เชียงใหม่อากาศแย่ (มากๆ) แล้ว?

เชียงใหม่…จังหวัดที่คนกรุงเทพฯ มาซุกตัวอยู่มากสุดแห่งหนึ่ง กำลังประสบวิกฤตฝุ่นควันอย่างหนัก

แต่ก็ดูเหมือนไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจังเท่าไรนัก

จะว่าไปจังหวัดทางภาคเหนือ เผชิญปัญหาหมอกควันมาร่วม 15 ปี แล้วไม่ใช่เฉพาะเชียงใหม่ และทุกๆ ปีก็จะมีการระดมสรรพกำลังมาหาทางแก้ไข และปัญหามันก็ค่อยๆ เงียบหายไป เมื่อฝุ่นจาง

ภราดล พรอำนวย กลุ่มศิลปินนักดนตรีเชียงใหม่ บอกว่า ปีก่อนนี้การจัดการปัญหาฝุ่นดีกว่านี้ แต่พอปีนี้กรุงเทพฯ เจอฝุ่นพิษ PM2.5 ที่เชียงใหม่กลับไม่ได้รับความสนใจ ทั้งที่ปัญหารุนแรงมาก ขณะที่ กทม.ภาครัฐสั่งหยุดโรงเรียน แต่เชียงใหม่หรือจังหวัดภาคเหนือกลับไม่มีมาตรการการจัดการจากภาครัฐที่เป็นรูปธรรม

“พวกเรากลุ่มศิลปินและนักดนตรี จึงหารือกันว่าภาคประชาชนควรลงมือแก้ปัญหากันเอง จึงเริ่มไปคุยกับเด็ก คุยกับหมอ และผู้ปกครองทั้งหลายว่าคิดเห็นอย่างไร และควรจะทำอะไรกันบ้าง

น้องซิน เด็กนักเรียนชั้น ป.1 วัย 6 ขวบ ตอบด้วยเสียงใสๆ ว่า ‘ก็ไม่เผาซิคะ’”

เป็นน้ำเสียงซื่อๆ ของเด็กน้อย ต่อมาพวกเขาไปคิดกันต่อว่าความหมายคำนี้กว้างและครอบคลุมปัญหาไปอีกมาก เป็นต้น ว่าการเผาไหม้ของเชื้อเพลิงหรือน้ำมันรถยนต์ก็เป็นส่วนหนึ่งของปัญหา ฉะนั้นหากจะแก้ไขต้องมองระบบการขนส่งระยะยาวด้วย

คราวนี้มีคำถามขึ้นว่า แล้วเราจะส่งสารคำว่า “ไม่เผา” ออกไปยังงัย เด็กบางคนบอกว่าก็ไปเดินเคาะประตูบ้านแต่ละบ้านซิ ใช่มันเป็นความเห็นบริสุทธ์จากเด็กๆ วัย 4-7 ขวบ

“ต่อมาเราเลยมาชวนคุยกับผู้ปกครองแล้วนัดมาเจอกันเพื่อให้เด็กๆ วาด ‘ธง’ เพื่อใช้เป็นสัญลักษณ์สำหรับใช้ในการสื่อสาร โดยที่ไม่ได้มีธีมอะไรมาก แค่ให้รู้ว่าเป็นการแสดงฝีมือของเด็กๆ ตัวน้อยๆ โดยที่พวกผู้ใหญ่อย่างพวกเราคอยเขียนคำว่า PM2.5 ลงไปเท่านั้น

เราคุยกันมา 1-2 เดือนแล้วว่าจะทำอย่างไรดี ผมเองก็ไปร่วมแลกเปลี่ยนกับกลุ่มไทยพร้อม และคุณหมอวิรุฬจาก สช.  แล้วก็ตกผลึกว่า คนที่ได้รับผลกระทบมากจะต้องเป็นคนสื่อสาร ซึ่งนั่นคือเด็ก”  นี่เป็นที่มาของการร่วมกันวาดภาพของเด็กๆ และทยอยกันออกไปยืนชูป้ายตามจุดต่างๆ ในเมืองเชียงใหม่ (ตามภาพ) เมื่อวันเสาร์ที่ 9 มีนาคม  2562  ที่ผ่านมานี้

ภราดล  เล่าอีกว่า พวกเขาตั้งใจให้เด็กส่งสารเหล่านี้ไปยังเด็กในเชียงใหม่ ในจังหวัดภาคเหนือ และเด็กๆ ในทุกจังหวัดที่ต้องเผชิญปัญหาหมอกควัน ส่งไปให้ถึงผู้ใหญ่ด้วยว่าควรจะจัดการปัญหานี้อย่างไร จะต้องมีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างพืชเศรษฐกิจหรือไม่ เพราะสุดท้ายเราทุกคน เพื่อนเราทุกคนเป็นผู้ได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะลูกหลานซึ่งเป็นอนาคตที่จะต้องอยู่และอาจต้องใส่หน้ากากไปตลอดชีวิต

นี่เป็นเสียงสะท้อนจากกลุ่มนักดนตรี ซึ่งต้องใช้ชีวิตอยู่ใจกลางเมือง แต่เสียงเหล่านี้จะไปเข้าหูผู้ใหญ่มากแค่ไหน ปัญหาจะได้รับการแก้ไขเพียงใด ชาวเชียงใหม่คงต้องช่วยกันออกมาบอกดังๆ กันให้บ่อยครั้ง…อีกครั้ง

#igreenstory #/ฝุ่นพิษ #เชียงใหม่ #PM

Related posts

กรรมการชาติเห็นชอบร่างพรบ.โลกร้อน เดินหน้าสู่เศรษกิจคาร์บอนต่ำ

ฝุ่น PM2.5 พุ่ง ‘หอฟอกอากาศระดับเมือง’ คืนชีวิตให้คนกรุง อย่างไร

ชุบชีวิต ‘ขยะทะเล’ เพิ่มมูลค่า ชุมชนยั่งยืน ลดโลกร้อน