นโยบายผู้ว่าฯ สัญจร ‘ชัชชาติ’ ลุยคลองเตยเขตแรก สั่งรวบสายสื่อสารรกรุงรัง 20 กม.

credit : ฺBangkok Post

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ชุมชนคลองเตยเป็นเขตแรกเมื่อวันที่ 19 มิ.ย. 2565 ตามนโยบาย “ผู้ว่าฯ สัญจร 50 เขต” โดยระบุตอนหนึ่งว่า  หลังจากรับฟังปัญหาต่าง ๆ ทั้งที่สำนักงานเขตรายงาน และที่ฟังจากประชาชนในพื้นที่มาแล้ว ได้ให้นโยบายกับสำนักงานเขตเร่งรัดแก้ไขปัญหาต่าง ๆ อย่างเป็นรูปธรรม เช่น ปัญหาสายสื่อสารรกรุงรังจะเลือกเส้นทางที่สามารถตัดสายสื่อสารที่ไม่จำเป็นออก อาจจะยังไม่สามารถลงดินได้ทั้งหมด แต่อย่างน้อยตัดสายตายที่ไม่ได้ใช้งานออกแล้วรวบสายให้เป็นระเบียบเรียบร้อยมากขึ้น

สำหรับการใช้ระบบรับร้องเรียนผ่าน Taffy Fondue  อุปกรณ์ช่วยประชาชนในการแจ้งเหตุ โดยเขตคลองเตยมีประชาชนแจ้งมา 900 กว่าเรื่อง แก้ไขแล้ว 142 เรื่อง จากปัญหาทั้งหมดที่คนกทม.ร้องเรียนกว่า 20,000 เรื่อง ซึ่งสามารถแก้ไขไปแล้วกว่า 3,000 เรื่อง ขณะนี้อยู่ระหว่างการปรับปรุงระบบเพื่อให้การทำงานสะดวกรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ และตอบโจทย์ประชาชนมากขึ้น โดยจะประสานงานกับหน่วยงานภายนอก เช่น ตำรวจ การประปานครหลวง การไฟฟ้านครหลวง ฯลฯ ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหาในระบบแจ้งเหตุนี้ต่อไป

“วันนี้เป็นตัวอย่างที่คิดว่าเป็นประโยชน์มาก ได้รับทราบปัญหาของชุมชนอย่างแท้จริงในรายละเอียดปลีกย่อย เช่น ปัญหาน้ำท่วมขัง การเก็บขยะล่าช้า พอทราบปัญหาก็สามารถแก้ไขได้โดยตรง อีกทั้งเป็นการมาตรวจเยี่ยมแบบไม่นัดหมาย เป็นการพบประชาชนจริง ๆ ที่ผ่านมาหลายครั้งประชาชนบอกว่า ผู้ว่าฯ มาเฉพาะตอนเลือกตั้ง พอหลังจากเลือกตั้งก็หายไปเลย

“แต่เราก็จะกลับมาและฟังประชาชน เราจะลงไปตรวจเยี่ยมเวียนกันไปทุกเขต ไม่เกินหนึ่งปี ครบ 50 เขต แน่นอน ถือว่าทำให้ข้าราชการตื่นตัวขึ้น รับฟังปัญหาโดยตรง เชื่อว่าจะเป็นมิติที่ทำให้ชีวิตคนกรุงเทพฯ ดีขึ้น” ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าว

ก่อนหน้านั้นได้กล่าวระหว่างประชุมผู้บริหารสำนักงานเขตคลองเตยว่า ที่ตนเองชอบพูดคือ เรื่องหินก้อนใหญ่ ที่จะเอาอะไรใส่ก่อนใน 3 อย่าง ดังนั้นสิ่งแรกคือ เรื่องทุจริตคอรัปชั่น อย่างที่สองคือ ประสิทธิภาพในการให้บริการ ต้องทำให้จบและทำให้เร็ว อย่างที่สามคือ people centric โดยจะต้องเน้นคนเป็นหลัก สำนักงานเขตจะต้อง ‘หันหลังให้ผู้ว่าฯ และหันหน้าให้ประชาชน’  ซึ่งหากทำงานแบบนี้ตนเองก็จะเป็นผู้หนุนหลังให้ และพร้อมจะยืนอยู่ข้างทุกคนในการทำงาน

สำหรับแนวทางการแก้ปัญหาในแต่ละเขต นายชัชชาติ ยกตัวอย่างปัญหาหาบเร่แผงลอย สาธารณสุข นักท่องเที่ยวต่างประเทศ คนเร่ร่อน การขายของตามสี่แยก สายสื่อสาร เป็นต้น ได้ให้นโยบายว่า การแก้ให้เป็นรูปธรรม

“เช่น เลือกพื้นที่มาหนึ่งพื้นที่ในการแก้ไขปัญหาก่อน  เริ่มได้เลย คือ สายไฟมี 2 แนว คือ สายตายที่ไม่ได้ใช้แล้วตัดออกได้เลย ไม่ยาก ขอประสานงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ทำได้แล้ว พอเอาออกไปก็จะสะอาดขึ้นแล้ว จากนั้นขั้นตอนต่อไปอาจจะลงดิน

“หลักการคือ อย่าเพิ่งทำทั้งเขต อาจจะให้ทำเขตละ 20 กิโลเมตร โดยเลือกจุดที่เชื่อมต่อกัน เช่น คลองเตย ไปต่อปทุมวัน และทำให้เห็นเป็นรูปธรรมก่อน และสามารถไปขยายผลต่อได้ ดังนั้น ในเดือนแรกต้องเห็นแล้วว่าจะไปทำอะไรที่จุดไหนบ้าง”

“ถ้าทำจุดหนึ่งได้แล้วค่อย ๆ ขยายไปยังจุดอื่นๆ จากนั้นก็จะมาแก้ปัญหาได้แบบเชื่อมโยงทั้งกรุงเทพฯ เพราะรู้แล้วว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร ต้องติดต่อหน่วยงานไหนบ้าง”นายชัชชาติกล่าว (ใช้แนวทางการสร้าง sandbox ขึ้นมาแก้ปัญหา)

Related posts

จัดเดิน-วิ่ง มินิมาราธอน ปีที่ 2 ส่งต่อขาเทียมช่วยผู้พิการยากไร้

‘COP-19’ ดันอาเซียน เป็นภูมิภาคปลอด หมอกควัน

5 ปีอุณภูมิโลกส่อทะลุ 1.5 องศา ไทยเร่งรับมือ 6 สาขาเสี่ยงระดับพื้นที่