สถานที่เก็บรักษา “มัมมี่ชินโชร์โร” แหล่งมรดกโลกที่เป็นอารยธรรมโบราณในชิลีและเปรูกำลังถูกสั่นคลอนจากภาวะโลกร้อนอย่างรุนแรง เพราะทะเลทรายอาตากามาแหล่งเก็บรักษามัมมี่เก่าแก่ที่สุดในโลกกำลังเผชิญสถานการณ์น้ำท่วมหนักและส่งผลให้มัมมี่ที่ล้ำค่าพังพินาศ
ทะเลทรายอาตากามาเป็นทะเลทรายที่แห้งแล้งที่สุดในโลก ที่จริงมันคือจุดที่แห้งที่สุดในโลก และบางที่เกือบจะไม่มีฝนตกเลย โดยรวมแล้วมีปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยประมาณ 15 มม.ต่อปี บางพื้นที่จะได้รับฝนแค่ 1 ถึง 3 มม. ในหนึ่งปี แต่สถานีตรวจอากาศบางแห่งไม่เคยเจอฝนเลยด้วยซ้ำ
ทะเลทรายอาตากามายังอาจเป็นทะเลทรายที่เก่าแก่ที่สุดในโลกด้วย และยังประสบกับสภาวะแห้งแล้งอย่างรุนแรงเป็นเวลาอย่างน้อย 3 ล้านปี ทำให้เป็นภูมิภาคที่แห้งแล้งอย่างต่อเนื่องที่เก่าแก่ที่สุดในโลกอยู่ในสภาพแห้งแล้งมากจนภูเขาหลายแห่งที่สูงกว่า 6,000 ม. ถึงกับปราศจากธารน้ำแข็งโดยสิ้นเชิง
ความแห้งแล้งขนาดนี้ไม่ได้ไร้ประโยชน์ เพราะสถานที่แห่งนี้เป็นที่เก็บรักษา “มัมมี่ชินโชร์โร (Chinchorro mummies) เป็นซากมัมมี่จากวัฒนธรรมชินโชร์โร (Chinchorro culture) อารยธรรมโบราณในแถบชิลีและเปรู พวกเขาคือผู้ที่สร้างมัมมี่ที่เก่าแก่ที่สุดในโลก ไม่ใช่ชาวอียิปต์อย่างที่บางคนเข้าใจ
มัมมี่ที่ทำโดยมนุษย์ในอารยธรรรมนี้บางชิ้นมีอายุประมาณ 5,050 ปีก่อนคริสตศักราช ส่วนมัมมี่ธรรมชาติ (ที่เกิดจากความแห้งแล้ง) เท่าที่พบกันมามีอายุถึง 7,020 ปีก่อนคริสตศักราช ส่วนมัมมี่อียิปต์ที่เก่าที่สุดมีอายุ 3,000 ปีก่อนคริสตศักราช
ในขณะที่หลายวัฒนธรรมทั่วโลกพยายามที่จะมุ่งเน้นไปที่การรักษาศพของชนชั้นนำที่ตายไปแล้ว ชาวชินโชร์โรทำมัมมี่กับสมาชิกทุกคนในสังคมของพวกเขา ทำให้มัมมี่เหล่านี้มีความสำคัญทางโบราณคดี ในซากมัมมี่ที่ขุดพบ นักโบราณคดีพบผิวหนัง เนื้อเยื่อและอวัยวะที่อ่อนนุ่มทั้งหมด รวมทั้งสมองถูกนำออกจากศพ
หลังจากที่เอาเนื้อเยื่ออ่อนออกแล้ว จะทำการเสริมความแข็งแรงให้กระดูก ขณะที่ผิวหนังเปล่า ๆ ถูกยัดไส้ด้วยพืชผักก่อนที่จะประกอบร่างขึ้นใหม่ จากนั้นมัมมี่จะถูกปกคลุมด้วยดินเหนียวแห้ง และปิดใบหน้ากากดินเหนียวอีกชั้นหนึ่ง จากนั้นห่อร่างด้วยต้นกก ทิ้งไว้ให้แห้งเป็นเวลา 30 ถึง 40 วัน
จากมัมมี่ชินโชร์โร 282 ศพที่พบจนถึงตอนนี้ 29% ของมัมมี่เป็นผลจากกระบวนการทำมัมมี่ตามธรรมชาติ (อายุ 7,020 -1,300 ปีก่อนคริสตศักราช) ในภาคเหนือของชิลี สภาพแวดล้อมเอื้ออำนวยต่อการมัมมี่ตามธรรมชาติอย่างมาก ดินอุดมไปด้วยไนเตรต ความแห้งแล้งของทะเลทรายอาตากามา ไอเกลือจากมหาสมุทรแปซิฟิกที่อยู่ใกล้ ๆ กัน
แต่ตอนนี้ทุกอย่างกำลังเปลี่ยนไป ไม่ใช่แต่กับทะเลทรายอาตากามาเท่านั้น แต่กับมัมมี่ที่ล้ำค่าเหล่านี้ด้วย ต่างจากมัมมี่ของอียิปต์ที่ถูกปล้นชิงจากสุสานโดยน้ำมือมนุษย์ มัมมี่ชินโชร์โรกำลังถูกทำลายจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ทำให้มันอาจเป็นหนึ่งในแหล่งโบราณคดีแห่งแรก ๆ ของโลกที่พินาศจากภาวะโลกร้อน
สภาพอากาศที่แปรปรวนไม่ได้ทำให้โลกร้อนขึ้นเท่านั้น แต่ยังทำให้โลกชื้นขึ้นอย่างไม่ควรเป็นโดยเฉพาะในพื้นที่ที่ไม่ควรจะชื้นหรือมีฝนตก อย่างทะเลทรายอาตากามาที่มีฝนตกน้อยมากจนเรียกได้ว่าแทบไม่มีฝนเลย แต่กลับเจอกับสถานการณ์น้ำท่วมหนักซะอย่างนั้น
เมื่อวันที่ 25 มี.ค. 2015 เกิดฝนตกหนักส่งผลกระทบต่อภาคใต้ของทะเลทรายอาตากามา น้ำท่วมส่งผลให้เกิดกระแสโคลนที่ส่งผลกระทบต่อเมืองต่าง ๆ ในชิลีตอนเหนือทำให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 100 คน และสภาพอากาศที่วิปริตยังทำให้มัมมี่ที่ถูกฝังโผล่ขึ้นมาอย่างผิดปกติด้วยและทรุดโทรมอย่างรวดเร็ว
นักโบราณคดีต้องทำงานแบบหามรุ่งหามค่ำเพื่อรักษาซากมัมมี่เหล่านี้ เช่น ในเดือน ธ.ค.ปี 2021 พวกเขาต้องไปปักหมุดที่ตามไหล่เขาเพื่อบอกจุดพบมัมมี่ที่กลายเป็นโครงกระดูกที่ถูกค้นพบ ซากเหล่านี้ถูกเผยให้เห็นโดยลมที่แรงผิดปกติและปริมาณน้ำฝนที่เพิ่มขึ้น
Guardian รายงานว่าหลุมศพของชาวชินโชร์โรซึ่งกระจายอยู่ทั่วตอนเหนือสุดของชิลี กำลังถูกรบกวนมากขึ้นเรื่อย ๆ จากสภาพอากาศที่ไม่ปกติซึ่งเชื่อมโยงกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศ และซากศพของพวกเขาถูกปล่อยให้สัมผัสกับปัจจัยที่บ่อนทำลายให้เสื่อมสภาพลง
เนื่องจากมีทุนน้อย นักโบราณคดีจึงต้องเลือกว่าจะพยายามรักษาซากมัมมี่ทุกซาก หรือเพียงแค่ปกปิดซากศพที่พบใหม่ และมุ่งเน้นไปที่การอนุรักษ์และศึกษามัมมี่ที่ขุดแล้ว แต่มัมมี่ที่พบแล้วในพิพิธภัณฑ์ก็แทบจะไม่รอดเหมือนกัน เพราะภาวะชื้นในทะเลทรายอาตากามากำลังทลายสภาพของพวกมันไปด้วย
แต่ที่พอมีความหวังอยู่บ้าง ตอนนี้แหล่งอารยธรรมชินโชร์โรได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกแล้ว ทำให้อาจจะมีทุนมาช่วยกอบกู้สถานการณ์ ซึ่งมันก็ยังเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุอยู่ เพราะต้นเหตุก็คือความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลกที่เลวร้ายถึงขนาดทำลายประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติให้เลือนหายไปอย่างรวดเร็ว
ข้อมูลจาก
• Laurence Blair. (26 Mar 2022). “Chile’s archaeologists fight to save the world’s oldest mummies from climate change”. Guardian.
• Wikipedia contributors. “Chinchorro mummies.” Wikipedia, The Free Encyclopedia. Wikipedia, The Free Encyclopedia, 23 Mar. 2022. Web. 27 Mar. 2022.
• Wikipedia contributors. “Atacama Desert.” Wikipedia, The Free Encyclopedia. Wikipedia, The Free Encyclopedia, 7 Mar. 2022. Web. 27 Mar. 2022.
ภาพ Daderot/commons.wikimedia