สถานการณ์ไฟป่าและฝุ่น PM2.5 ในหลายจังหวัดภาคเหนือตอนบนรุนแรงจนทำให้ประชาชนตกอยู่ภาวะอันตราย โดยเฉพาะเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2567 เว็บไซต์ iqair.com รายงานคุณภาพอากาศและจัดอันดับเมืองที่มีมลพิษทั่วโลกว่า จ.เชียงใหม่ เป็นเมืองติดอันดับที่ 1 ของโลก ค่าฝุ่นแตะระดับ 240 AQI US ซึ่งคุณภาพอากาศแย่มากที่สุดและมีผลกระทบอย่างรุนแรง
เชียงใหม่จึงกลายเป็นเมืองที่ติดอันดับ 1 ของโลกต่อเนื่องเป็นวันที่สอง หลังจากเมื่อวันที่ 15 มีนาคม ตรวจวัดค่าฝุ่นได้ 130.9 ซึ่งมีผลกระทบต่อสุขภาพอย่างรุนแรง ล่าสุดเมื่อวันที่ 17 มี.ค. iqair รายงานค่าฝุ่นว่าค่าฝุ่นเชียงใหม่ติดอันดับ 3 ของโลก อยู่ 180 ซึ่งยังทำให้คุณภาพอากาศแย่และอยู่ในระดับอันตราย ควรหลีกเลี่ยงการใช้ชีวิตในที่โล่งแจ้ง
ทาง WEVO สื่ออาสาได้ตั้งข้อสังเกตว่า แม้ฝุ่นควันจะทำให้คุณภาพอากาศในเชียงใหม่แย่มาก แต่ล่าสุดยังคงมีการอนุญาตให้บริหารจัดการเชื้อเพลิง โดยพบว่า 2 แปลงที่ อ.แม่แจ่ม อนุมัติให้บริหารจัดการเชื้อเพลิงในพื้นที่ป่าเกือบ 3,400 ไร่
แปลงที่ 1 ขอบริหารเชื้อเพลิงในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ลักษณะเป็นป่าเต็งรัง มากถึง 2,218 ไร่ (ขอคนเดียว) แปลงที่ 2 ขอบริหารเชื้อเพลิง ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติลักษณะเป็นป่าเต็งรังมากถึง 1,179 ไร่ (ขอคนเดียว) ส่วนแปลงที่เหลือเป็นไฟจำเป็นที่ขอโดยชาวบ้าน เพื่อจัดการเชื้อเพลิงในพื้นที่เกษตร ซึ่งอยู่ในเขตป่าชุมชน เขตป่าสงวนฯ และในเขตป่าอนุรักษ์ในอำเภอต่างๆ
ด้านสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA รายงานข้อมูลจากดาวเทียมซูโอมิ เอ็นพีพี (Suomi NPP) และจากดาวเทียมอีกหลายดวง เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2567 พบจุดความร้อน (hotspot) ทั้งประเทศ 1,779 จุด ซึ่งส่วนใหญ่เกิดขึ้นในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ 952 จุด พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ 452 จุด พื้นที่เกษตร 169 จุด พื้นที่เขต สปก. 102 จุด แหล่งชุมชนและอื่นๆ 101 จุด และพื้นที่ริมทางหลวง 3 จุด
สำหรับจังหวัดที่พบจำนวนจุดความร้อนสูงสุด 3 อันดับแรกได้แก่ กาญจนบุรี 278 จุด ตาก 213 จุด เชียงใหม่ 185 จุด ขณะที่หลายจังหวัดค่าฝุ่น PM2.5 เกินมาตรฐาน 22 จังหวัดในภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ แม่ฮ่องสอน 209.9 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.), ลำพูน 203.5 มคก./ลบ.ม., เชียงใหม่ 189.8 มคก./ลบ.ม., เชียงราย 174.7 มคก./ลบ.ม.,
นอกจากนั้น ลำปาง 160.6 มคก./ลบ.ม., พะเยา 159.7 มคก./ลบ.ม., น่าน 142.2 มคก./ลบ.ม., หนองบัวลำภู 104.9 มคก./ลบ.ม., อุดรธานี 90.1 มคก./ลบ.ม., นครพนม 89.6 มคก./ลบ.ม., มุกดาหาร 88.2 มคก./ลบ.ม., สกลนคร 81.6 มคก./ลบ.ม. เป็นต้น สำหรับประเทศเพื่อนบ้านพบจุดความร้อนมากสุดอยู่ที่พม่า 4,209 จุด ลาว 1,067 จุด เวียดนาม 623 จุด และกัมพูชา 457 จุด
ขณะที่กรมอุตุนิยมวิทยา พยากรณ์อากาศวันที่ 16 มีนาคม 2567 ความกดอากาศต่ำเนื่องจากความร้อนปกคลุมประเทศไทยตอนบน ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณดังกล่าวมีอากาศร้อนกับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน โดยมีอากาศร้อนจัดบริเวณภาคเหนือและภาคกลาง โดยภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลางตอนบน มีการสะสมของฝุ่นละอองและหมอกควันอยู่ในเกณฑ์ปานกลางถึงสูง เนื่องจากลมที่พัดปกคลุมมีกำลังอ่อน และมีการระบายอากาศที่ไม่ดี
ด้านความคืบหน้าการแก้ปัญหา เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ลงพื้นที่เชียงใหม่ โดยระบุว่าปริมาณฝุ่น PM2.5 ลดลงจากปีก่อนกว่า 1 เท่า แม้เชียงใหม่จะมีปริมาณฝุ่นเป็นอันดับ 1 ของโลก
ขณะเดียวกัน เมื่อช่วงเช้าวันที่ 16 มีนาคม ที่ผ่านมา พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สส.บัญชีรายชื่อ และประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล พร้อมทีมงานได้เดินทางมาติดตามสถานการณ์ไฟป่าร่วมกับอาสาสมัครดับไฟป่าของมูลนิธิกระจกเงาที่เชียงใหม่ด้วย
พิธา กล่าวว่า จุดที่เกิดการเผาไหม้ในภาคเหนือปีนี้เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาจาก 300 จุด มาอยู่ที่ 2,000 จุด หรือสูงกว่า 78 เท่า ซึ่งพรรคก้าวไกลมาดูสถานการณ์หน้างานให้ทราบปัญหาที่แท้จริง เนื่องจากการเข้าไปดับไฟในป่าไม่ได้ง่าย จะต้องมีจีพีเอส (GPS) มีโดรน และต้องแบกถังน้ำเข้าไปดับไฟ โดยต้องสร้างสถานีลำเลียงน้ำให้สามารถเข้าถึงพื้นที่ไฟไหม้ได้รวดเร็วโดยที่คนไม่ต้องแบกน้ำเข้าไป
“แต่ตอนนี้สถานการณ์ไฟป่าได้หนักขึ้นมานาน 20 วันติดต่อกัน จึงทำให้ต้องระดมคนเข้าไป นอกจากนี้การที่รัฐบาลยังไม่มีการประกาศเขตภัยพิบัติ จะทำให้ไม่สามารถนำงบฯ กลางออกมาใช้แก้ปัญหาได้ รองนายกฯ สมศักดิ์ เทพสุทิน บอกว่าให้กรมป่าไม้ กรมอุทยานฯ ทำงานกับท้องถิ่นได้แล้ว คราวนี้ผมก็อยากจะรู้ว่ามันทำได้จริงอย่างนั้นรึเปล่า” พิธาระบุ