จบอะไรมาก็ต่อโทวิศวะได้ จุฬาฯ เปิดสอนหลักสูตรใหม่ ‘นวัตวิศวกรรมเพื่อความยั่งยืน’

คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แถลงเปิดตัวหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขานวัตวิศวกรรมเพื่อความยั่งยืน  (Innovative Engineering for Sustainability ; IES) เมื่อเร็ว ๆ นี้ ถือเป็นหลักสูตรใหม่ของคณะที่จะเปิดทำการเรียนการสอนในปีการศึกษา 2565 นี้

หลักสูตรนี้มีความพิเศษแตกต่างจากหลักสูตรอื่นของคณะวิศวะ จุฬาฯ คือ เปิดกว้างสำหรับผู้สำเร็จการศึกษาจากทุกหลักสูตรที่มีความสนใจในด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยผู้ที่สำเร็จจากหลักสูตรนี้สามารถนำไปประยุกต์ใช้สำหรับการพัฒนาที่ยั่งยืนได้อย่างครบถ้วน

มีวิชาหลัก คือ วิชาแนวโน้ม เทคโนโลยี และนวัตกรรมด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental Trends, Technology and Innovation) และวิชาการจัดการสิ่งแวดล้อมแบบมีส่วนร่วมขององค์กร (Co-operate Environmental Management) ที่ทำให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ถึงการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม การจัดการที่ส่งผลให้เกิดความยั่งยืน แนวโน้มด้านสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนที่เกิดขึ้นในระดับประเทศและระดับโลก

รศ.ดร.เสวกชัย ตั้งอร่ามวงศ์ ผู้ช่วยคณบดี คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในในฐานะรักษาการประธานหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขานวัตวิศวกรรมเพื่อความยั่งยืน กล่าวว่า หลักสูตร IES จะประกอบด้วย 3 แผนการเรียน ได้แก่ แผน ก แบบ ก1 และ แบบ ก2 ที่มีการทำงานวิจัยเป็น “วิทยานิพนธ์ (Thesis)” โดยมุ่งเน้นทักษะการทำวิจัยเต็มรูป และแผน ข ที่มีการทำงานวิจัยเป็น “สารนิพนธ์ (Independent study)” ซึ่งแรกเริ่มหลักสูตร IES นี้จะเน้นการเรียนการสอนแบบแผน ข

นอกจากนี้ หลักสูตรยังมีความยืดหยุ่นในการเลือกเรียนรายวิชาให้ตรงกับความต้องการของผู้เรียน โดยมีรูปแบบการเรียนการสอนแบบผสมผสาน ทั้งรูปแบบออนไลน์ การเรียนการสอนในห้องเรียน และกิจกรรมที่ส่งเสริมให้เกิดการลงมือปฏิบัติจริง อีกทั้งมีการเรียนการสอนแบบนอกเวลาทำการในช่วงเย็น และวันเสาร์หรืออาทิตย์ ทำให้ผู้ที่ทำงานประจำสามารถเรียนควบคู่ไปได้

ศ.ดร.สุพจน์ เตชวรสินสกุล คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวถึงการผลักดันหลักสูตร IES ของคณะว่าต้องการให้เป็นหลักสูตรที่มีความยืดหยุ่นในการเลือกเรียนรายวิชาให้ตรงกับความต้องการของผู้เรียน จนสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริงอย่างเป็นรูปธรรม อีกทั้งยังตั้งเป้าหมายให้หลักสูตร IES เป็นหลักสูตรนำร่องในการสร้างแพลตฟอร์ม PIES ที่จะรวบรวมองค์ความรู้ทางวิชาการและเครือข่ายจากหลายภาคส่วนที่จะช่วยสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศ

Related posts

‘เฉลิมชัย’ นำทีมไทยถก COP29 นำเสนอ 5 ประเด็นลดก๊าซ 222 ล้านตัน

ค่าฝุ่นปากีสถานทะลุ 1,900 รั้งอันดับโลก อ้างพัดข้ามพรมแดนจากอินเดีย

โลกจมกองพลาสติก ต้องเปลี่ยนวิธีผลิต ลดการบริโภค กำจัดอย่างยั่งยืน