‘แหนเป็ด’ ซูเปอร์ฟู้ดแห่งอนาคตโปรตีนสูง 45%

เป้าหมาย NDC ความมุ่งมั่นของไทย ก้าวย่างสู่ Net Zero และโลกยั่งยืน

ประโยชน์การเข้าร่วมเวที COP29 โอกาสเข้าถึงเงินช่วยเหลือของไทย