อุณหภูมิสูงกระทบเด็กไทยกว่า 10 ล้าน ซูดานเผชิญร้อนจัด 195 วันต่อปี

by Chetbakers

การเผชิญกับคลื่นความร้อนของเด็กที่ถี่ขึ้นและยาวนานขึ้นจะเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพไม่ว่าโรคระบบทางเดินหายใจเรื้อรัง โรคหอบหืด และโรคหลอดเลือดหัวใจ

แม้ปีนี้ฝนจะฉ่ำในหลายภูมิภาคของไทย และช่วยบรรเทาอากาศที่ร้อนอบอ้าวได้มาก แต่ภาวะโลกร้อนที่กำลังเป็นวิกฤตโลกอยู่ในเวลานี้ส่งผลให้เด็กๆ ในประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เผชิญอุณหภูมิสูงเป็นประวัติการณ์ ซึ่งส่งผลกระทบที่รุนแรงต่อชีวิตประจำวันของเด็กๆ ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมกลางแจ้งที่จำกัด การต้องพึ่งพาวิธีคลายร้อนที่มากขึ้น ไปจนถึงการเรียนที่ต้องหยุดชะงักลง

เอาเข้าจริง “คลื่นความร้อน” ถือเป็นภัยคุกคามร้ายแรงสำหรับเด็กๆ ทั่วโลก ซึ่งต้องต่อสู้กับความร้อนมากกว่า เพราะร่างกายของเด็กปรับอุณหภูมิได้ไม่ดีเท่ากับผู้ใหญ่ การเผชิญกับคลื่นความร้อนที่ถี่ขึ้นและยาวนานขึ้นจะเพิ่มความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพของเด็ก ไม่ว่าจะเป็นโรคระบบทางเดินหายใจเรื้อรัง โรคหอบหืด และโรคหลอดเลือดหัวใจ

โดยทารกและเด็กเล็กเป็นกลุ่มเสี่ยงที่สุดต่อการเสียชีวิตจากคลื่นความร้อนมากที่สุด นอกจากนี้ คลื่นความร้อนและวิกฤตสภาพภูมิอากาศอื่นๆ ยังเป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงบริการพื้นฐานของเด็กๆ เช่น บริการทางสุขภาพ การศึกษา หรือการเข้าถึงน้ำดื่มสะอาด

คลื่นความร้อนที่เกิดขึ้นในไทยเฉพาะในปี 2563 ปีเดียว มีเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีกว่าร้อยละ 75 หรือประมาณ 10.3 ล้านคนต้องเผชิญกับคลื่นความร้อนถี่ขึ้น และมีการคาดการณ์ว่า ภายในปี 2593 หรือในอีก 26 ปี เด็กไทยทุกคนจะเผชิญกับคลื่นความร้อนที่ถี่ขึ้นและยาวนานขึ้น หากไม่มีการดำเนินการแก้ปัญหาใดๆ

สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) และยูนิเซฟในปี 2566 ได้ศึกษาและประเมินผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อมต่อเด็กในประเทศไทย พบว่าเด็กๆ ในไทยมีความเสี่ยงสูงต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ได้แก่ อากาศที่ร้อนจัด น้ำท่วม และภัยแล้ง โดยเด็กที่อาศัยอยู่ใน จ.อุบลราชธานี นครราชสีมา ศรีสะเกษ นครศรีธรรมราช และนราธิวาส มีความเสี่ยงสูงสุด

นอกจากนี้รายงานเกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศของยูนิเซฟ The Coldest Year of the Rest of their Lives: Protecting Children from the Escalating Impacts of Heatwaves ในปี 2565 ระบุว่า เด็ก 559 ล้านคนทั่วโลกกำลังเผชิญกับคลื่นความร้อนถี่ขึ้น โดยคาดว่าจะเพิ่มเป็น 2,000 ล้านคนภายในปี 2593 โดยที่ผ่านมาเม็ดเงินทุนด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทั่วโลกกลับทุ่มมาช่วยเหลือเด็กแค่เพียงร้อยละ 2.4 เท่านั้น

นอกจากนั้นรายงานของยูนิเซฟที่ชื่อว่า A Threat to Progress: Confronting the effects of climate change on child health and well-being พบว่า เด็กจำนวน 466 ล้านคน หรือหนึ่งในห้าของเด็กทั่วโลก ต้องเผชิญกับระดับความร้อนที่มากเกินไปในระดับที่ไม่เคยมีมาก่อน

“วันที่ร้อนที่สุดในฤดูร้อนตอนนี้กลายเป็นเรื่องปกติ” Catherine Russell ผู้อำนวยการบริหารของยูนิเซฟกล่าวในข่าวประชาสัมพันธ์จากองค์กรเด็กสากล “ความร้อนจัดเพิ่มขึ้น ก่อให้เกิดความเสียหายต่อสุขภาพ สวัสดิภาพ และกิจวัตรประจำวันของเด็กๆ”

นักวิจัยได้เปรียบเทียบอุณหภูมิเฉลี่ยในช่วงทศวรรษ 1960 กับช่วงปี 2020 ถึง 2024 โดยกำหนดว่าวันที่ร้อนจัดคือวันที่มีอุณหภูมิเกิน 35 องศาเซลเซียส และพบว่าจำนวนวันที่ร้อนจัดเหล่านี้ได้เพิ่มขึ้นสำหรับเด็กเกือบครึ่งพันล้านคนทั่วโลก ซึ่งหลายคนไม่มีบริการหรือโครงสร้างพื้นฐานเพียงพอที่จะรับมือ

การวิเคราะห์นี้พิจารณาข้อมูลตามแต่ละประเทศและพบว่าใน 16 ประเทศ เด็กในปัจจุบันต้องเผชิญกับวันที่ร้อนจัดมากขึ้น 1 เดือนขึ้นไปเมื่อเทียบกับ 6 ทศวรรษที่แล้ว ในประเทศซูดานใต้ เด็กๆ ต้องเผชิญกับวันที่ร้อนจัดเฉลี่ย 195 วันต่อปีในทศวรรษนี้ เมื่อเทียบกับ 110 วันเมื่อ 60 ปีที่แล้ว ในปารากวัย จำนวนวันที่ร้อนจัดเพิ่มขึ้นจาก 36 วันเป็น 71 วัน

ทั่วโลก เด็กในแอฟริกากลางและตะวันตกเป็นกลุ่มที่เผชิญกับวันที่ร้อนจัดมากที่สุด โดยมีการเพิ่มขึ้นของจำนวนวันเหล่านี้อย่างมาก ในภูมิภาคนี้มีเด็ก 123 ล้านคน หรือร้อยละ 39 ที่ต้องทนทุกข์ทรมานจากอุณหภูมิที่ร้อนจัดอย่างน้อย 95 วันต่อปี ในซูดานอยู่ที่ 195 วัน ในไนเจอร์ 202 วัน และในมาลี เด็กๆ ต้องเผชิญกับวันที่ร้อนจัด 212 วัน

ขณะที่เด็กเกือบ 48 ล้านคนในแคริบเบียนและละตินอเมริกาต้องอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีจำนวนวันที่ร้อนจัดเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า แม้แต่ในในสหรัฐอเมริกา เด็กจำนวน 36 ล้านคน ต้องเผชิญกับคลื่นความร้อนเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าเมื่อเทียบกับ 60 ปีก่อน

อ้างอิง:
พ.ค. 08, 2024 . ยูนิเซฟเตือนเด็กในประเทศไทยกว่า 10 ล้านคนต้องเผชิญกับคลื่นความร้อนถี่ขึ้น . Unicef
Aug 14, 2024 . 466 Million Children Live in Parts of the World Where Extremely Hot Days Have Doubled: UNICEF Report By Cristen Hemingway Jaynes, Ecowatch

Copyright @2021 – All Right Reserved.