เหนือยังระทม เร่งช่วยสองฝั่งจมน้ำ ฝนจ่อซ้ำอีกถึง 3 ต.ค. ดับแล้ว 49 ราย

แม้สถานการณ์น้ำท่วมในหลายจังหวัดจะคลี่คลายลง แต่บางจังหวัดน้ำเหนือยังคงไหลเข้าท่วมและได้รับความเสียหายหนัก ลุ้นมรสุมพัดฝนถล่มซ้ำ 29 ก.ย. – 3 ต.ค.นี้

แม้สถานการณ์น้ำท่วมในหลายจังหวัดจะคลี่คลายลง แต่บางจังหวัดน้ำเหนือยังคงไหลเข้าท่วมและได้รับความเสียหายอย่างหนัก บางพื้นที่บ้านถูกน้ำพัดหายไปทั้งหลัง อาทิ จ.สุโขทัย ลำพูน ลำปาง โดยอาสมัครและเจ้าหน้าที่กำลังเร่งเข้าให้ความช่วยเหลือ สรุปภาพรวมขณะนี้น้ำท่วมไปทั้งหมด 37 จังหวัด มีประชาชนได้รับผลกระทบแล้ว 181,870 ครัวเรือน มีผู้เสียชีวิตรวม 49 ราย

กรมอุตุนิยมวิทยา ประกาศว่า ในช่วงวันที่ 29 ก.ย. – 3 ต.ค. ประเทศไทยตอนบน และภาคใต้ตอนบน จะมีลักษณะอากาศแปรปรวนเกิดขึ้นโดยมีฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง ฝนตกหนักบางแห่ง และมีฝนตกหนักมากบางพื้นที่ในภาคเหนือ ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพฯ และปริมณฑล และภาคตะวันออก หลังจากนั้นอากาศจะเย็นลงโดยภาคอีสานอุณหภูมิจะลดลง 1 – 3 องศาเซลเซียส ขณะที่น้ำทะเลจะหนุนสูงช่วงวันที่ 28 ก.ย. – 2 ต.ค.

สำหรับสถานการณ์พายุลูกใหม่ 2 ลูก จะไม่ส่งผลกระทบต่อประเทศไทย โดยพายุหมุนเขตร้อนบริเวณมหาสมุทรตะวันตก มี 2 ลูก ประกอบด้วย 1. พายุดีเปรสชันได้ทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุโซนร้อนกระท้อน (KRATHON) ซึ่งเป็นพายุลูกที่ 18 ศูนย์กลางอยู่ทางด้านตะวันออกของเกาะลูซอล ประเทศฟิลิปปินส์ มีแนวโน้มจะแรงขึ้นเป็นพายุไต้ฝุ่นได้ แต่จะเคลื่อนตัวไปทางเกาะไต้หวัน และโค้งกลับไปทางญี่ปุ่น

อีกลูกคือ พายุโซนร้อนเชบี (JEBI) เป็นพายุลูกที่ 17 ทิศทางการเคลื่อนตัวยังอยู่ในมหาสมุทรแปซิฟิก โดยพายุทั้ง 2 ลูก ไม่มีแนวโน้มเคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทยจึงจะไม่มีผลกระทบ

นอกจากนี้ กรมอุตุนิยมวิทยา ออกประกาศเมื่อวันที่ 29 ก.ย. 2567 พยากรณ์อากาศ 24 ชั่วโมงข้างหน้า มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังอ่อนเริ่มพัดปกคลุมทะเลอันดามัน และอ่าวไทย ประกอบกับมีหย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณเวียดนามตอนบน ลักษณะเช่นนี้ทำให้ไทยยังคงมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นได้บางพื้นที่ และมีฝนตกหนักกับมีลมกระโชกแรงบางแห่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พื้นที่ที่ต้องยกระดับการเฝ้าระวังเป็นพิเศษคือ ช่วงวันที่ 30 ก.ย. ถึง 2 ต.ค. มวลอากาศเย็นระลอกแรกมาจากประเทศจีนแผ่ลงมา และจะปะทะกับอากาศร้อน ซึ่งจะทำให้เกิดฝนฟ้าคะนอง และฝนตกหนักบางพื้นที่

สำหรับพื้นที่ภาคกลาง อีสาน กรุงเทพฯ ปริมณฑล และภาคใต้ ยังมีฝนตกหนักถึงหนักมากหลายพื้นที่ โดยเฉพาะภาคใต้ฝั่งอันดามันจะได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ภาคอีสานและภาคตะวันออกจะได้รับอิทธิพลจากจากลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนกรุงเทพฯ มีลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้โดยช่วงเย็นๆ กรุงเทพฯ จะมีฝนปานกลางถึงหนักมากบางพื้น

ด้านกรมชลประทานได้ประกาศแจ้งเตือน 11 จังหวัดภาคกลาง ประกอบด้วย จ.อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา สุพรรณบุรี ลพบุรี ปทุมธานี นนทบุรี สมุทรปราการ และกรุงเทพฯ เตรียมการรับมือปริมาณน้ำจากอิทธิพลจากร่องมรุสมที่จะทำให้ฝนตกหนักทางตอนบนและภาคกลางของประเทศ มีผลทำให้ปริมาณน้ำไหลลงเขื่อนเจ้าพระยามากขึ้นถึง 2,350 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.)/วินาที ทำให้ต้องปรับเพิ่มการระบายน้ำในเกณฑ์ไม่เกิน 2,000 ลบ.ม.ต่อวินาที

ล่าสุดเขื่อนเเจ้าพระยาคงอัตราการระบายน้ำไว้ที่ 1,899 ลบ.ม./วินาที ต่อเนื่องเป็นวันที่ 2 เพื่อลดผลกระทบทั้งเหนือและท้ายเขื่อน สำหรับสถานีวัดน้ำ C. 2 ที่นครสวรรค์ระบายน้ำอยู่ที่ 1,934 ลบ.ม.ต่อวินาที สถานีวัดน้ำ C 29A อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งรับน้ำมาจากเขื่อนป่าสักฯ ระบายอยู่ที่ 1,757 ลบ.ม.ต่อวินาที (จุดนี้ไม่ควรเกิน 2,500 ลบ.ม.ต่อวินาที และหากระดับน้ำสูงเกินกว่า 3,500 ลบ.ม./วินาที มีโอกาสเกิดน้ำท่วมใหญ่ กทม.และปริมณฑลเช่นปี 2554)

ขณะที่ระดับน้ำเจ้าพระยา ปี 2554 สถานี C.2 อ.เมืองนครสวรรค์ ปริมาณน้ำไหลผ่านแม่น้ำเจ้าพระยา 4,236 ลบ.ม.ต่อวินาที (สูงสุดอยู่ที่ 4,686 ลบ.ม.ต่อวินาที ณ 13 ต.ค.2554) เขื่อนเจ้าพระยา อ.สรรพยา จ.ชัยนาท ปริมาณระบายน้ำไหลผ่าน 3,703 ลบ.ม.ต่อวินาที (สูงสุดอยู่ที่ 3,721 ลบ.ม.ต่อวินาที ณ 21 ก.ย. 2554)

สำหรับจำนวนพื้นที่้น้ำท่วมในขณะนี้ อัปเดตเมื่อวันที่ 29 ก.ย. 2567 โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ระบุว่าระหว่างวันที่ 16 ส.ค.-29 ก.ย. เกิดสถานการณ์น้ำท่วมทั้งหมด 37 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ตาก พะเยา น่าน ลำพูน ลำปาง แพร่ อุตรดิตถ์ สุโขทัย พิษณุโลก นครสวรรค์ เพชรบูรณ์ เลย อุดรธานี หนองคาย นครพนม ขอนแก่น ชัยภูมิ มหาสารคาม บึงกาฬ หนองบัวลำภู อุบลราชธานี ปราจีนบุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี ระยอง ชุมพร สุราษฎร์ธานี ภูเก็ต ยะลา นครศรีธรรมราช พังงา ตรัง และสตูล

มีพื้นที่ได้รับผลกระทบ 219 อำเภอ 940 ตำบล 5,002 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 181,870 ครัวเรือน มีผู้เสียชีวิตรวม 49 ราย และได้รับบาดเจ็บรวม 28 คน

ปัจจุบันยังมีสถานการณ์น้ำท่วมอยู่อีก 17 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ น่าน ลำปาง ลำพูน แพร่ ตาก เพชรบูรณ์ พิษณุโลก สุโขทัย หนองคาย อุดรธานี ชัยภูมิ มหาสารคาม อุบลราชธานี ปราจีนบุรี และพระนครศรีอยุธยา ได้รับผลกระทบ 75 อำเภอ 295 ตำบล 1,466 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 39,879 ครัวเรือน

 

Related posts

กรรมการชาติเห็นชอบร่างพรบ.โลกร้อน เดินหน้าสู่เศรษกิจคาร์บอนต่ำ

จัดเดิน-วิ่ง มินิมาราธอน ปีที่ 2 ส่งต่อขาเทียมช่วยผู้พิการยากไร้

‘COP-19’ ดันอาเซียน เป็นภูมิภาคปลอด หมอกควัน