‘ชัชชาติ’ ต่อยอด Traffy Fondue แก้ปัญหาขยะใน กทม.ให้ดีขึ้น แนะภาคเอกชนช่วยแยกตั้งแต่ต้นทาง

ภายหลังการประชุมคณะกรรมการกำกับและขับเคลื่อนการพัฒนาศักยภาพจัดการขยะมูลฝอยกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 1/2565 เมื่อวันที่ 5 ก.ค. 65 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวว่า ตั้งแต่หาเสียงเลือกตั้งเรื่องขยะเป็นประเด็นใหญ่ที่ประชาชนให้ความสนใจมาก และเป็นนโยบายที่ต้องดูแล

ทั้งนี้ กทม. ต้องใช้งบประมาณในการกำจัดขยะคร่าว ๆ กว่า 10,000 ล้านบาท ขณะที่ด้านสาธารณสุขใช้แค่ 6,000 ล้านบาท การศึกษา 4,000 ล้านบาท ฉะนั้นต้องมีวิธีที่จะบริหารจัดการขยะให้ดีขึ้น สิ่งสำคัญคือ กทม.ทำเองไม่ได้ เพราะว่าขยะมีทั้งต้นทาง กลางทาง ปลายทาง กทม. อาจจะดูเรื่องกลางทางกับปลายทางได้ แต่ภาคเอกชนต้องช่วยต้นทาง

“เรื่องแยกขยะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่สุด แต่คนส่วนใหญ่ไม่แยก เพราะบอกว่า กทม. เอาไปรวมกันที่รถอยู่ดี อันนี้คือจุดที่ทุกคนพูด ถ้าเราทำต้องร่วมมือกันทั้ง กทม. และภาคเอกชน นโยบายหลักๆ ที่เราคิดคือการแยกขยะ เริ่มจากง่ายๆ ก่อนคือ แยกขยะเปียกกับขยะแห้ง อันนี้ต้องทำเป็นรูปธรรมให้ได้ ซึ่งกทม. ต้องพัฒนาระบบขนส่งขยะเปียกให้ดี ไม่เอาไปรวมกัน

“แต่ถ้าเหลือจากขยะแห้งแล้วนำไปเป็น Reuse และ Recycle จะง่ายขึ้น จริงๆ แล้วหลายหน่วยงานอยากทำ ได้คุยกับ ปตท. ห้างสรรพสินค้าใหญ่ๆ อาจจะเลือกเขตบางเขตก่อน เป็นเขตชั้นใน เขตชั้นนอก เพราะสภาพพื้นที่แตกต่างกัน พัฒนาในการทำปุ๋ยหมัก การทำแปลงผัก ซึ่งอยู่ใกล้บ้านมีแหล่งที่มาที่ไป คิดว่าเป็นสิ่งหนึ่งที่ทำให้เราบริหารจัดการเรื่องการคัดแยกขยะได้” นายชัชชาติ กล่าว

ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวอีกว่า “หลายๆ เรื่องเรามีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ที่ชาวบ้านร้องเรียนเรื่องขยะอ่อนนุชที่ส่งกลิ่นเหม็น กทม.ต้องไปดูแลกระบวนการเก็บขยะให้ดี เรื่องขยะเป็นเรื่องอันดับต้นของสิ่งแวดล้อม มีเรื่องน้ำเน่า เรื่องฝุ่น เป็นคุณภาพชีวิตที่สำคัญของประชาชน  

“สุดท้ายเรามีการลงนามสัญญาหลายระบบล่วงหน้าไปเยอะ บางโครงการ 20 ปี ขยะจำนวนมากถูกจองวิธีการจัดการไปแล้ว การเผา การฝังกลบ การหมัก ต้องมาดูในส่วนที่เสียหรือที่เรามีโอกาสเข้าไปเปลี่ยนแปลงได้ สำนักสิ่งแวดล้อมต้องให้ข้อมูลกับคณะกรรมการฯ เพื่อจัดทำแผนให้สอดคล้องกับความเป็นจริง และนำไปปฏิบัติจริง”  

นอกจากนี้ในที่ประชุม สำนักสิ่งแวดล้อมได้รายงานแนวทางการจัดการขยะสำหรับสถานศึกษา แนวทางการจัดการมูลฝอยตามประเภทแหล่งกำเนิดประเภทชุมชน แนวทางการจัดการมูลฝอยที่แหล่งกำเนิดประเภทอาคาร แนวทางการจัดการมูลฝอยตามประเภทแหล่งกำเนิดประเภทกิจกรรมหรือเทศกาล เพื่อใช้เป็นแนวทางในการจัดการขยะ ลดและคัดแยกขยะในพื้นที่ กทม.นำไปสู่การปลูกฝังค่านิยมและสร้างวินัยในการจัดการขยะ

นอกจากนั้น สถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับเครือข่ายภาคเอกชน และภาคประชาสังคมกว่า 30 องค์กร ได้นำเสนอ (ร่าง) แผนปฏิบัติการพัฒนาระบบการจัดการมูลฝอยที่แหล่งกำเนิดของกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2566 – 2568

จากนั้น นายชัชชาติ ยังได้ประชุมร่วมกับ ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ซึ่ง สวทช. เป็นหน่วยงานที่พัฒนาแอปพลิเคชั่น Traffy Fondue ซึ่งทีมงานผู้ว่าฯ นำมาใช้งานกว่าสองปีกว่าแล้ว แต่มาใช้เป็นทางการกับ กทม. ในช่วงหนึ่งเดือนที่ผ่านมา

“ซึ่งถือว่าเป็นการปฏิวัติเปลี่ยนรูปแบบการให้บริการทางราชการทำให้การบริหารจัดการก็ดีขึ้น ประชาชนมีความสุขมากขึ้น พร้อมกันนี้ได้หารือถึงความร่วมมือต่อไปในอนาคต..ดูว่าจะต่อยอดอย่างไร เช่น Traffy Fondue  อาจจะต่อยอดไปถึง Traffy Garbage เพื่อดูเรื่องขยะ และจะขยายให้มีความครอบคลุมมากขึ้น..ต่อไปอาจจะมีการ MOU ร่วมกัน เพื่อให้การให้บริการและการทำงานขยายวงกว้างและครอบคลุมเนื้อหาได้มากยิ่งขึ้น

“หัวใจของเมืองคือการนำเทคโนโลยีที่เหมาะสมมาใช้ และให้เทคโนโลยีตอบโจทย์คน โดยเน้นคนเป็นหลัก ไม่ได้ใช้เทคโนโลยีที่หรูหรา แต่เป็นเทคโนโลยีที่ตอบโจทย์คนอย่างแท้จริง เชื่อว่าเทคโนโลยีที่เหมาะสมสามารถเปลี่ยนเมืองได้ เพราะเป็นการลงทุนที่ไม่แพง แต่สามารถสร้างผลที่ขนาดใหญ่ได้” ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าว

Related posts

จัดเดิน-วิ่ง มินิมาราธอน ปีที่ 2 ส่งต่อขาเทียมช่วยผู้พิการยากไร้

‘COP-19’ ดันอาเซียน เป็นภูมิภาคปลอด หมอกควัน

5 ปีอุณภูมิโลกส่อทะลุ 1.5 องศา ไทยเร่งรับมือ 6 สาขาเสี่ยงระดับพื้นที่