ประเด็นการเข้าตรวจสอบพื้นที่ของชุดพยัคฆ์ไพร กรมป่าไม้ และมีการแจ้งความดำเนินคดี แกอวย จามรจารุเดช ชาวบ้าน ม.7 ต.นาเกียน อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 13 เม.ย. 2563 ทำให้หลายฝ่ายออกมาแสดงความคิดเห็นในมุมมองที่แตกต่างกันและเข้าใจว่า “ชุดพยัคฆ์ไพร” จากกรมป่าไม้จงใจบิดเบือนข้อมูลเพื่อรังแกชาวกะเหรี่ยงที่ทำกินอยู่บนดอย
ชีวะภาพ ชีวะธรรม หัวหน้าชุดพยัคฆ์ไพร และผู้อำนวยการสำนักป้องกันรักษาป่าและควบคุมไฟป่า กรมป่าไม้ ชี้แจงผ่านเพจสำนักข่าว igreen เมื่อวันที่ 23 เม.ย. 2563 ว่า ขอชี้แจงให้ทุกฝ่ายรับทราบและเข้าใจถึงข้อเท็จจริงในการปฏิบัติการดังกล่าว
1. ต้องชี้แจงให้ทราบว่า ตัวผมเองเป็นผู้ร่วมก่อตั้งชุดปฏิบัติการพิเศษพยัคฆ์ไพรขึ้นมาโดยมีแนวความคิดที่ชัดเจนที่ต้องการที่จะป้องกันดูแล ทรัพยากรป่าไม้ของประเทศที่ถูกบุกรุกทำลายไป โดยเฉลี่ยปีละ 1 ล้านไร่ ซึ่งเป็นข้อมูลที่ทราบกันดี เราเริ่มสร้างขบวนการทางความคิดของพวกเรา
พวกเราคือกลุ่มบุคคลที่เป็นข้าราชการ, เป็นเจ้าหน้าที่ของแผ่นดินบ้านเกิดเมืองนอน เราต้องปฎิบัติงานเพื่อประเทศชาติ และพี่น้องประชาชนสุดความสามารถ พวกเราต้องปฎิบัติงานอยู่ในครรลองคลองธรรม, ด้วยจิตวิญญาณของความรักชาติ รักแผ่นดิน, บนพื้นฐานของความกล้าหาญ
2. ที่ผ่านมาชุดพยัคฆ์ไพร กรมป่าไม้ ปฏิบัติงานดูแลป้องกันรักษาป่า และดูแลพี่น้องประชาชนที่ถูกรังแก หรือไม่ได้รับความเป็นธรรมในสังคมตลอดมา ตัวผมเองเคยใช้ตำแหน่งของตนเองต่อสู้ เพื่อความเป็นธรรมให้กับพี่น้องประชาชน ในหลายๆ พื้นที่ที่มีการร้องเรียนให้ไปช่วยเหลือ
“เคยแม้กระทั้งเอาตำแหน่งงานที่เป็นข้าราชการไปประกันตัวผู้ต้องหาผู้หญิงคนหนึ่งที่ต้องหลบหนีอยู่ในป่าหลายวัน โดยไม่มีหลักทรัพย์ประกันตัว เธอต้องคดีบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติในท้องที่ จ.ราชบุรี ซึ่งหลายคนทักทวงว่าไม่สมควรเพราะเป็นข้าราชการป่าไม้ แต่ผมก็ใช้ตำแหน่งไปประกันออกมา และร่วมกับครอบครัวเธอช่วยต่อสู้คดีจนพ้นผิด เพราะผมตรวจสอบแล้วว่าเธอ ไม่ผิดจึงกล้าที่จะลงไปช่วยเหลือ นี้คือศรัทธาในความเป็นมนุษย์ที่ผมมองเห็น”
3. ผมเคยใช้ตำแหน่งข้าราชการระดับผู้อำนวยการสำนักๆ ไปขึ้นศาลเป็นพยานให้กับผู้หญิงคนหนึ่งที่ถูกดำเนินคดีบุกรุกป่าสงวนๆ ในท้องที่จังหวัดลำปาง (ซึ่งผมได้ตรวจสอบแล้วว่าสามารถชี้แจงอธิบายในขบวนการยุติธรรมได้) ซึ่งก็มีหลายคนทักทวงผมเช่นเดิม แต่ผมก็ไปเป็นพยานให้ ซึ่งเหลือแค่ขบวนการในชั้นอุธรณ์ “นั้นเพราะผมเห็นความเป็นมนุษย์” ถ้าผมไม่ช่วยก็คงไม่มีใครสามารถช่วยเธอได้
พวกเราถูกสอนให้ทำงานด้วยมือขวาคือเพื่อการป้องกันรักษาป่า และมือซ้ายเราต้องดูแลพี่น้องประชาชนที่อยู่อาศัยในเขตป่าไม้ให้สามารถอยู่อาศัยทำกินได้บนพื้นฐานของการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งแรกที่อยากให้สังคม และทุกๆ ท่านเข้าใจและรับทราบว่าจิตวิญญาณของผมและชุดพยัคย์ไพร กรมป่าไม้ เป็นเช่นใด
“การที่มีการนำเสนอว่า ชุดพยัคฆ์ไพร พยายามพาสื่อมวลชนเข้าไปในพื้นที่ และพยายามนำเสนอข่าวและข้อมูลโดยการบิดเบือน จึงเป็นไปไม่ได้ โดยเฉพาะครั้งนี้ผมเดินทางเข้าตรวจสอบข้อเท็จจริงด้วยตนเอง”
ผมเอง และชุดปฏิบัติการพยัคฆ์ไพร และสื่อมวลชน เข้าใจเรื่องการทำไร่หมุนเวียนของพี่น้องชาวกะเหรี่ยงดี ตัวผมเองยิ่งเข้าใจในจารีตประเพณีของพี่น้องกะเหรี่ยง, อ่าข่า เป็นอย่างดีเพราะในครอบครัวของผมก็มีพี่น้องชาวกะเหรี่ยงมาอยู่ด้วยกันหลายคน มาทำงานและเรียนหนังสือรุ่นต่อรุ่นกว่า 10 ปี
ผมเคยไปสัมผัสชีวิตความเป็นอยู่ของพวกเขา ตั้งแต่ที่อำเภอแม่สอด ที่เป็นพี่น้องกะเหรี่ยง, หรือครอบครัวที่เป็นพี่น้องชาวอาข่า ที่ท้องที่ อำเภอแม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย หลายๆ คนผมสนับสนุนให้เรียนหนังสือจนจบถึงระดับปริญญาโท และบางคนเข้าทำงานเป็นเจ้านายที่ป่าไม้ด้วยซ้ำ สิ่งนี้เป็นสิ่งที่อยากจะอธิบายว่า “ผมเข้าใจในความเป็นมนุษย์ของพี่น้องบนภูเขาดี “ผมแยกแยะออกว่าอะไร คือไร่หมุนเวียน” และ “ผม เข้าใจในจารีตประเพณีทีดีงาม”
การเข้าตรวจสอบครั้งนี้มาจากการที่ชุดดับไฟป่าที่เข้าไปทำหน้าที่ ไปพบการเผาพื้นที่ และพบว่ามีการตัดต้นไม้ใหญ่ในลักษณะเป็นการเปิดป่าใหม่ จึงมีการส่งข้อมูลให้ผมซึ่งมาอำนวยการปฎิบัติการควบคุมการดับไฟป่าในท้องที่ จ.เชียงใหม่ และมีการส่งให้ทางสื่อมวลชนด้วย
ผมและชุดปฏิบัติการจึงเข้าตรวจสอบ
โดยการตรวจสอบมี 2 จุด ทั้ง 2 จุดมีสภาพคล้ายกัน โดยการเข้าพื้นที่ เราได้ประสานงานหน่วยงานในท้องที่, กำนันตำบลนาเกียน และผู้ใหญ่บ้าน ม.7 เข้าร่วมตรวจสอบทั้ง 2 จุด แต่ผู้ใหญ่บ้าน ม.7 ไม่อยู่ไม่ได้เข้าตรวจสอบร่วม มีเฉพาะกำนันตำบลน่าเกียน และ ผู้ใหญ่บ้านหมู่บ้านอื่นเข้าร่วม
ประเด็นที่ต้องเข้าใจ
จุดที่ 1 เราตรวจสอบพบพื้นที่ที่มีการตัดต้นไม้ขนาดใหญ่ จำนวน 21 ต้น (ตรวจวัดเฉพาะที่มีความโตเกิน 60 สูงสุดโต 200 ซม. ที่เกิน 100 ซม. จำนวน 9 ต้น) ที่อยู่ติดกับไร่หมุนเวียนเดิม (ซึ่งเราแยกออกว่าเป็นไร่หมุนเวียน เพราะมีความแตกต่าง และเราก็ใช้ระบบตรวจสอบจากภาพถ่ายทางอากาศประกอบในการพิจารณาดำเนินการ รวมทั้งได้สอบถามกำนัน และคณะเจ้าหน้าที่ที่ร่วมกันลงความเห็นว่าเป็นการขยายพื้นที่ออกไป )
ประเด็นคือการตัดไม้ขนาดใหญ่ เกิน 60 ซม. ขึ้นไปกระจายในพื้นที่ 4 ไร่เศษ ซึ่งตรงนี้เป็นความผิดตามกฎหมาย เราเข้าใจไร่หมุนเวียน เราจึงไม่ดำเนินคดีกับพื้นที่ติดกันอีกนับร้อยไร่ การตัดต้นไม้ขนาดใหญ่ลงเป็นความผิดที่ชุดปฏิบัติการจะหาระเบียบ หรือข้อยกเว้นของภาครัฐมาช่วยได้ การอยู่อาศัยทำกินของพี่น้องในเขตป่าไม้ ยังมี มติ ครม., คำสั่ง คสช., มาช่วยผ่อนปรนได้ แต่การตัดและขยายพื้นที่ดังกล่าวไม่มีข้อยกเว้น เจ้าหน้าที่ทุกท่านทราบดี,
“เราเข้าใจ ไร่หมุนเวียนดี”
ในภาพ (1) ซ้ายมือคือจุดที่พบมีการตัดไม้ขนาดใหญ่ (ถูกดำเนินคดี) และด้านขวาพื้นที่ติดกัน คือไร่หมุนเวียนที่ไม่ถูกดำเนินคดี
ภาพที่ 1
ในภาพ (2) จะเห็นด้านขวา คือแปลงไร่หมุนเวียนที่มีตอไม้ขนาดเล็ก ซึ่งตรงนี้ไม่มีการดำเนินคดี สอดคล้องกับภาพถ่ายทางอากาศที่พบว่าพื้นที่ตรงที่มีการดำเนินคดี มีสภาพเป็นป่าธรรมชาติที่มีอายุเกิน 10 ปี เพราะมีต้นไม้ขนาดใหญ่จำนวนมาก
ภาพที่ 2
ที่สำคัญการเข้าตรวจสอบจุดที่ 2 ซึ่งอยู่ห่างออกมาหลายกิโลเมตรในท้องที่หมู่บ้านเดียวกันในเวลาถัดมา โดยชุดปฏิบัติการเดียวกันพบรูปแบบการใช้พื้นที่คล้ายคลึงกัน แต่ชุดปฏิบัติการไม่ได้ดำเนินคดีเพราะ “เข้าใจในเรื่อง ไร่หมุนเวียน” จะเห็นว่า แปลงที่ตรวจสอบจุดที่ 2 ไม่มีการตัดต้นไม้ขนาดใหญ่แต่มีการถูกไฟไหม้คล้ายกัน ต้นไม้ใหญ่ยังอยู่เพียงแต่มีการริดกิ่งออกไป ซึ่งคณะเจ้าหน้าที่พร้อมกำนัน, ผู้ใหญ่บ้านที่ร่วมตรวจสอบก็พูดคุยกันเป็นที่เข้าใจ
ผม และชุดปฏิบัติการพยัคย์ไพร กรมป่าไม้ และสื่อมวลชนที่ร่วมเข้าทำข่าว ยืนยันว่าไม่มีเจตนาที่จะเบี่ยงประเด็นเพื่อจะจับกุมดำเนินคดีต่อพี่น้องชาวบ้านโดยสิ้นเชิง
พวกเรามุ่งหวังให้มีการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ ภายใต้กติกา, ระเบียบที่ร่วมมือร่วมใจกัน ภายใต้ความยั่งยืนของทรัพยากร เราคงปฏิเสธไม่ได้ ว่าระบบทรัพยากรธรรมชาติทั้งหมด มีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน เมื่อระบบสิ่งแวดล้อมอันใดอันหนึ่งมีผลกระทบ ย่อมส่งผลต่อระบบสิ่งแวดล้อมอื่นตามมา เช่น ระบบนิเวศน์ของชุมชนเมือง, ระบบสิ่งแวดล้อมของกลางน้ำและปลายน้ำ จะได้รับผลกระทบแน่นอน เมื่อระบบป่าต้นน้ำลำธารได้รับผลกระทบ
วันนี้ทุกฝ่ายคงต้องออกมาร่วมมือร่วมใจกันที่จะดูแลรักษา และใช้ประโยชน์ป่าต้นน้ำลำธารที่มีอยู่ ไม่มากนักของประเทศ และเริ่มส่งสัญญาณของระบบที่ไม่ปกติ เราคงต้องใช้, ต้องดูแลรักษา, บนพื้นฐานของระบบการจัดการที่ยั่งยืน คนสามารถอยู่อาศัยในเขตป่าไม้ได้ด้วยความยั่งยืน
นั้นคือสิ่งที่ต้องการเห็น ไม่อยากให้มาขัดแย้งกันเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัวเป็นใหญ่ อยากให้คำนึงถึง “กติกาทางสังคม กติกาของการใช้ประโยชน์ทำกินในเขตป่าต้นน้ำ ทุกสังคม ต้องมีกติกา”
“ป่าต้นน้ำเป็นสมบัติของคนทั้งชาติ ตั้งแต่คนที่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ” ไม่ใช่ของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง