เมื่ออุณหภูมิทะเลอุ่นขึ้นปูหิมะอะแลสกาลดฮวบ 90%และอาจจะหายไปตลอดกาล

ปูหิมะ (Chionoecetes) เป็นปูที่นิยมกินกันมากทั้งในอเมริกา ญี่ปุ่น และนิยมในหมู่คนไทยด้วย เพราะขนาดตัวและขาที่มีขนาดใหญ่ทำให้มีเนื้อที่เยอะและแน่น

การจับปูหิมะทำได้ไกลถึงเหนือสุดของมหาสมุทรอาร์กติก ตั้งแต่นิวฟันด์แลนด์ถึงกรีนแลนด์ และทางตอนเหนือของนอร์เวย์ในมหาสมุทรแอตแลนติก และทั่วทั้งมหาสมุทรแปซิฟิก รวมถึงทะเลญี่ปุ่น ทะเลแบริ่ง อ่าวอะแลสกา

ปูหิมะจากอะแลสกา (Chionoecetes bairdi) มีชื่อเสียงมาก แต่ NPR รายงานว่าตอนนี้ประชากรปูหิมะในทะเลแบริ่งลดลง และมันเกิดขึ้นอย่างปัจจุบันทันด่วน เพราะทะเลแบริ่งในฤดูหนาวมีสภาพร้อนจัดน้ำแข็งถดถอยหายไปจากพื้นที่อย่างมาก

อุณหภูมิเพิ่มขึ้นสูงมากในช่วงฤดูร้อนปี 2018 และ 2019 และฤดูร้อนที่แล้ว นักวิทยาศาสตร์ของรัฐบาลสหรัฐได้ทำการสำรวจประจำปี และพวกเขาก็ต้องตะลึงกับสิ่งที่พบเพราะมากกว่า 99% ของปูตัวเมียรุ่นเยาว์หายไปหมด

พวกเขาเคยพบพวกมันเมื่อ 2 ปีก่อน แต่จู่ ๆ ก็หายไป และโดยรวมแล้วประชากรปูทุกขนาดและทุกวัยมีจำนวนลดลง ล่าสุดปูได้ลดปริมาณลงเกือบ 90% ในปีนี้เหลือเพียง 2.54 ล้านกิโลกรัม

การทำประมงปูหิมะในทะเลแบริ่งเพิ่มในปี 1961 และในไม่ช้าก็กลายเป็นการประมงที่สำคัญในแปซิฟิกเหนือ โดยเคยมีสถิติการจับปูหิมะสูงถึง 3,151 ล้านกิโลกรัม

สาเหตุเกิดจากอะไร? ปูหิมะชอบน้ำที่เย็นมาก ๆ ในทะเลแบริ่ง แต่ในระยะหลังทะเลเริ่มอุ่นขึ้น เมื่ออุ่นขึ้น ศัตรูของปูหิมะที่ชอบกินพวกมัน เช่น ปลาค็อดแปซิฟิกที่ไม่ชอบน้ำเย็นก็รุกเข้าในทะเลแบริ่งได้ และกินปูไปมากมายมหาศาล

อีกความเป็นไปได้คือ เกิดโรคในหมู่ปูหิมะมากขึ้นเมื่ออุณหภูมิของน้ำสูงขึ้น หรือปูอาจจะอพยพไปเพราะสภาพที่อยู่อาศัยไม่เหมาะสมอีก ทำให้พื้นที่ที่เคยพบปูดี ๆ หนีขึ้นไปตอนเหนือของอาร์กติกมากขึ้นเรื่อย ๆ

เมืองประมงในอะแลสกาได้รับผลกระทบอย่างหนัก เช่น เมืองเซนต์พอล Anchorage Daily News สื่อในอะแลสกา รายงานว่าเจ้าหน้าที่ของเมืองประเมินว่าการเก็บเกี่ยวปูหิมะลดลง ประกอบกับการยกเลิกการล่าปูจักรพรรดิในปี 2021 จะส่งผลให้รายรับภาษีสูญเสียไป 3.25 ล้านดอลลาร์ จำนวนเงินนั้นเท่ากับเกือบครึ่งหนึ่งของงบประมาณปีนี้

สื่อในอะแลสกายังอ้างรายงานการวิจัยสภาพภูมิอากาศของริก ธอแมน (Rick Thoman) จากมหาวิทยาลัยอะแลสกาแห่งแฟร์แบงก์ที่ระบุว่า สถิติน้ำแข็งในทะเลแบริ่งต่ำในปี 2018 มีผลกระทบในระดับภูมิภาคอย่างลึกซึ้ง

“ตามแบบจำลองสภาพภูมิอากาศ ภาวะโลกร้อนที่มนุษย์สร้างขึ้นนั้นมีส่วนสนับสนุนอย่างยิ่งยวด และระดับ (น้ำแข็ง) ที่ต่ำเช่นนี้จะเป็นเรื่องปกติภายในปี 2040” นั่นหมายความว่า ปูหิมะอาจจะหมดไปจากพื้นที่นี้ไปเลย

แน่นอนว่า อีกส่วนหนึ่งมาจากการประมงอย่างบ้าคลั่งด้วย หลังจากเคยจับได้เป็นหลักร้อยล้านกิโลกรัม เนื่องจากการเก็บเกี่ยวจำนวนมากทำให้จำนวนลดลงอย่างรวดเร็ว โดยมีเพียง 540,000 กิโลกรัมในปี 1984

ในช่วงกลางทศวรรษ 2000 ได้มีการเริ่ม “โครงการปันส่วนปู” โดยแบ่งโควตาการประมงรายบุคคลโดยพิจารณาจากการจับครั้งก่อนของเรือประมงปูแต่ละลำ เพื่อแก้ไขจำนวนปูที่ลดลงมาก แต่ตอนนี้อาจจะสายไป เพราะมันมีปัญหาอื่นเข้ามาแทรกแล้วคือภาวะโลกร้อนนั่นเอง

ข้อมูลจาก
• “Snow crabs in the Bering Sea have been hard to find — partially due to climate change”. (April 10, 2022). NPR.
• Hal Bernton (April 10, 2022) “Into the ice: Snow crab decline hits Bering Sea island community of St. Paul”. Seattle Times /Anchorage Daily News.
• Wikipedia contributors. “Chionoecetes bairdi.” Wikipedia, The Free Encyclopedia. Wikipedia, The Free Encyclopedia, 8 Mar. 2022. Web. 11 Apr. 2022.

Related posts

กรรมการชาติเห็นชอบร่างพรบ.โลกร้อน เดินหน้าสู่เศรษกิจคาร์บอนต่ำ

ฝุ่น PM2.5 พุ่ง ‘หอฟอกอากาศระดับเมือง’ คืนชีวิตให้คนกรุง อย่างไร

5 ปีอุณภูมิโลกส่อทะลุ 1.5 องศา ไทยเร่งรับมือ 6 สาขาเสี่ยงระดับพื้นที่