ชัชชาติลุย 16 แผนสู้ฝุ่น PM2.5 ดันราชการใช้รถอีวี-ตรวจควันดำ ทส.ตั้งกรมสู้โลกร้อน ต.ค.ปีหน้า

ชัชชาติเดินหน้าแผนฏิบัติการแก้ฝุ่น PM2.5 16 ด้าน มั่นใจปีหน้าฝุ่นพิษลดลง ผลักดันรถราชการใช้รถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้นและจะตรวจควันดำทั้งหมด เล็งกำหนดเขตปลอดฝุ่น

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยเมื่อวันที่ 25 ก.ค. ที่ผ่านมาว่า หลังจากได้หารือกับ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เมื่อเร็วๆ นี้ จึงได้ตั้งคณะทำงานร่วมกันโดยมีปลัด ทส. กับ ปลัด กทม. เป็นหัวหน้าคณะทำงาน และได้กำหนด 16 แผนปฏิบัติการ (Action Plan) แก้ปัญหาฝุ่น PM2.5

ประกอบด้วย 1. วินิจฉัยหาต้นเหตุ คือตอนนี้เราไม่มีงานวิจัยเรื่องฝุ่นที่ต่อเนื่อง 2. ทำโครงการนักสืบฝุ่น 3. การแจกอุปกรณ์ป้องกันฝุ่น เพราะมีกลุ่มเปราะบางที่ต้องการหน้ากาก 4. การตรวจโรงงานทั้งหมด แหล่งที่มาของฝุ่นหลักๆ คือมาจากรถยนต์ โรงงาน จากการเผาชีวมวล การก่อสร้าง

5. การใช้ CCTV ในการจับรถปล่อยควันดำ สามารถไปดูทะเบียนได้ เป็นตัวช่วยในการหารถที่มีปัญหา 6. การพัฒนาโครงการและผู้ประกอบการ โดยในเดือน ต.ค.จะมีการออกประกาศหรือเงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาตการก่อสร้าง ต้องไม่ใช้รถที่ปล่อยมลพิษทางอากาศ ให้เป็นมาตรการเข้มข้นซึ่งเมื่อก่อนไม่มีมาตรการนี้ โดยรถบรรทุกวัสดุก่อสร้างที่เข้ามาในไซต์งานจะต้องไม่ก่อให้เกิดมลพิษ

7. มีการแจ้งเตือนฝุ่น PM 2.5 มีการใช้การพยากรณ์ที่แม่นยำ ร่วมมือกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 8. Traffy Fondue เป็นตัวแจ้งเหตุ 9. เฝ้าระวังกิจกรรมที่สำนักงานเขตดำเนินการ เช่น กิจกรรมที่ทำให้เกิดฝุ่น การเผาศพ เรื่องการจุดธูป 10. มี Open Data ข้อมูลฝุ่นให้ประชาชนเห็นได้ชัดเจน มีการตรวจวัดรถควันดำร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

12. พยายามให้รถราชการใช้รถพลังงานไฟฟ้ามากขึ้น 13. การตรวจควันดำในสถานที่ก่อสร้าง/แพลนท์ปูน 14. การตรวจควันดำของรถราชการทั้งหมด 15. ขยายระบบตรวจวัดแต่เดิมมีอยู่ประมาณ 70 จุดของกทม ขยายเพิ่มเป็น 1,000 จุด โดยร่วมกับภาคส่วนต่างๆ มีเครือข่ายของบริษัท NT มาร่วม รวมถึงกระทรวง ทส.ซึ่งตอนนี้มีอยู่ 12 จุด

และ 16. กำหนดพื้นที่ BKK Clean Air Area  คือพื้นที่ที่มีความหนาแน่น พยายามจะลดฝุ่นลง จำกัดการเข้าพื้นที่ หาแรงจูงใจในการลดการเข้าพื้นที่ที่มีฝุ่น PM 2.5 มาก

“แผนปฏิบัติการย่อย 16 แผน ได้ดำเนินการแล้วเพราะว่าการทำเรื่องฝุ่นต้องเตรียมตัวนาน ช่วงปลายปีหน้าฝุ่นน่าจะบรรเทาลงไปได้ ต่อไปคงมีหน่วยงานอื่นมาร่วม เป็นตำรวจหรือกรมการขนส่งทางบก ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่ในการรับผิดชอบเรื่องนี้อยู่แล้ว” ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าว

ด้าน นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ในฐานะที่ปรึกษาคณะทำงานศึกษาการจัดตั้งกรมเพื่อรองรับภารกิจด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ได้ตั้งเป้าภายใน 1 ต.ค. 2566 ประเทศไทยต้องมีกรมรองรับภารกิจด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อแสดงให้ประเทศในอาเซียนได้เห็นถึงความตั้งใจของรัฐบาลไทยในการยกระดับการแก้ไขปัญหาโลกร้อนอย่างจริงจัง

อีกทั้งเชื่อมโยงกับนโยบายของนายกฯ ที่ได้แสดงเจตนารมณ์ไว้ในการประชุม COP26 ในการให้ความสำคัญสูงสุดกับการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อการบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี 2050 และการบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี 2065

Related posts

จัดเดิน-วิ่ง มินิมาราธอน ปีที่ 2 ส่งต่อขาเทียมช่วยผู้พิการยากไร้

‘COP-19’ ดันอาเซียน เป็นภูมิภาคปลอด หมอกควัน

5 ปีอุณภูมิโลกส่อทะลุ 1.5 องศา ไทยเร่งรับมือ 6 สาขาเสี่ยงระดับพื้นที่