ในหนึ่งวันๆ หนึ่งโลกของเราผลิตขยะถึง 2,120 ล้านตันในแต่ละปี และ 99% ของสินค้าที่เราซื้อมาจะกลายเป็นขยะในเวลาแค่ 6 เดือน เท่ากับว่าเรากำลังทำให้โลกกลายเป็นหลุมขยะมหึมาด้วยการซื้อและซื้อ เหมือนกับเรากำลังอยู่ในบ้านที่ประดับประดาไปด้วยกองขยะ เป็นสภาพที่บ่อนทำลายทั้งสิ่งแวดล้อมของโลก และสวัสดิภาพชีวิตที่ดีของมนุษย์
การใช้ทรัพยากรของโลกเรามีลักษณะเป็นเส้นตรง หรือ Linear Economy สิ่งของชิ้นหนึ่งใช้ทรัพยากรแบบเลยตามเลย จากนั้นขายขาด แล้วใช้ครั้งเดียวจบ เมื่อหมดสภาพก็ทิ้งไปแบบไร้ประโยชน์ เหมือนซากศพที่หมดค่าเมื่อหมดลมหายใจ
Linear Economy สร้างความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม เพราะทรัพยากรถูกใช้จนหมดแล้วหมดเลย ส่วนซากจากการใช้ก็ไร้ประโยชน์ จนกองสะสมปริมาณหลายแสนล้านตัน เป็นการฆ่าโลกของเราให้ตายไปทีละน้อย
เมื่อทรัพยากรหมดไป เศรษฐกิจก็ไม่สามารถเติบโตได้ Linear Economy จึงเป็นการมุ่งไปสู่จุดจบแบบเส้นตรง โดยเห็นอนาคตอย่างชัดเจนแล้วว่า สักวันทรัพยากรจะต้องหมดไป และนี่คือวิธีคิดแบบเศรษฐศาสตร์กระแสหลักที่มองว่าอุปสงค์และอุปทานตั้งอยู่บนทรัพยากรที่มีวันใช้ได้หมด
แน่นอนว่าหลักการนี้เป็นสัจพจน์ (หรือความจริงที่ไม่อาจเปลี่ยนแปลงได้) แต่เราสามารถยืดปริมาณทรัพยากรออกไปราวกับไม่มีที่สิ้นสุด พร้อมๆ กับพยุงอุปสงค์และอุปทานให้เกิดสมดุล นี่คือหลักการพื้นฐานของ เศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy
Circularity แปลว่า วงกลมที่เป็นวงสมบูรณ์ ระบบเศรษฐกิจแบบ Circularity จึงหมายถึงการโคจรกลับไปเป็นวงกลมอย่างสมบูรณ์แบบนับตั้งแต่การผลิต การใช้ และการนำไปทำลายเพื่อก่อกำเนิดใหม่อีกครั้งเป็นวงจรไม่มีที่สิ้นสุด และสามารถหยุดจุดจบของโลกเอาไว้ได้
Circularity จึงเหมือนกับนฟีนิกส์ ที่ไม่มีวันตาย แต่ถือกำเนิดจากกองไฟที่เผาไหม้มันเอง และเติบใหญ่ จากนั้นทำลายตัวมันเองอีกครั้งเพื่อเกิดใหม่อย่างมีคุณค่าอีก
โครงสร้างคร่าว ๆ ของโมเดลเศรษฐกิจแบบ Circular economy ก็คือ การผลิต (Make) การใช้ (Use) การใช้ใหม่ (Reuse) การทำใหม่ (Remake) การรีไซเคิล (Recycle) เพื่อนำกลับมาทำใหม่ (Make) แล้ววนกันเป็นลูปอยู่แบบนี้
นี่คือโครงสร้างคร่าว ๆ แต่กว่ามาถึงโครงสร้างที่รัดกุมแบบนี้ แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนมีเส้นทางและวิวัฒนาการที่ยาวนาน
ผู้ที่ริเริ่มแนวคิดนี้คนแรกๆ คือ เคเนธ บอลดิง (Kenneth Boulding) นักเศรษฐศาสตร์ชาวอเมริกัน ที่เสนอแนวคิดนี้เอาไว้เมื่อปี 1966 ในบทความเรื่อง “The Economics of the Coming Spaceship Earth” โดยเขาใช้คำว่า เศรษฐกิจระบบเปิด (open economy) ไม่ได้เอ่ยถึงคำว่าเศรษฐกิจหมุนเวียน แต่แนวคิดที่นำเสนอถือเป็นรากฐานของแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนครั้งแรก (1)
บอลดิง เสนอว่าระบบเศรษฐกิจของโลกเรามีลักษณะเป็น เศรษฐมณฑล (econosphere) คล้ายกับระบบนิเวเศที่ขับเคลื่อนด้วยการป้อนทรัพยากร (Input) และผลิตทรัพยากรเป็นสินค้า (Output) แต่ไม่จำเป็นที่ Input และ Output จะจบลงในม้วนเดียวแบบเส้นตรงเหมือนในระบบอุตสาหกรรม เศรษฐมณฑลสามารถหมุนเวียน Input และ Output อย่างต่อเนื่องได้
นี่คือระบบที่เปิด ไม่ใช่การปิด หรือการจนมุมที่ผลิตสินค้าและบริการเพื่อใช้ครั้งเดียว เพราะในอนาคตเศรษฐกิจของโลกเราจะมีทรัพยากรจำกัดไม่สามารถหาจากที่ไหนได้อีกแล้ว เหมือนกับเราติดอยู่ในยานอวกาศที่ต้องใช้ทรัพยากรหมุนเวียนไปเรื่อยๆ บอลดิงจึงเรียกอนาคตแบบนี้ เศรษฐกิจมนุษย์อวกาศ (spaceman economy) (2)
หลังจากนั้นแนวคิดเศรษฐกิจแบบเปิดและการจัดการทรัพยากรแบบหมุนเวียนได้รับการต่อยอดมาโดยตลอดจากทศวรรษที่ 70 โดยในปี 1976 มีรายงานนำเสนอโดย วัลเทอร์ อาร์. สตาเฮล (Walter R. Stahel) ต่อคณะกรรมาธิการยุโรปเกี่ยวกับโมเดลเศรษฐกิจแบบหมุนเวียน (economy in loops) โมเดลนี้วางรากฐานการผสานกลมเกลียวระหวางระบบนิเวศ เศรษฐกิจ และสังคม
ในปี 1981 สตาเฮล ซึ่งเป็นบิดาแห่งความยั่งยืนทางอุตสาหกรรม ยังเสนอแนวคิดเรื่อง The Product-Life Factor นั่นคือการเน้นขายคุณประโยชน์ แทนที่จะเน้นขายผลิตภัณฑ์ เพื่อที่จะผลักดันเศรษฐกิจแบบ loops เพราะการขายคุณประโยชน์จะสร้างผลกำไรที่ยั่งยืน โดยปราศจากต้นทุนความเสี่ยงและต้นทุนจากของเหลือทิ้ง (3)
ในช่วงปลายทศวรรษที่ 80 นักเศรษฐศาสตร์มีการพูดถึงโมเดลแบบครรภ์มารดาสู่เชิงตะกอน (Cradle to Grave) นั่นคือการนำของเหลือใช้กลับมาใช้อีก แต่แนวคิดนี้ถูกสตาเฮลวิจารณ์ว่ายังเป็นโมเดลเศรษฐกิจแบบเส้นตรงที่เหลือของทิ้งจากระบบอยู่ และควรจะเป็นโมเดลที่เรียกว่าจากครรภ์มารดาหวนคืนสู่ครรภ์มารดา (Cradle to Cradle) เพื่อทำให้เกิดวงจรที่สมบูรณ์แบบ (3)
สำหรับนิยามที่ดีที่สุดของโมเดลของ Circular Economy ที่มีอยู่ในปัจจุบัน คือนิยามที่ให้ไว้โดย มาร์ติน ไกส์เดอร์เฟอร์ แห่งมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์และคณะ ที่ระบุว่า มีเป้าหมายเพื่อลดการป้อนทรัพยากรและลดการรั่วไหลของของเสียและการปล่อยมลพิษออกจากระบบขององค์กร วิธีการคือ ต้องทำการจัดการห่วงโซ่อุปสงค์เศรษฐกิจหมุนเวียน (CSCM) และการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SD) ซึ่งมีเป้าหมายคือ
- การปฏิบัติการที่มีประสิทธิภาพและสมรรถภาพ
- สร้างความได้เปรียบด้านการแข่งขัน
- ลด Input ด้านวัตถุดิบและพลังงาน
- ลดการทิ้งของเสียและก๊าซมลภาวะ
- มีประสิทธิภาพด้านสังคม คือการจ้างงานที่มั่นคงและการพัฒนาอาชีพและศักยภาพบุคคล
- มีประสิทธิภาพด้านสิ่งแวดล้อม เช่นการใช้ที่ดินอย่างมีคุณค่า ลดมลภาวะ และรักษาความหลากหลายทางชีวภาพ
- มีประสิทธิภาพด้านเศรษฐกิจ คือมีโครงสร้างองค์กรที่แข้งแกร่ง มีอิสระทางการเงิน (4)
การจะบรรลุเป้าหมายต้องสร้างวงจรหมุนเวียนขึ้นมา คือ
- จัดระเบียบกลไกขององค์กร
- ประสานงานกลไกขององค์กร
- การปิดวงจร (closing loop) คือการปิดช่องวงกลม คือการสร้างวงจรหมุนเวียนก่อนเป็นอันดับแรก
- การชะลอการใช้ทรัพยากร (slowing loop)
- การลดการใช้ทรัพยากรให้แคบลง (narrowing loop)
- การสร้างมูลค่าเพิ่มทางการเงินและที่มิใช่การเงิน
- บริหารผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต่างๆ ในเชิงรุก
- มีเป้าหมายในระยะยาว (4)
ดังนั้น เศรษฐกิจหมุนเวียนจึงไม่ใช่การเปลี่ยนกรอบวิธีในการแสวงหากำไรในทางธุรกิจ แต่เป็นการแสวงหาศักยภาพทางธุรกิจแบบใหม่ที่ยั่งยืนในทุก ๆ ด้าน
เศรษฐกิจหมุนเวียนถูกหยิบยกขึ้นมาผลักดันให้เป็นรูปเป็นร่างอีกในปี 2012 เป็นครั้งแรกที่มีการพูดถึงประโยชน์ที่เป็นรูปธรรมต่อเศรษฐกิจและธุรกิจโดยอยู่ในรายงานชื่อ Towards the Circular Economy ที่ระบุว่า หากสหภาพยุโรปใช้โมเดลธุรกิจเชิงฟื้นคืนหมุนเวียนแทนที่จะเป็นโมเดลวิวัฒนาการแบบเส้นตรง จะก่อประโยชน์อย่างมีนัยสำคัญไปทั่วภูมิภาค เฉพาะแค่ภาคการผลิตรายย่อยของสหภาพยุโรปจะสามารถประหยัดต้นทุนวัสดุสุทธิมูลค่าสูงถึง 630 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี ภายในปี 2025 ช่วยกระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจในด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ การผลิตซ้ำ และการซ่อมแซม (5)
ในที่สุด ในปี 2018 โดยความร่วมมือขององค์กรระหว่างประเทศนำโดย WEF และ UNEP เป็นต้น รวม 40 องค์กร ได้ร่วมกันจัดตั้ง Platform for Accelerating the Circular Economy (PACE) ซึ่งเป็นแพล็ตฟอร์มในการกระตุ้นเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยมีจุดประสงค์ 3 อย่างคือ
- เพื่อผลักด้านแนวทางนี้ในประเทศกำลังพัฒนาและในตลาดเกิดใหม่ เน้นที่การสร้างโมเดลการเงินที่ผสมผสานการลงทุนเพื่อผลกำไรและการทำเพื่อสังคมไปพร้อมกันๆ หรือ Blended finance
- เพื่อวางกรอบนโยบายแก้ไขอุปสรรคที่เกี่ยวข้องกับการผลักดันเศรษฐกิจหมุนเวียน
- ส่งเสริมหุ้นส่วนภาครัฐ-เอกชน (PPP) ในระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน เพื่อสร้างแรงกระเพื่อม (6)
ข้อถกเถียงเกี่ยวกับ Circular economy ก็คือ ในขณะที่โมเดลนี้ช่วยให้โลกของเราพัฒนาอย่างยั่งยืน ช่วยพยุงอุปสงค์และอุปทานให้เกิดสมดุล แต่ความต้องการของมนุษย์มีไม่จำกัด แม้จะพยายามจำกัดการทำลายทรัพยากรและหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่
เราจึงรับประกันได้ยากว่า มนุษยชาติจะสามารถควบคุมความต้องการของตัวเองไว้ในวงเวียนที่สมบูรณ์แบบนี้่ได้ ความต้องการของมนุษยชาตินั้นมักดำเนินไปแบบเส้นตรง และบางครั้งพุ่งทะยานอย่างรุนแรง แรงผลักดันแบบ Linear Economy นี้ คือสิ่งที่สร้างความก้าวหน้าให้กับมนุษยชาติมา แล้วเราจะยอมรับการเดินในวงกลมแบบ Circular economy ได้มากแค่ไหน?
คำตอบนี้ขึ้นอยู่กับวิจารณญาณของมนุษยชาติว่าจะพาตัวเองเดินไปบนเศรษฐกิจเส้นตรง ที่มีจุดจบที่การแย่งชิงทรัพยากร และหายนะจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศโลกหรือไม่ หากมนุษยชาติเลือกสิ่งนี้ ในไม่ช้าก็เร็วเราจะถูกบีบให้เลือกว่าจะมีผู้ชนะเพียงหนึ่งเดียวในสงครามเศรษฐกิจแบบเส้นตรง หรือเลือกจะใช้โมเดลเศรษฐกิจหมุนเวียนที่ไม่มีใครแพ้เลยสักคนเดียว
อ้างอิง
- Allwood, Julian M. (2014). Squaring the Circular Economy. Handbook of Recycling. pp. 445–477. doi:10.1016/b978-0-12-396459-5.00030-1. ISBN 9780123964595.
- Boulding, Kenneth E. (March 8, 1966). “The Economics of the Coming Spaceship Earth” (PDF). In H. Jarrett (ed.) Environmental Quality in a Growing Economy, Resources for the Future, Johns Hopkins University Press, Baltimore, MD, pp. 3-14. Retrieved 2019-07-27
- “Cradle to Cradle | The Product-Life Institute”. Product-life.org. 2012-11-14. Retrieved 2019-07-27.
- Geissdoerfer, Martin; Morioka, Sandra Naomi; de Carvalho, Marly Monteiro; Evans, Steve (April 2018). “Business models and supply chains for the circular economy”. Journal of Cleaner Production. 190: 712–721. doi:10.1016/j.jclepro.2018.04.159. ISSN 0959-6526.
- Towards the Circular Economy: an economic and business rationale for an accelerated transition. Ellen MacArthur Foundation. 2012. p. 60. Archived from the original on 2013-01-10. Retrieved 2019-07-27
- “The Platform for Accelerating the Circular Economy (PACE)”. Sitra. Retrieved 2019-03-12.