น่าเศร้าใจกับวงการเกษตรอินทรีย์เมื่อรัฐบาลจะแจกปุ๋ยเคมีชาวนา 5 ล้านครัวเรือน โดยรัฐจะจ่ายค่าปุ๋ยให้ครึ่งหนึ่ง ใช้งบฯ 30,000 ล้านบาท
น่าเศร้าใจกับวงการเกษตรอินทรีย์หรือการปลูกพืชออร์แกนิก เมื่อรัฐบาลจะผลักดันนโยบายแจกปุ๋ยคนละครึ่งช่วยชาวนา 5 ล้านครัวเรือน โครงการนี้รัฐบาลจะจ่ายค่าปุ๋ยให้ครึ่งหนึ่งและชาวนาออกที่เหลืออีกครึ่ง ใช้งบฯ 30,000 ล้านบาท ซึ่งย้อนแย้งกับนโยบายส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ที่รัฐตั้งเป้าเพิ่มพื้นที่เกษตรอินทรีย์เป็น 2 ล้านไร่ ในปี 2570
นโยบายปุ๋ยคนละครึ่งถูกนำเสนอในที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.) ครั้งที่ 2/2567 ซึ่งมีนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ เป็นประธาน รายละเอียดระบุว่าจะดำเนินการผ่านแอปพลิเคชันของ ธ.ก.ส. โดยจะเชิญผู้ค้าปุ๋ยทุกบริษัทมาเสนอราคาให้เท่ากันทั้งหมด
เหตุผลของโครงการอ้างว่าเพื่อแก้ปัญหาชาวนาซื้อปุ๋ยแพง รัฐจึงจะช่วยค่าปุ๋ยเคมี ปุ๋ยอินทรีย์ และชีวภัณฑ์ ไม่เกินไร่ละ 500 บาท (รายการปุ๋ยที่แจก 13 รายการหรือ 13 สูตร) ครัวเรือนละไม่เกิน 20 ไร่ ให้กับเกษตรกรผู้ปลูกข้าวปี 67/68 ที่ขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตร เป้าหมาย 4.68 ล้านครัวเรือน ใช้งบประมาณ 29,994.3445 ล้านบาท ซึ่งกรมการข้าวจะนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี ภายในเดือน มิ.ย.นี้
นโยบายดังกล่าวสวนทางกับนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เนื่องจากสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กำลังส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ภายใต้แผนปฏิบัติการด้านเกษตรอินทรีย์ พ.ศ. 2566 – 2570 ที่ได้กำหนดเป้าหมายเพิ่มพื้นที่เกษตรอินทรีย์เป็น 2 ล้านไร่ ในปี 2570
ในปัจจุบันไทยมีพื้นที่เกษตรอินทรีย์ 1,403,441 ไร่ เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา (2565) ที่มี 1,348,155 ไร่ หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 4 คิดเป็นมูลค่า 9,169.29 ล้านบาท โดยในปี 2565 ไทยส่งออกสินค้าเกษตรอินทรีย์ 35,888.70 ตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2564 ที่ส่งออก 30,007.90 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 19.60 คิดเป็นมูลค่า 2,248.72 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2564 ที่มีมูลค่า 1,345.57 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 67.12
สินค้าเกษตรอินทรีย์ของไทยที่ส่งออก ได้แก่ ข้าว มะพร้าวอ่อน กะทิสำเร็จรูป ทุเรียน มังคุด มีตลาดส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา จีน อิตาลี และสวิตเซอร์แลนด์ โดยในปี 2566 ไตรมาสแรก (ม.ค. – มี.ค. 66) มีปริมาณการส่งออก 6,303.76 ตัน มูลค่า 302.90 ล้านบาท โดยสินค้าเกษตรอินทรีย์หลักคือ ข้าวอินทรีย์ ส่งออก 4,996.77 ตัน มูลค่า 185.10 ล้านบาท กะทิสำเร็จรูป 514.75 ตัน มูลค่า 30.76 ล้านบาท ทุเรียน 38 ตัน มูลค่า 13.24 ล้านบาท มะพร้าวอ่อน 740.70 ตัน มูลค่า 18.27 ล้านบาท และมังคุด 12 ตัน มูลค่า 2.06 ล้านบาท
จะเห็นได้ว่าทิศทางของสินค้าเกษตรอินทรีย์มีแนวโน้มที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากกระแสความนิยมการดูแลสุขภาพของผู้บริโภค การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ รวมถึงแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การทำการเกษตรแบบยั่งยืน เกษตรอินทรีย์ เพื่อรักษาระบบนิเวศของสิ่งแวดล้อมทรัพยากรธรรมชาติ
ด้านมูลนิธิชีววิถีหรือ BIOTHAI แสดงจุดยืนในโครงการปุ๋ยคนละครึ่งตอนหนึ่งว่า โครงการนี้จะใช้เม็ดเงินกว่า 95% นำไปซื้อปุ๋ยเคมี นี่ไม่ใช่โครงการทำนาที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ปัจจุบันภาคเกษตรใช้ปุ๋ยเกินจำเป็นถึง 35% อยู่แล้ว แต่กลับแจกเงินอุดหนุนเกือบ 3 หมื่นล้านเพื่อสนับสนุนให้ชาวนาซื้อปุ๋ยเคมีอีก จึงไม่ใช่การทำนาลดต้นทุน
BIOTHAI เสนอว่า อยากช่วยชาวนาจริง 1) เพิ่มชลประทานให้ได้สัก 70% ของพื้นที่เกษตร 2) เปลี่ยนงบประมาณเพื่อเปลี่ยนโครงสร้างการถือครองที่ดิน เปลี่ยนค่าเช่านาเป็นเช่าซื้อที่นา ให้ชาวนาเป็นเจ้าของที่ดินจะได้ปรับเปลี่ยนพัฒนาที่นาแบบยั่งยืน 3) สนับสนุนการเปลี่ยนทำนาเป็นเกษตรกรรมที่ให้ผลตอบแทนสูงและสร้างความมั่นคงทางอาหาร เช่น ปลูกไม้ผลเมืองร้อน เกษตรผสมผสาน เลี้ยงสัตว์แบบยั่งยืน หรืออื่นๆ ไม่ใช่ให้ชาวนาเปลี่ยนอาชีพไปผลิตสินค้าวัตถุดิบราคาถูกๆ 4) การวิจัยและพัฒนานวัตกรรมก็ควรทำ แต่อย่ารวมศูนย์ ให้เกษตรกรมีส่วนร่วมกระจายไปสู่การวิจัยในระดับท้องถิ่นแบบเดียวกับญี่ปุ่น
นายสุเทพ กุลศรี ประธานสมาพันธ์เกษตรกรรมยั่งยืนจังหวัดปทุมธานี โพสต์เฟซบุ๊กว่า น่าเศร้ามาก!.เมื่อพวกเราชาวนาถูกลากถูกจูงไปเป็นตัวประกันในโครงการ” ปุ๋ยคนละครึ่ง” แถมใช้คำพูดสุดหรูแลดูดี
- ทำนาเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
- ทำนาแบบยั่งยืน
- ตระหนักถึงสิ่งแวดล้อม
….ฯลฯ…..
ผลสุดท้ายมีแนวโน้มแจกปุ๋ยเคมี…รู้สึกเศร้าและสะเทือนใจอย่างอธิบายไม่ถูกกับการปฏิบัติการของรัฐบาลและกระทรวงเจ้าสังกัด
อย่างไรก็ตาม ปุ๋ยที่โครงการนี้กำหนดแจกคนละครึ่งมีจำนวน 13 รายการ ได้แก่ 1) ปุ๋ยสูตร 25-7-14 2) ปุ๋ยสูตร 20-8-20 3) ปุ๋ยสูตร 20-10-12 4) ปุ๋ยสูตร 30-3-3 5) ปุ๋ยยูเรีย 46-0-0 6) ปุ๋ยสูตร 18-12-6 7) ปุ๋ยสูตร 16-8-8 8) ปุ๋ยสูตร 16-12-8 9) ปุ๋ยสูตร 16-16-8 10) ปุ๋ยสูตร 16-20-0 11) ปุ๋ยสูตร 20-20-0 12) ปุ๋ยอินทรีย์ที่ขึ้นบัญชีนวัตกรรม หรือใช้ปุ๋ยอินทรีย์ที่ได้รับใบสำคัญการขึ้นทะเบียนปุ๋ยอินทรีย์ 13) ชีวภัณฑ์ที่ได้รับใบสำคัญการขึ้นทะเบียนวัตถุอันตราย และที่ประชุมฯได้เสนอเพิ่มปุ๋ยอีก 3 สูตร ได้แก่ 1) ปุ๋ยสูตร 16-16-16 2) ปุ๋ยสูตร 15-15-15 และ 3) ปุ๋ยสูตร 13-13-24
เครดิตภาพ: spring green evolution