ทางออกนิคมฯจะนะ จ.สงขลา จ้างที่ปรึกษาศึกษาผลกระทบ สภาพัฒน์คุมแผนพัฒนาเชิงพื้นที่

เตรียมจ้างที่ปรึกษาจัดทำประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ แต่งตั้งเลขาสภาพัฒน์กำกับแผนพัฒนาเชิงพื้นที่ เปิดรับฟังความเห็นรวม 4 กลุ่ม ภายในเดือน มี.ค. นี้

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ แถลงเรื่อง แนวทางการจัดทำการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (SEA) สำหรับแผนพัฒนาเชิงพื้นที่ : กรณีอำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา เมื่อวันที่ 15 ก.พ. 2565 ว่า ที่ผ่านมา สศช. ได้หารือร่วมกับนักวิชาการทั้งส่วนกลางและในพื้นที่ รวมทั้งได้ยกร่างกรอบการดำเนินการจัดทำ SEA (TOR) เพื่อใช้ประกอบการดำเนินงานในระยะต่อไป ดังนี้ 

  1. จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นในประเด็นสำคัญ ๆ ที่เป็น Key Success Factors สำหรับการจัดทำ SEA เพื่อนำความเห็นที่ได้มาปรับปรุงร่างกรอบการดำเนินการจัดทำ SEA (TOR) สำหรับใช้ในการจ้างที่ปรึกษาที่เหมาะสม ซึ่งกำหนดให้มีการประชุมรับฟังความคิดเห็นจำนวน 5 ครั้งใน 4 กลุ่ม ประกอบด้วย 1) กลุ่มภาครัฐและเอกชน 2) กลุ่มผู้ห่วงใยผลจากการพัฒนา 3) กลุ่มแนวร่วมการพัฒนา และ 4) กลุ่มนักวิชาการ โดยเมื่อวันที่ 10 ก.พ. ที่ผ่านมา สศช. ได้จัดประชุมรับฟังความคิดเห็น ครั้งที่ 1 สำหรับภาครัฐและเอกชนไปแล้ว คาดว่าจะจัดการประชุมในอีก 3 กลุ่ม และประชุมร่วมทั้ง 4 กลุ่ม ได้ภายในเดือน มี.ค. ที่จะถึงนี้
  2. เสนอแต่งตั้งคณะกรรมการกำกับการจัดทำ SEA สำหรับแผนพัฒนาเชิงพื้นที่ซึ่งมีเลขาธิการสภาพัฒน์และปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานร่วมกัน รวมทั้งมีผู้ทรงคุณวุฒิด้านต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และ SEA เพื่อทำหน้าที่พิจารณาให้ความเห็นชอบ TOR และกำหนดหลักเกณฑ์ในการคัดเลือกที่ปรึกษา ตลอดจนกำกับการจัดทำ SEA
  3. จัดทำกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างเพื่อคัดเลือกที่ปรึกษาในการจัดทำ SEA และ 4. กำกับการจัดทำ SEA ภายใต้คณะกรรมการกำกับฯ ตามแนวทางการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (ฉบับปรับปรุง) ที่ สศช. จัดทำขึ้น ซึ่งระยะเวลาดำเนินการขึ้นอยู่กับแผนพัฒนาและขอบเขตของพื้นที่ที่จะทำการศึกษา

จากนั้นจึงจะนำผลการศึกษา SEA กับแผนพัฒนาเชิงพื้นที่เสนอต่อคณะกรรมการนโยบายระดับชาติที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำไปใช้ปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป

การดำเนินการของสภาพัฒน์เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 14 ธ.ค. 2564 ที่มอบหมายให้ สศช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันจัดให้มีการจัดทำ SEA โดยให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินการ รวมทั้งให้หน่วยงานของรัฐและทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องรอผล SEA ให้เป็นที่ยุติก่อนการดำเนินการต่อไป 

เลขาธิการฯ ชี้แจงว่า SEA เป็นเครื่องมือที่ช่วยในกระบวนการตัดสินใจในการวางแผน โดยคำนึงถึงปัจจัยด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม อย่างสมดุล ทั้ง 3 ด้าน และให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะช่วยป้องกันปัญหาความขัดแย้งที่อาจเกิดขึ้น และนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน โดยในหลักการจัดทำ SEA ที่มีประสิทธิภาพควรดำเนินการก่อนการพัฒนาในพื้นที่หรือก่อนเกิดความขัดแย้งขึ้น ดังนั้น การจัดทำ SEA ตามมติ ครม.ซึ่งเป็นกรณีที่มีความขัดแย้งขึ้นแล้วจำเป็นต้องดำเนินการอย่างรอบคอบ 

ทั้งนี้ สศช. จะอัปเดตข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการจัดทำ SEA อย่างต่อเนื่อง สามารถติดตามได้ทางเว็บไซต์ของสภาพัฒน์ และเพจ Facebook การขับเคลื่อนการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ – SEA

Related posts

‘เฉลิมชัย’ นำทีมไทยถก COP29 นำเสนอ 5 ประเด็นลดก๊าซ 222 ล้านตัน

ค่าฝุ่นปากีสถานทะลุ 1,900 รั้งอันดับโลก อ้างพัดข้ามพรมแดนจากอินเดีย

โลกจมกองพลาสติก ต้องเปลี่ยนวิธีผลิต ลดการบริโภค กำจัดอย่างยั่งยืน