‘ชัชชาติ’ เริ่มงานวันแรก ประเดิมปลูกต้นไม้ 100 ต้น ประชาชนจองปลูกผ่านแอปได้

ผู้ว่าฯ ชัชชาติเริ่มงานวันแรกปลูกต้นไม้ 100 ต้น ณ สวนเบญจกิติ เตรียมให้ประชาชนจองสิทธิ์ในการปลูกต้นไม้ผ่านทางแอปเพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้เมืองกรุง

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ เข้ารับตำแหน่งผู้ว่ากรุงเทพมหานคร (กทม.) เมื่อวันที่ 1 มิ.ย. 2565 อย่างเป็นทางการเป็นวันแรก โดยหลังแถลงข่าวเปิดตัวรองผู้ว่าฯ ทั้ง 4 คน และทีมงานแล้วได้เริ่มนโยบายแรกด้วยการปลูกต้นไม้ 100 ต้นแรก ณ สวนเบญจกิติ เขตคลองเตย โดยจะปลูกต้นไม้ครบ 1 ล้านต้นใน 50 เขต ภายใน 4 ปี

ทั้งนี้ จะเปิดให้ประชาชนสมัครจองปลูกต้นไม้ผ่านแอปพลิเคชั่นได้ด้วยตัวเอง เพื่อจะได้บันทึกลงแอปว่าใครเป็นปลูกและจะดูแลต้นไม้ให้โตไปด้วยกัน “คนที่เลือกผมก็ 1.8 ล้านคะแนน ก็สามารถนำไปปลูกเกิน 1 ล้านต้นได้แล้ว ใครอยากช่วยปลูกก็แจ้งมาได้ อย่าช้า เพราะระวังจะหมดเร็วนะ”

การปลูกต้นไม้ตามนโยบายผู้ว่าฯ กทม.นั้นสามารถปลูกที่ไหนก็ได้ โดยมีทั้งที่ทาง กทม.อาจจะหาสถานที่ปลูกให้ หรือปลูกในพื้นที่เอกชนซึ่งไม่ได้ใช้ประโยชน์ก็เอามาปลูกต้นไม้ได้ แต่โดยหลักแต่ละเขตจะปลูกสัปดาห์ละ 100 ต้น 4 ปีก็ได้จำนวน 1 ล้านต้น ซึ่งไม่ได้ใช้งบประมาณมาก

สำหรับพันธุ์ไม้ที่นำมาปลูก ประกอบด้วย ไม้มงคล อาทิ ดอนญ่า พันธุ์ควีนสิริกิติ์ แก้วเจ้าจอม ราชพฤกษ์ สาละลังกา โมกราชินี โมกหลวง พืชอาหารนก อาทิ ต้นโพธิ์ ต้นหว้าลูกน้อย ต้นอินจันทร์ และพืชพื้นถิ่นสำคัญ อาทิ กุ่มน้ำ กุ่มบก เกาลัดบ้าน ตลิงปิง ปีบ มะรุม อบเชย อินทนิล เป็นต้น

กิจกรรมการปลูกต้นไม้วันนี้ถือเป็นการเริ่มทำตามนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมที่นายชาติประกาศไว้ 1 ใน 214 นโยบายที่จะปลูกต้นไม้ล้านต้นเพื่อสร้างพื้นที่สีเขียวและกำแพงกรองฝุ่นทั่วกรุงเทพฯ โดยแบ่งการปลูกเป็น 400 ต้น/เขต/สัปดาห์ เพื่อให้ครบล้านต้นใน 4 ปี และแบ่งแนวคิดการดำเนินการ ดังนี้

  1. ปลูกเพื่อลดฝุ่นและมลพิษ โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีกิจกรรมของประชาชนหนาแน่น เพื่อสร้างประสิทธิภาพสูงสุดสำหรับการดักจับมลพิษและฝุ่น
  2. ปลูกให้เกิดร่มเงาในการใช้ชีวิต ในพื้นที่ที่มีกิจกรรมกลางแจ้งของประชาชนหนาแน่น
  3. ปลูกเพื่อส่งเสริมความหลากหลายของระบบนิเวศน์เมือง โดยหารือร่วมกับผู้เชี่ยวชาญและรุกขกรประจำเขต จัดทำแนวทางการปลูกต้นไม้ การคัดเลือกพันธุ์ไม้ที่เหมาะสมกับสภาพดิน สภาพอากาศ
  4. ปลูกให้ชุมชนมีรายได้ด้วยการสนับสนุนให้ชุมชนเกษตรกรรมในกรุงเทพฯ เพาะกล้าไม้ โดย กทม.เป็นผู้รับซื้อ สร้างรายได้ให้แก่ชุมชน
  5. ปลูกให้คนและต้นไม้โตไปพร้อม ๆ กัน โดยแจกกล้าให้กับนักเรียนและประชาชนที่สนใจปลูกคนละ 3 ต้น และจัดกิจกรรมร่วมกันปลูกต้นไม้ทุกวันอาทิตย์ ให้วันอาทิตย์เป็นวันปลูกต้นไม้กรุงเทพฯ

ภาพจาก: ข่าวสด

อนึ่ง นายชัชชาติได้แจ้งผ่านเพจว่า หลังจากเลือกตั้งจบแล้ว ทีมงานเพื่อนชัชชาติจึงนำทราฟฟี่ฟองดูว์ (Traffy Fondue) กลับมาใช้อีกรอบ เพื่อให้เราทุกคนได้รายงานปัญหาที่ได้พบเจอรอบตัวเราว่าจุดไหนใน กทม.มีปัญหาอะไรบ้าง ผมขออธิบายถึงวิธีใช้งานให้พวกเราอีกรอบครับ

  1. แอดไลน์เพื่อนชัชชาติได้ที่ https://lin.ee/CoxpWSN (หรือเข้าทราฟฟี่ฟองดูว์โดยตรงที่ https://landing.traffy.in.th?key=teamchadchart )
  2. เมื่อเจอปัญหาของเมือง ให้รายงานผ่านไลน์เพื่อนชัชชาติ โดยคลิกที่ “รายงานปัญหาเส้นเลือดฝอย” ระบุรายละเอียดปัญหา ถ่ายรูป ส่งพิกัดแจ้ง ด้วยการพูดคุยกับ Chatbot ข้างต้น
  3. ระบบหลังบ้านจะทำการรวบรวมปัญหา จัดทำสถิติ และจัดลำดับความสำคัญ โดยสามารถดูภาพรวมได้ที่ https://share.traffy.in.th/teamchadchart
  4. ระบบจะแจ้งกลับเมื่อปัญหาได้รับการแก้ไข และมีการประมวลในภาพรวมว่าในแต่ละพื้นที่ มีแจ้งเรื่องอะไรมาบ้าง ค้างกี่เรื่อง แก้ไขเสร็จแล้วกี่เรื่อง

หัวใจของความสำเร็จของระบบนี้ คือ ความร่วมมือของประชาชน + ความตั้งใจจริงของภาครัฐในการแก้ปัญหา การพัฒนาให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่น่าอยู่ต้องอาศัยความร่วมมือของทุกคน ร่วมมือกันตั้งแต่วันนี้เพื่อกรุงเทพฯ ที่ดีของเราทุกคนครับ

Related posts

เป้าหมาย NDC ความมุ่งมั่นของไทย ก้าวย่างสู่ Net Zero และโลกยั่งยืน

COP29 มุ่งมั่นเป้าหมายทางการเงินใหม่ ชาติพัฒนาแล้วจ่าย 1 แสนล้าน

‘เฉลิมชัย’ พาหมูเด้งบุก COP29 เปิด Thailand Pavilion โชว์แก้โลกเดือด