จีนสร้างป่ากลางทะเลทราย ได้กำแพงต้นไม้ 100 ล้านต้น ช่วยลดแรงลมน้ำฝนเพิ่ม 4 เท่า

“อูลานบูวา” (Ulaanbuwa Desert) หรือ “ทะเลทรายกระทิงแดง” อยู่ในเขตปกครองตนเองมองโกเลียของสาธารณรัฐประชาชนจีน กระจายอยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของที่ราบเหอเท่า ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเหลือง ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 0.99 ถึง 10,300 ตารางกิโลเมตร ติดอันดับหนึ่งในแปดทะเลทรายในประเทศจีนในแง่ของพื้นที่

“ทะเลทรายกระทิงแดง” มีสภาพเป็นทะเลแห่งทรายจริง ๆ นั่นคือเต็มไปด้วยเนินทราย แทบจะไร้ต้นไม้ มีเพียงบางจุดที่มีความชื้นหรือแหล่งน้ำเท่านั้นที่พอจะมีต้นไม้ไม่กี่ต้นและพุ่มหญ้าเป็นหย่อม ๆ มันจึงเป็นดินแดนที่แทบจะใช้ประโยชน์ไม่ได้เลย และด้วยสภาพภูมิอากาศโลกที่แย่ลงทุกที มีโอกาสที่ทะเลทรายจะขยายตัวออกไปเรื่อย ๆ

แต่จีนเสียอย่างไม่ยอมง่าย ๆ จึงผุดโปรเจกต์ใหญ่เปลี่ยนทะเลทรายเป็นพื้นที่สีเขียว ด้วยการสร้าง “กำแพงเมืองจีนสีเขียว” ขึ้นมากั้นการรุกล้ำของทะเลทราย มันไม่ใช่แค่โครงการที่นำโดยรัฐ แต่ภาคเอกชนร่วมด้วย ไม่ใช่แค่การป้องกันตัวเองจากการรุกรานของทะเลทราย แต่เป็นแผนเชิงรุกด้วยการยึดพื้นที่มาใช้ประโยชน์

บริษัท Shengmu บริษัทผลิตภัณฑ์นมออร์แกนิกชั้นนำของจีน ลงทุนมากกว่า 110 ล้านดอลลาร์สหรัฐในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เพื่อเปลี่ยนทะเลทรายให้เป็นพื้นที่ปลูกหญ้าสำหรับการผลิตนมออร์แกนิก พวกเขายังปลูกต้นไม้ประเภทต่าง ๆ กว่า 90 ล้านต้น ทำให้ทะเลทรายมากกว่า 200 ตารางกิโลเมตรกลายเป็นสีเขียว

แน่นอนว่า อุตสาหกรรมผลิตนมสร้างก๊าซมีเทนปริมาณมหาศาลและเป็นก๊าซเรือนกระจกที่อันตรายต่อโลกมากกว่าคาร์บอนไดออกไซด์เสียอีก แต่ในกรณีศึกษานี้เราจะมาลองดูการปรับตัวของมนุษยชาติว่า ถ้าเกิดเราหยุดกินนมไม่ได้ เราจะปรับตัวอย่างไรเพื่อสร้างมลพิษให้น้อยที่สุดและสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนขึ้นมาพร้อมกับหยุดการรุกล้ำของทะเลทรายไปด้วย

เริ่มจากปี 2009 บริษัท Shengmu ทำการปรับพื้นที่ทะเลทรายให้กลายเป็นฟาร์มสำหรับเลี้ยงวัว 80,000 ตัว เมื่อปรับพื้นที่แล้วยังสร้างทุ่งสำหรับปลูกหญ้าแบบออร์แกนิกขึ้นมา และบำรุงมันด้วยมูลวัวในฟาร์มนั่นเอง ที่จริงแล้วทะเทรายนี้เคยมีแม่น้ำเหลืองผ่านและทิ้งตะกอนอุดมสมบูรณ์ไว้ Shengmu เพียงแค่พลิกฟื้นมันขึ้นมาเพื่อทำประโยชน์อีกครั้ง

พร้อมกับปลูกต้นไม้ 97 ล้านต้น ทำให้ทะเลทรายกลายเป็นพื้นที่ป่ามากกว่า 200 ตร.กม. ป่าที่เกิดขึ้นใหม่นี้มีระบบนิเวศเป็นของตัวเอง และช่วยลดความเร็วของลม ที่เป็นตัวการพัดพาทรายให้รุกล้ำพื้นที่กลายเป็นทะเลทรายออกไปเรื่อย ๆ และป่าใหม่ยังเพิ่มปริมาณน้ำฝนถึง 4 เท่า

แนวคิดของ Shengmu ตั้งบนหลักการ “ทฤษฎีการควบคุมทรายที่ใช้การปกคลุมดินต่ำ” คือทฤษการเปลี่ยนทะเลทรายของจีน โดยอาศัยพืชคลุมทรายในอัตรา 15%-25% ซึ่งช่วยลดการขยายตัวของทรายและยังลดการใช้น้ำในการบำรุงรักษาต้นไม้ลงได้มาก เพิ่มประสิทธิภาพของพืช 8%-20% แต่ลดต้นทุนได้ถึง 40%-60%

นี่คือกรณีศึกษาการปรับตัวของจีน เพราะจากรายงานของ World Economic Forum คาดว่า 65% ของจีดีพีของจีนเสี่ยงที่จะชะงักจากการสูญเสียทางธรรมชาติ และแผ่นดินจีน 1 ใน 4 เสี่ยงต่อการกลายเป็นทะเลทราย ดังนั้นจีนต้องดำเนินการเชิงรุกเพื่อสกัดทะเลทรายพร้อมกับ “ยึด” ทะเลทรายมาเป็นพื้นที่สีเขียวไปพร้อม ๆ กัน

จีนต้องปรับตัวเองเพื่อเอาตัวรอดจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศก่อนที่มันจะทำลายสภาพความเป็นอยู่ของประชาชน คาดว่าหากจีนสามารถปรับตัวเองเปลี่ยนผ่านไปสู่อุตสาหกรรมที่เกื้อหนุนธรรมชาติได้ จะเพิ่มเม็ดเงินให้กับภาคธุรกิจได้ถึง 1.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี และสร้างงานที่ยั่งยืนได้ถึง 88 ล้านตำแหน่งภายในปี 2033

ขณะที่อุตสาหกรรมการเลี้ยงวัวและผลิตนม (แม้จะเป็นผลิตภัณฑ์ออร์แกนิก) ของ Shengmu จะมีส่วนต่อการสร้างภาวะโลกร้อน แต่ด้วยสมมติฐานว่า มนุษยชาติยังเลิกกินนมไม่ได้ การปรับตัวเพื่อลดภาระให้โลกและเพิ่มพื้นระบบนิเวศใหม่ ๆ ในพื้นที่ไร้ประโยชน์ก็อาจเป็นทางออกหนึ่งก็ได้ แม้ว่าจะเป็นทางออกเฉพาะหน้าก็ตาม

ข้อมูลจาก
• “This Chinese company created an organic milk farm in the desert”. (19/01/2022). World Economic Forum.
• Zhu Chunquan, Gim Huay Neo. (16/01/2022). “This is why China needs to become nature positive – and how to do it”. World Economic Forum.
• “Create an organic recycling sand and grass industry Mengniu Shengmu sustainable development to a higher level”. (06/07/2021). Xinhuanet
• “Yang Wenbin: Propose a new theory of low coverage desertification control”. (26/07/2017) The Paper.
ภาพ Shengmu

Related posts

กรรมการชาติเห็นชอบร่างพรบ.โลกร้อน เดินหน้าสู่เศรษกิจคาร์บอนต่ำ

ฝุ่น PM2.5 พุ่ง ‘หอฟอกอากาศระดับเมือง’ คืนชีวิตให้คนกรุง อย่างไร

5 ปีอุณภูมิโลกส่อทะลุ 1.5 องศา ไทยเร่งรับมือ 6 สาขาเสี่ยงระดับพื้นที่