‘ซีเมนต์’ รักษ์โลกผลิตจากเศษอาหารก่อสร้างก็ดี หักต้มกินก็ได้

2 นักวิจัยญี่ปุ่นเปิดตัว ‘ซีเมนต์’ ที่ผลิตขึ้นจากเศษอาหาร คุณภาพเทียบเท่า ยืดหยุ่นกว่า 4 เท่า แต่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพ

Kota Machida และ Yuya Sakai จากมหาวิทยาลัยโตเกียว 2 นักวิจัยผู้อยู่เบื้อง Fabula Inc โครงการลดขยะอาหาร ช่วยโลกร้อน ด้วยการคิดค้นเทคโนโลยีใหม่เปลี่ยนเศษอาหารให้เป็น “ซีเมนต์” เพื่อใช้ในการก่อสร้าง

ด้วยการนำเศษอาหารมาทำให้แห้ง บด แล้วอัดด้วยความร้อนลงในแม่พิมพ์ เศษอาหารที่นำมาผลิตซีเมนต์ตอนนี้ได้มาจากเศษผักกาดขาว กากกาแฟ เปลือกส้ม กากสควอชและฟักทอง เปลือกกล้วย สาหร่าย และเศษหัวหอม เพื่อพิสูจน์แนวคิดนี้พวกเขาได้นำซีเมนต์จากเศษอาหารมาทำเป็นกระเบื้องและผนังสำหรับอาคารที่พักฉุกเฉิน ถ้วย จาน และสิ่งอื่นๆ โดยซีเมนต์จากผักกาดขาวเป็นซีเมนต์ที่แข็งแรงที่สุด โดยแผ่นขนาด 5 มิลลิเมตรสามารถรองรับน้ำหนักได้มากกว่า 27 กิโลกรัม 

Sakai ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว AP ว่าเขาและ Fabula Inc กำลังทำงานร่วมกับบริษัทต่างๆ เพื่อผลิตผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น ชุดถ้วยและเฟอร์นิเจอร์ และสิ่งที่ท้าทายกว่านั้นคือการสร้างซีเมนต์ที่กินได้ด้วยการนำวัตถุดิบเช่นผักกาดขาว ผสมกับเครื่องเทศ แล้วบีบอัดให้เป็นซีเมนต์ จากนั้นนำไปใช้เป็นส่วนประกอบเพื่อสร้างที่พักฉุกเฉินในเขตที่เกิดภัยพิบัติบ่อยครั้ง โดยหวังว่าหากไม่สามารถส่งอาหารให้ผู้อพยพได้ พวกเขาก็สามารถกินที่พักคราวที่ทำจากซีเมนต์อาหารได้คล้ายกับบ้านขนมปังขิง

ในปี 2019 ญี่ปุ่นผลิตเศษอาหารประมาณ 5.7 ล้านตัน และมีเป้าหมายที่จะลดให้เหลือ 2.7 ล้านตันภายในปี 2030 ซึ่งในบรรดาประเทศอุตสาหกรรมและประเทศพัฒนาแล้ว ญี่ปุ่นเป็นผู้ผลิตขยะอาหารต่อหัวรายใหญ่ที่สุดอันดับที่ 11 ของโลก ดังนั้นความต้องในการผลิตซีเมนต์จากเศษอาหารจึงเป็นทางเลือกหนึ่งที่จะทำให้ญี่ปุ่นบรรลุเป้าหมายที่วางไว้

ตามรายงานของ Chatham House องค์กรอิสระเพื่อการกำหนดนโยบายทางสังคมระบุว่า 8% ของอัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของโลกมาจากการผลิตปูนซีเมนต์ หรือประมาณ 3.5 เท่าของอุตสาหกรรมการบิน 

ที่มา

  • Dec 12, 2022, “These Guys Make Edible Cement From Food Waste – And You Can Literally Add it to Your Gingerbread House.” Good News Network
  • June 1, 2022, “Japanese researchers look to develop cement entirely from food waste.” Mainichi Japan

Related posts

กรรมการชาติเห็นชอบร่างพรบ.โลกร้อน เดินหน้าสู่เศรษกิจคาร์บอนต่ำ

ฝุ่น PM2.5 พุ่ง ‘หอฟอกอากาศระดับเมือง’ คืนชีวิตให้คนกรุง อย่างไร

ชุบชีวิต ‘ขยะทะเล’ เพิ่มมูลค่า ชุมชนยั่งยืน ลดโลกร้อน