สถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ในกรุงเทพมหานคร (กทม.) วันที่ 14 เม.ย. 2566 ติดอันดับ 12 ของโลก ขณะที่ จ.เชียงใหม่ อยู่อันดับที่ 4 จากที่ก่อนหน้านี้เพียงหนึ่งวันเว็บไซต์ IQAIR ซึ่งรายงานการจัดอันดับคุณภาพอากาศทั่วโลก ระบุว่า เชียงใหม่ติดอันดับ 1 ของโลก ซึ่งถือเป็นครั้งที่ 3 ในรอบเดือนนี้
สถานการณ์ฝุ่น PM2.5 จังหวัดภาคเหนือตอนบนของไทยในปีนี้จึงวิกฤตกว่าปีที่ผ่านมา ล่าสุดวันที่ 10 เม.ย. 2566 กรีนพีซ ประเทศไทย ได้ออกแถลงการณ์ผ่านเว็บไซต์ https://www.greenpeace.org ระบุว่า ทำแล้ว “ทำอยู่ ทำอะไร ทำไมปอดถึงพัง: ประชาชนภาคเหนือฟ้องนายกฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เหตุไม่ใช้อำนาจทางกฎหมายแก้วิกฤตฝุ่น PM2.5”
เนื้อหาแถลงการณ์ยังระบุด้วยว่า ตั้งแต่เดือน ม.ค. 2566 จนถึงปัจจุบันสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ภาคเหนือมีความเข้มข้นสูงปกคลุมเหนือ, อนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงเป็นวิกฤตระดับสูงสุด และมีผู้ป่วยที่เกี่ยวข้องกับมลพิษทางอากาศสะสมแล้วกว่า 2 ล้านคน โดยเฉพาะในเขตจังหวัดภาคเหนือตอนบนของไทย เช่น จ.เชียงราย เชียงใหม่ และแม่ฮ่องสอน
ทั้งนี้ จังหวัดเหล่านี้มีค่าฝุ่น PM2.5 สูงกว่า 100 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรขึ้นไป ต่อเนื่องกันนับสัปดาห์ เป็นวิกฤตด้านสาธารณสุขที่ส่งผลอย่างร้ายแรง และถูกเพิกเฉยจากรัฐบาลมายาวนาน ขณะที่ข้อมูลจากกลุ่มอนามัยสิ่งแวดล้อมและอาชีวอนามัย สำนักงานสาธรณสุขจังหวัดเชียงใหม่ ระบุว่า มีจำนวนผู้ป่วยที่เกี่ยวข้องกับมลพิษทางอากาศช่วงวันที่ 1 ก.พ. จนถึงปัจจุบัน พบผู้ป่วยกลุ่มโรคทางเดินหายใจ กลุ่มโรคหัวใจ หลอดเลือด กลุ่มตาอักเสบ กลุ่มผิวหนังอักเสบ และกลุ่มอื่นๆ รวม 9,234 คน
ขณะที่วันเดียวกัน เครือข่ายประชาชนภาคเหนือ สภาลมหายใจเชียงใหม่ สภาลมหายใจภาคเหนือ นพ.รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์ แพทย์นักเคลื่อนไหวจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) ได้ร่วมกันยื่นฟ้อง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และคณะกรรมการกำกับตลาดทุน
เหตุผลการฟ้องก็คือบุคคลและคณะบุคคลเหล่านี้ไม่ใช้มาตรการทางกฎหมาย กลไกทางสิทธิมนุษยชน นโยบาย และแผนที่มีอยู่ เพื่อกำหนดมาตรการป้องกันและจัดทำแผนฉุกเฉิน เพื่อแก้ไขสถานการณ์วิกฤตฝุ่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยได้เปิดให้ประชาชนร่วมลงชื่อสนับสนุนการฟ้องมาตั้งแต่วันที่ 7-9 เม.ย. 2566
ปรากฎว่ามีประชาชนมาร่วมลงชื่อที่คณะนิติศาสตร์ มช. กว่า 727 คน และลงชื่อออนไลน์เพื่อสนับสนุนการแก้ไขวิกฤตฝุ่นจากเกษตรพันธสัญญากว่า 980 คน และยังมีภาคประชาสังคมอื่นๆ ร่วมลงชื่อ เช่น มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม กลุ่มสม-ดุล เชียงใหม่ ศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น และกรีนพีซ
การฟ้องร้องครั้งนี้มีข้อเรียกร้องทางคดี 3 ประการ ได้แก่ 1. ฟ้องนายกฯ ให้ใช้อำนาจตามมาตรา 9 พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ซึ่งเมื่อเกิดเหตุภัยพิบัติอย่างร้ายแรงให้มีอำนาจสั่งการให้หน่วยงานทำหน้าที่อย่างเข้มงวด เนื่องจากนายกฯ ไม่ได้ใช้อำนาจนี้จนการแก้ไขปัญหาวิกฤตฝุ่น PM2.5 มีความล่าช้า ไม่ทันต่อความร้ายแรงของเหตุการณ์
2. ฟ้องคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ให้ปฏิบัติตามแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” ซึ่งรัฐบาลประกาศแผนนี้มาตั้งแต่ปี 2562 แต่ในช่วง 4 ปีหลังใช้แผนนี้ แทบไม่เห็นความคืบหน้า และปัญหายังคงความรุนแรงอยู่
และ 3. ฟ้องคณะกรรมการ ก.ล.ต. และคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแล ซึ่งมีหน้าที่ครอบคลุมถึงพันธกรณีนอกอาณาเขต (Extraterritorial Obligations) ให้กำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไข วิธีการจัดทำรายงานการเปิดเผยข้อมูลอย่างรอบด้าน เพิ่มในแบบรายงาน 56-1 One Report หรือแบบอื่นๆ ในฐานะเอกสารสำคัญสำหรับการตรวจสอบข้อมูลตลอดห่วงโซ่อุปทาน อันเกี่ยวเนื่องกับแหล่งกำเนิดฝุ่น PM2.5 ซึ่งส่งผลกระทบข้ามพรมแดนมายังประเทศไทย
ก่อนหน้านั้น เมื่อวันที่ 7 เม.ย. 2566 พล.อ.ประยุทธ์ ได้เป็นประธานการประชุมระดับผู้นำร่วมกับนายสอนไซ สีพันดอน นายกรัฐมนตรี สปป.ลาว และ พล.อ.อาวุโสมิน อ่อง หล่าย นายกรัฐมนตรีเมียนมา เพื่อร่วมแก้วิกฤตฝุ่น PM2.5 ซึ่งเป็นฝุ่นข้ามแดนที่ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของประชาชนที่อาศัยอยู่ตอนบนของทั้ง 3 ประเทศ ซึ่งวันเดียวกันนี้ค่าฝุ่นเชียงใหม่ เชียงราย ทะลุ 500 ขณะที่ 3 ประเทศติดอันดับค่าฝุ่นพุ่งอันดับ 1-3 ของโลก
พล.อ.ประยุทธ์ เสนอให้ทั้ง 3 ประเทศ กระชับความร่วมมือระหว่างกัน รวมถึงร่วมมือภายใต้กรอบอาเซียน ในการแก้ไขปัญหามลพิษจากหมอกควันข้ามแดนให้มีประสิทธิภาพและยั่งยืน ทั้งการลดจุดความร้อน การผลักดันเข้าสู่กระประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนครั้งที่ 42 ให้สั่งการแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม ตลอดจนแลกเปลี่ยนข้อมูลและแนวทางดำเนินการด้านกฎหมายเพื่อควบคุมต้นตอของปัญหา
นายกฯ สปป.ลาว สนับสนุนความร่วมมือเพื่อหาทางออกร่วมกันในระดับอาเซียน และการเพิ่มการตระหนักรู้ เพิ่มความเข้าใจให้ประชาชนเข้าใจถึงสาเหตุ และปัญหามลพิษหมอกควันข้ามแดน
ด้านนายกฯ เมียนมา ก็เห็นด้วยในการเพิ่มความร่วมมือในการควบคุม และบริหารจัดการร่วมกัน โดยทางเมียนมาจะดำเนินการอย่างเข้มแข็งขึ้นเพื่อส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนในภูมิภาค และเชื่อว่าความมุ่งมั่นร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดจะเป็นประโยชน์กับทุกประเทศในภูมิภาค
นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ในฐานะเจ้าหน้าที่อาวุโสคณะทำงานภายใต้รัฐมนตรีสิ่งแวดล้อม 5 ประเทศซึ่งมีการจัดประชุมขึ้นแบบคู่ขนาน ระบุว่า สถานการณ์ฝุ่นควันข้ามแดนเกิดจากสภาวะอากาศที่แห้งแล้งในอนุภูมิภาคแม่น้ำโขงช่วงเดือน ม.ค. – เม.ย. 2566 ทำให้มีจำนวนจุดความร้อนเพิ่มขึ้นจากการเผาในที่โล่งเพิ่มขึ้นจากปี 2565 ร้อยละ 93 และเกิดปัญหาหมอกควันข้ามแดน ทั้งนี้สำนักเลขาธิการอาเซียน แจ้งเตือนต่อระดับปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นระดับสูงสุดในระดับ 3
สำหรับการแก้ปัญหาในพื้นที่ นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าฯ เชียงใหม่ ได้ออกประกาศขอความร่วมมือภาครัฐและเอกชนทำงานที่บ้าน (Work from Home) ในวันที่ 7 เม.ย. หลังเผชิญวิกฤตฝุ่นควันและค่าฝุ่น PM2.5 เกินมาตรฐานต่อเนื่องหลายสัปดาห์
ขอบคุณภาพ Climate Change Data Center of Chiangmai University