‘ชัชชาติ’ สุดทนกลิ่นเน่า สั่งลอก ‘คลองไผ่สิงโต’ ด่วน! เร่งปรับปรุงระบบระบายน้ำ

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กรุงเทพมหานคร ถ่ายทอดสดผ่านเฟซบุ๊ก ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ เมื่อวันที่ 5 ก.ค. 2565 ขณะวิ่งออกกำลังกายที่สวนลุมพินี เขตปทุมวัน  กทม. โดยช่วงหนึ่งขณะวิ่งถึงคลองไผ่สิงโต นายชัชชาติกล่าวว่า เน่ามากเหม็นมาก นี่คือปัญหาหลักที่ต้องดำเนินการ มีบ้านเรือนรุกล้ำบางจุด

นายชัชชาติชี้ให้ชมจุดรับน้ำจากอุโมงค์มักกะสันที่รับน้ำท่วมก่อนส่งไปยังแม่น้ำเจ้าพระยา โดยระบุว่า ปัญหาคือคลองไผ่สิงโตที่เน่าเสียมาก ส่วนปลายเชื่อมกับคลองหัวลำโพง ตลาดคลองเตย

“ถ้าใครเคยมาจะได้กลิ่นเหม็น เน่ามาก ดูสภาพน้ำ ตรงนี้ต้องทำการขุดลอกด่วน และปรับปรุงระบบระบายน้ำ” นายชัชชาติกล่าว

สำหรับ คลองไผ่สิงโต เป็นคลองขุดขนาดใหญ่และยาวในรัชสมัย ร.5 ตามพระราโชบายพัฒนาพื้นที่ลุ่มทางด้านตะวันออกของพระนคร ให้เป็นพื้นที่เกษตรกรรม ตามแนวคิดแบบตะวันตกของกระทรวงเกษตราธิการ ต่อเนื่องกับพื้นที่สวนหลวง โดยถูกใช้เป็นพื้นที่ปฏิบัติการด้านแผนที่และการเกษตร โดยเฉพาะชลประทาน

สภาพคลองไผ่สิงโต บริเวณใกล้เคียงสวนเบญจกิติ

พื้นที่ทดลองดังกล่าวจึงต่อเนื่องจากวังใหม่ (ปัจจุบันคือ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) ไปทางทิศตะวันออก ตามแนวคลองตรง (คลองขุดในสมัยรัชกาลที่ 4 ปัจจุบันคือถนนพระรามที่ 4) ไปจนถึงคลองเตย

เพื่อการระบายน้ำเข้าและออก และกำหนดขอบเขตพื้นที่ จึงมีการขุดคลองหลายสาย เชื่อมคลองตรงกับคลองแสนแสบที่อยู่ทางด้านเหนือ ได้แก่ คลองสวนหลวง (ใกล้ถนนบรรทัดทอง) คลองตรงถนนพญาไท คลองอรชร (ปัจจุบันอยู่ใต้ถนนอังรีดูนังต์) และคลองราชดำริ (ถนนราชดำริ)

รวมทั้งคลองที่คู่ขนานกับคลองตรงที่เริ่มจากคลองอรชร ตัดผ่านคลองราชดำริไปทางทิศตะวันออกจนถึงคลองเตย ในพื้นที่ตำบลไม้สิงโต เมื่อปี 2446

อย่างไรก็ตาม แนวคลองดังกล่าวไม่ปรากฏแล้ว ด้วยแนวคลองที่เริ่มจากถนนอังรีดูนังต์ (คลองอรชร) ถึงถนน (คลอง) ราชดำริ ที่อยู่ในพื้นที่สภากาชาดไทยนั้นถูกถมไปหมดแล้ว

เช่นเดียวกับแนวคลองจากถนนราชดำริถึงถนนวิทยุ ปัจจุบันกลายเป็นถนนสารสิน ที่ตรงกลางถนนมีเสาไฟฟ้าแรงสูงเรียงรายตลอดแนว จากถนนวิทยุไปจนถึงทางด่วนเฉลิมมหานคร จะเหลือเป็นเพียงทางน้ำเล็ก ๆ กลางชุมชนร่วมฤดีและซอยสนามคลี จะมีเพียงแนวคลองจากทางด่วนเฉลิมมหานคร จนถึงถนนรัชดาภิเษกเท่านั้นที่ยังเหลือให้เห็นชัดเจน

นอกจากนี้ นายชัชชาติ กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการบริหารโครงการเชื่อมสวนสาธารณะเบญจกิติกับสวนลุมพินี ครั้งที่ 1/2565 ว่า กทม. รับผิดชอบในส่วนของสะพานเขียวที่เชื่อมระหว่างสวนลุมพินีและสวนเบญจกิติ ซึ่งมีปัญหาความลาดชัน ทำให้ผู้สูงอายุเดินไม่สะดวก กทม. มีงบประมาณอยู่แล้ว 260 ล้านบาท ได้ประมูลผ่านระบบออนไลน์ไปแล้ว 2 ครั้ง คาดว่าจะใช้เวลา 1 ปี

ขณะเดียวกัน กทม.ต้องรับผิดชอบการปรับปรุงทางเชื่อมบริเวณซอยสุขุมวิท 10 ที่เป็นสะพานไม้ เฉพาะส่วนที่เกี่ยวข้องกับการเชื่อมโยงสวนเบญจกิติ คาดว่าจะใช้วงเงินไม่เกิน 500 ล้านบาท เพราะต้องแก้ปัญหาน้ำเน่าในคลองไผ่สิงโตที่เหม็นเน่ามากด้วย

อ้างอิง:

https://www.matichon.co.th/local/quality-life/news_3436169

https://tna.mcot.net/politics-972120

Related posts

เป้าหมาย NDC ความมุ่งมั่นของไทย ก้าวย่างสู่ Net Zero และโลกยั่งยืน

COP29 มุ่งมั่นเป้าหมายทางการเงินใหม่ ชาติพัฒนาแล้วจ่าย 1 แสนล้าน

‘เฉลิมชัย’ พาหมูเด้งบุก COP29 เปิด Thailand Pavilion โชว์แก้โลกเดือด