แม้ว่าหลายคนอาจจะไม่คุ้นกับคำว่า Circular economy มาก่อน แต่เชื่อได้ว่าในอีกไม่นาน คำ ๆ นี้จะเป็นที่พูดถึงกันในวงกว้าง เพราะบริษัทใหญ่ ๆ เริ่มหันมาใช้โมเดลนี้ในการประกอบธุรกิจที่ยั่งยืน
หน่วยงานภาครัฐบางประเทศได้กำหนดมาตรฐานสำหรับธุรกิจ Circular economy หรือเศรษฐกิจหมุนเวียนที่มีประสิทธิภาพ และองค์กรต่าง ๆ ในระดับสากลได้ตั้งแพลตฟอร์มขึ้นมาเพื่อส่งเสริมโมเดลนี้
Circular economy สำคัญอย่างไรในทางธุรกิจ? สิ่งสำคัญที่สุดคือภาคธุรกิจจะสามารถลดต้นทุนได้จากการจำกัดการใช้ทรัพยากรและพลังงานในการผลิต แล้วออกแบบผลิตภัณฑ์ที่มีอายุคงทน หรือมีดีไซน์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และยังอาจเพิ่มช่องทางธุรกิจในการสร้างวงจรชีวิตของผลิตภัณฑ์ขึ้นมาด้วยการทำธุรกิจการผลิต การนำมาใช้ใหม่ การทำใหม่ และการรีไซเคิล
ดังนั้นเศรษฐกิจหมุนเวียนจึงไม่ได้หมายถึงการบั่นทอนอุปสงค์ของผู้บริโภค และชะลอการแสวงหาผลกำไร แต่เป็นการมองหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ ในช่วงเวลาวิกฤต
วิกฤตที่กำลังจะเกิดขึ้นคือการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลกอย่างรวดเร็ว และจำนวนประชากรโลกที่จะเพิ่มขึ้นถึง 9,000 ล้านคนในปี 2030 ในขณะที่ทรัพยากรมีจำกัดลงไปเรื่อย ๆ
บริษัทที่มองการณ์ไกลเริ่มใช้ Circular economy เป็นโมเดลในการดำเนินธุรกิจอย่างจริงจัง เช่น DyeCoo บริษัทจากเนเธอร์แลนด์ ที่พัฒนากระบวนการย้อมผ้าที่ไม่ใช้น้ำเลย และสารเคมีที่ใช้ก็มีแต่น้ำยาย้อมผ้าเท่านั้น ถือเป็นความก้าวหน้าในการสร้างวงจรปิด (Closing loop) ของเศรษฐกิจหมุนเวียนอย่างมาก เพราะน้ำเป็นทรัพยากรที่เริ่มมีจำกัด และอุตสาหกรรมสิ่งทอมักก่อให้เกิดน้ำเสียในปริมาณมหาศาล
กระบวนการของ DyeCoo ก็คือใช้คาร์บอนไดออกไซด์ที่ถูกทำให้อยู่ในสถานะกึ่งแก๊สกึ่งของเหลว เพื่อละลายสีย้อมผ้าและช่วยนำสีย้อมให้ซึมลึกเข้าสู่เนื้อผ้า จากนั้นคาร์บอนไดออกไซด์จะระเหยไป แต่มันจะไม่หายไปในชั้นบรรยากาศ เพราะจะถูกนำกลับมาผ่านกระบวนการแปรสภาพให้เป็นกึ่งแก๊สกึ่งของเหลวเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่อีกครั้ง ทำให้เกิดการสร้างวงจร (loop) ด้านการผลิตที่สมบูรณ์แบบ
และที่สำคัญก็คือ ผ้าที่ผ่านการย้อมด้วยวิธีนี้ถึง 98% มีสีสันที่สดใสมากกว่าการใช้น้ำ เพราะไม่ต้องตากให้แห้ง และใช้เวลาเพียงครึ่งเดียว โดยรวมแล้ววิธีการนี้ช่วยประหยัดทั้งต้นทุนทางสิ่งแวดล้อม ต้นทุนด้านพลังงาน ต้นทุนการผลิต และเวลาในการผลิตอย่างมหาศาล
ตอนนี้บริษัทใหญ่ ๆ อย่าง Nike และ IKEA ได้เข้ามาเป็นหุ้นส่วนกับ DyeCoo โดยเฉพาะ IKEA เป็นผู้ร่วมก่อตั้ง PACE ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มในการกระตุ้นเศรษฐกิจหมุนเวียนจากความร่วมมือขององค์กรระดับโลกและภาคธุรกิจชั้นนำ
นวัตกรรมของบริษัทแห่งนี้อาจเป็นความหวังให้กับประเทศผู้ผลิตสิ่งทอชั้นนำของโลก ซึ่งหนึ่งในนั้นคือประเทศไทยที่ประสบกับปัญหามลภาวะทางน้ำและการปนเปื้อนของสารคเมีจาการย้อมผ้า
ในด้านพลังงาน มีธุรกิจที่น่าจับตาจากแคนาดาชื่อ Enerkem ซึ่งเปลี่ยนขยะรีไซเคิลให้กลายเป็นเมทานอล, เอทานอล และสารคมีที่หมุนเวียนกลับมาใช้ได้ จากนั้นนำไปใช้พลิตสารเคมีทุตยภูมิที่มีส่วนสำคัญในการผลิตข้าวของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน
นอกจากนี้ พวกเขายังเปลี่ยนขยะที่ย่อยสลายได้ยากให้กลายเป็นพลังงานขับเคลื่อนรถยนต์ โดยใช้ความร้อนต่ำและความกดดันสูง เปลี่ยนสภาพขยะที่ย่อยเป็นชิ้น ๆ แล้วให้กลายเป็นแก๊สสังเคราะห์ หรือ syngas ที่มีโมเลกุลของคาร์บอนมอนอกไซด์และไฮโดรเจน จากนั้นนำแก๊สไปผ่านกระบวนการทำให้บริสุทธิ์ขึ้น จนมีคุณสมบัติเหมือนกับก๊าซธรรมชาติ
กระบวนการแปรสภาพของ Enerkem ยังใช้พลังงานน้อย เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ถือเป็นการจำกัดการใช้พลังงานให้แคบลง (Narrowing loop) ที่สำคัญคือใช้เวลาเพียง 5 นาทีเท่านั้นก็เปลี่ยนแก๊สจากขยะให้กลายเป็น syngas เพื่อทำเป็นพลังงานชีวภาพและสารเคมีในการผลิตสินค้าต่าง ๆ
Enerkem มีหุ้นส่วนสำคัญคือเมืองต่าง ๆ ในแคนาดา ด้วยการเปลี่ยนขยะในเขตเทศบาลให้กลายเป็นสิ่งที่ใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่อีกครั้ง โดยเมืองได้กำจัดขยะที่ย่อยสลายได้ยาก ส่วนภาคธุรกิจก็ได้ผลกำไรจากการนำขยะมาแปรสภาพให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้นอย่างมาก
ปัจจุบัน Enerkem มีโรงงานอยู่ที่เมืองเอ็ดมอนตัน (Edmonton) ประเทศแคนาดา ซึ่งบริษัทช่วยให้เมืองนี้นำขยะกลับมาใช้ใหม่ได้ในสัดส่วนถึง 90% และประหยัดพื้นที่ของบ่อขยะได้ถึง 100,000 เมตริกตันต่อปี นอกจากนี้ ยังมีโครงการนำร่องในมณฑลควิเบก (Quebec) อีกด้วย ซึ่งถือเป็นการยกระดับ Circular economy จากระดับเทศบาลเมืองไปสู่ระดับภูมิภาค
สำหรับประเทศไทย เอสซีจี (SCG) ถือเป็นผู้นำในการผลักดันเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular economy) ให้มีบทบาทสำคัญในการเป็นโมเดลธุรกิจที่ก่อเกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยเอสซีจี ตระหนักถึงความสำคัญของแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน ในฐานะกุญแจสำคัญสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนทั้งในมิติด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม
เอสซีจีจึงผลักดันให้แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนเกิดขึ้นในภาคธุรกิจ และร่วมจุดประกายให้เห็นความสำคัญของแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน ภายใต้แนวปฏิบัติ SCG Circular Way หมุนเวียนกลับมาใช้ให้คุ้มค่า เพื่อช่วยผลักดันประเทศไทยและอาเซียนให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของโลก (Sustainable Development Goals : SDGs)
เอสซีจี ได้แต่งตั้งคณะกรรมการเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy Committee) เพื่อกำหนดกลยุทธ์ และนโยบาย ตลอดจนติดตามเรื่อง Circular Economy ในระดับสากลแล้วนำมาปรับใช้ในการสร้างความร่วมมือระดับท้องถิ่น และสร้างเครือข่ายระดับประเทศ
รวมถึงพัฒนาสินค้าและบริการตามแนวทาง Circular Economy ด้วยการใช้นวัตกรรม และส่งเสริมให้พนักงานและคู่ธุรกิจนำไปปรับใช้ ภายใต้แนวปฏิบัติ Circular Way ด้วยการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุดตั้งแต่การผลิต การใช้ และวนกลับเข้าสู่กระบวนการผลิตเป็นวัตถุดิบใหม่ โดยขับเคลื่อนผ่าน 3 แนวทาง ได้แก่
- ลดการใช้ทรัพยากรในกระบวนการผลิต (Reduced material use และ Durability) เช่น Green Carton ลดการใช้วัตถุดิบลงร้อยละ 25 แต่ยังคงความแข็งแรงเท่าเดิม
- พัฒนานวัตกรรมเพื่อทดแทนสินค้าหรือวัตถุดิบชนิดเดิมด้วยสินค้าหรือวัตถุดิบชนิดใหม่ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น (Upgrade และ Replace) เช่น ปูนโครงสร้าง SCG สูตร Hybrid ใช้วัตถุดิบที่มีคุณสมบัติพิเศษกว่าปูนทั่วไป ทำให้โครงสร้างแข็งแรงทนทานเพิ่มขึ้น
- เพิ่มความสามารถในการหมุนเวียนสินค้าที่ใช้แล้วกลับมาใช้ใหม่ (Reuse และ Recycle) เช่น CIERRA™ Functional Materials สารพิเศษช่วยปรับคุณสมบัติพลาสติกให้สามารถใช้วัสดุชนิดเดียว แต่มีคุณสมบัติหลากหลาย ที่ทดแทนการใช้วัสดุหลายชนิด ทำให้รีไซเคิลได้สมบูรณ์มากขึ้น
อย่างไรก็ตาม เอสซีจีเพียงองค์กรเดียว คงไม่สามารถสร้างให้เกิดผลสำเร็จในวงกว้างได้ เอสซีจีจึงให้ความสำคัญกับการสร้างความร่วมมือกับทุกภาคส่วน เพื่อร่วมกันผลักดันและสนับสนุนให้ไทยและประเทศในอาเซียน บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของโลกได้อีกด้วย
อ้างอิง
“These 11 companies are leading the way to a circular economy”. www.weforum.org/agenda/2019/02/companies-leading-way-to-circular-economy/. Retrieved 2019-07-28.
“CO2 Dyeing”. http://www.dyecoo.com/co2-dyeing/. Retrieved 2019-07-28.
“Enerkem makes transportation fuels and chemicals from garbage instead of petroleum”. www.enerkem.com/about-us/technology/. Retrieved 2019-07-28.
“Members”. Platform for Accelerating the Circular Economy. Retrieved 2019-03-12.
“SCG Circular Way หมุนเวียนกลับมาใช้ให้คุ้มค่า”. www.scg.com/sustainability/circular-economy/home. Retrieved 2019-07-28.