OPINION: เชียงคาน เมืองที่ถูกข่มขู่จากสองเขื่อน

จะขอเล่าว่าตอนก่อนจะสร้างเขื่อนไซยะบุรีคณะกรรมการแม่น้ำโขงเริ่มกระบวนการพิจารณาในเดือนกันยายน พ.ศ. 2553 เป็นเขื่อนแรกที่ภูมิภาคแม่น้ำโขงร่วมกันตัดสินใจ แต่ในเดือนเมษายน 2554 สมาชิกตกลงกันไม่ได้และเสนอกันว่าควรจะยืดกระบวนการต่อไป

แต่ในเดือนมิถุนายน 2554 ลาวก็ไม่รออีกสั่งเดินหน้าสร้างเขื่อนโดยบอกกับบริษัทผู้รับเหมาว่ากระบวนการพิจารณาของคณะกรรมการแม่น้ำโขง “เสร็จสมบูรณ์แล้ว” นี่เป็นข้อมูลจาก International Rivers องค์กรด้านสิ่งแวดล้อมและสิทธิมนุษยชน

ตอนนั้น Ame Trandem สมาชิกของ International Rivers บอกว่า “รัฐบาลลาวเจตนาที่จะละเมิดความไว้วางใจอย่างรุนแรงและเป็นหนึ่งในประเทศอันธพาล” แต่จะต่อว่าอย่างไรก็ไร้ผล ลาวสร้างเขื่อนจนเสร็จในที่สุด

นี่เองที่คนเขาถึงปรามาสว่าคณะกรรมการแม่น้ำโขงเป็นแค่กรรมการตรายาง แม้ว่าจะทำตามกระบวนการทุกอย่างจนได้ข้อสรุปว่า “อย่าสร้าง เพราะมันจะเสียต่อสิ่งแวดล้อม” แต่ประเทศสมาชิกก็ไม่แคร์

ประเทศเล็กๆ อย่างลาวไม่มีอำนาจอะไรในเวทีโลก แต่ในด้านอิทธิพลเหนือแม่น้ำโขงลาวมีเหลือเฟือเพราะมีเขตแดนติดกับแม่น้ำโขงมากที่สุด ถ้าลาวจะสร้างเขื่อนซะอย่างใครจะทำไม?

เช่น กรณีของเขื่อนดอนสะโฮงที่กั้นแม่น้ำโขงช่วงสี่พันดอน มหัศจรรย์ทางธรรมชาติอันยิ่งใหญ่ที่แม่น้ำโขงแตกออกเป็นสายเล็กสายน้อย ตอนที่ลาวบอกว่าจะสร้างเขื่อนนี้ประเทศสมาชิกลุ่มน้ำโขงต่างคัดค้าน แต่ลาวอ้างว่าเขื่อนนี้สร้างบนแขนงแม่น้ำโขงไม่ได้กั้นกระแสหลักจึง “ไม่ต้องขออนุญาตใคร”

แม้ภายหลังลาวจะยอมให้ทำเข้าสู่กระบวนการพิจารณาแต่ชาติสมาชิกตกลงกันไม่ได้อีก และก็อีหรอบเดียวกับเขื่อนไซยะบุรีที่ลาวเดินหน้าสร้างต่อไปโดยไม่ฟังเสียงใคร

ตอนนี้ลาวเสนอจะสร้างเขื่อนซะนะคามก็เสนอไปตามกระบวนการ แต่ถ้าผลประเมินสิ่งแวดล้อมบอกว่าไม่ควรสร้างและเพื่อนบ้านไม่เห็นด้วย ลาวก็จะสร้างอยู่ดี แถมเขื่อนนี้ยังอยู่ในพื้นที่ตอนในของลาวไม่ติดกับประเทศใดๆ ด้วย

เขื่อนซะนะคามอยู่ในเขตรอยต่อแขวงไซยะบุรีกับเวียงจันท์และจ่อกับอำเภอเชียงคาน เลยคุ้งน้ำนิดหน่อยก็ถึงเขตแดนไทยแล้ว และทางบกห่างจากเมืองเชียงคานราว 20 กิโลเมตร

ใครเคยไปเชียงคานคงจะทราบว่าเมืองฝั่งลาวตรงข้ามกับเชียงคานชื่อว่าเมืองซะนะคามเหมือนกับเขื่อนแห่งนี้ แต่ตัวเขื่อนไปตั้งอยู่ห่างจากตัวเมืองทั้ง 2 พอสมควร กระนั้นผลกระทบของมันต่อชาวเมืองเชียงคานต้องมีมากมายแน่นอนเหมือนกับเขื่อนกั้นโขงแห่งอื่นๆ

แต่ในอนาคต เชียงคาน “อาจจะ” ถูกขนาบด้วยเขื่อนอีกแห่งไม่ไกลจากตัวเมืองนัก นั่นคือเขื่อนปากชมที่ยังคงเป็นแผนการอยู่ แต่รู้หรือไม่ว่าเขื่อนปากชมมีแผนการสร้างมาหลายสิบปีแล้ว และเอาจริงเอาจังกันมากในสมัยนายสมัคร สุนทรเวชเป็นนายกรัฐมนตรี แต่หลังจากนายสมัครพ้นจากตำแหน่งเรื่องนี้ก็เงียบไป

เขื่อนปากชมจะตั้งอยู่ที่บตำบลหาดคัมภีร์ อำเภอปากชม จังหวัดเลยเพื่อนบ้านของอำเภอเชียงคาน แต่ถ้าสร้างขึ้นมาน้ำจะท่วมเหนือเขื่อนคือล้ำเข้ามาในเขตเชียงคาน โดยสถานที่่้จะท่วมแน่นอนคือแก่งคุดคู้แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่สำคัญ

ตอนนี้โครงการเขื่อนปากชมยังนิ่งอยู่และไม่รู้ว่ามันจะถูกปัดฝุ่นขึ้นมาเมื่อไรอีก แต่ความกังวลของคนกลัวเขื่อนมีมีมากขึ้นเมื่อลาวผลักดันเขื่อนซะนะคามที่ประชิดอำเภอเชียงคาน ต่อให้ไม่สร้างเขื่อนปากชมตอนนี้เชียงคานก็อยู่กับแม่น้ำโขงแบบเดาไม่ถูกกันแล้วเพราะเดี๋ยวขึ้นเดี๋ยวลงตามใจเจ้าของเขื่อนต้นน้ำ

แม้แต่แก่งคุดคู้ที่ควรจะแล้งในฤดูแล้ง ทุกวันนี้เข้าฤดูน้ำหลากแล้วมันยังแล้ง ขนาดที่ว่าระหว่างวันยังเกิดปรากฎการณ์น้ำขึ้นน้ำลงกันแบบไม่ทันตั้งตัวจนเรือเดินไม่ได้!

Related posts

กรรมการชาติเห็นชอบร่างพรบ.โลกร้อน เดินหน้าสู่เศรษกิจคาร์บอนต่ำ

ฝุ่น PM2.5 พุ่ง ‘หอฟอกอากาศระดับเมือง’ คืนชีวิตให้คนกรุง อย่างไร

ชุบชีวิต ‘ขยะทะเล’ เพิ่มมูลค่า ชุมชนยั่งยืน ลดโลกร้อน