ปูนจากหินแกรนิต ทางออกปัญหาโลกร้อน ลดการปล่อยมลพิษอากาศ

Around 80 tons of C-Crete's cement-free concrete was recently poured in the foundations, shear walls and floor slab of a commercial building and more projects are underway.

การผลิตปูนซีเมนต์มีส่วนปล่อยคาร์บอนจำนวนมาก เนื่องจากต้องใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลในการทำความร้อนมหาศาล การใช้หินแกรนิตทดแทนหินปูนจึงเป็นทางเลือก

ที่ผ่านมาอุตสาหกรรมหินปูนในหลายพื้นที่ก่อมลพิษรุนแรง อย่างเช่นที่บริเวณหน้าพระลาน จ.สระบุรี เป็นคำตอบที่ชัดเจนที่สุดว่าอุตสาหกรรมนี้ได้ก่อให้ฝุ่น PM2.5 กระจายเต็มเมือง และไม่สามารถลดปัญหาลงได้มาหลายทศวรรษ แม้จะมีความพยายามมาอย่างต่อเนื่อง

เมื่อคอนกรีตเป็นวัสดุที่จำเป็นใช้ในการสร้างอาคารบ้านเรือน และโครงสร้างพื้นฐาน จึงเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องแลกมาด้วยการปล่อยมลพิษเป็นจำนวนมาก และปฏิเสธไม่ได้เช่นเดียวกันว่า อุตสาหกรรมก่อสร้างเป็นอีกปัจจัยที่ก่อผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และสุขภาพของประชาชน (โดยจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม)

การพัฒนาคอนกรีตรุ่นใหม่ที่เปลี่ยนวัตถุดิบหลักจากหินปูนมาใช้หินแกรนิตแทน (หินปูนจะถูกนำมาบดจนเป็นผงสีขาวและนำไปผสมเข้าวัสดุหลายชนิด เช่น ดินเหนียว ซิลิกา เหล็ก ฯลฯ นำไปผ่านความร้อน 1,450 องศาเซลเซียส และออกมาเป็นปูนซีเมนต์ใช้งานก่อสร้าง) จากผลงานวิจัยของบริษัท C-Crete Technologies ด้วยการเปลี่ยนแปลงทั้งวัสดุหลักที่ใช้งานและกรรมวิธีการผลิตที่ไม่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอีก

ปูนซีเมนต์จากหินแกรนิตที่ว่าก็มีกลไกในการผลิตใกล้เคียงกัน เริ่มจากการนำหินแกรนิตทั่วไปมาบดให้ละเอียดจนเป็นผง ผสมเข้ากับวัสดุชนิดอื่นพร้อมผ่านกรรมวิธีเฉพาะของทางบริษัท จากนั้นหินแกรนิตจะแปรสภาพเป็นผงปูนตามปกติ เพียงนำไปผสมน้ำก็สามารถนำไปใช้งานได้เหมือนปูนซีเมนต์ทั่วไป ที่แตกต่างกันก็ตรงที่ในขั้นตอนการผลิตไม่ต้องอาศัยความร้อน จึงตัดปัญหาในการใช้พลังงานเชื้อเพลิงโดยสิ้นเชิง

จากการทดสอบการใช้งานพบว่า ปูนซีเมนต์หินแกรนิตมีความละเอียด การซึมผ่านน้ำ ระยะเวลาในการเซ็ตตัว ไปจนพื้นผิวหลังแห้งใกล้เคียงกับคอนกรีตที่ปกติ ในส่วนความทนทานและคุณสมบัติเชิงกล ปูนซีเมนต์ผ่านมาตรฐาน ASTM หรือสมาคมทดสอบวัสดุแห่งสหรัฐฯ

นอกจากนั้นแล้วไม่ได้เป็นการเพิ่มต้นทุนการผลิตเพราะหินแกรนิตพบได้ทั่วไปเกือบทุกมุมโลก สามารถจัดหาเข้าสู่สายการผลิตได้ง่าย โดยทางบริษัทยืนยันว่า ต้นทุนการผลิตปูนชนิดนี้ไม่ต่างจากปูนซีเมนต์ทั่วไป อีกทั้งมีความทนทานแข็งแรง ไม่ส่งผลกระทบต่อการก่อสร้างอาคาร

ปัจจุบันปูนซีเมนต์หินแกรนิตของบริษัท C-Crete Technologies อยู่ในช่วงทดสอบการใช้งาน โดยมีการนำปูนชนิดนี้ไปฉาบคอนกรีตร่วมกับการต่อเติมตึก 270 Park Avenue ตึกระฟ้าที่สูงถึง 423 เมตร ในนิวยอร์ก และคาดว่าจะมีการนำไปใช้งานเพิ่มเติมต่อไปในอนาคต

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้บริษัท C-Crete Technologies ผู้บุกเบิกในการพัฒนาผลิตภัณฑ์คอนกรีตปลอดซีเมนต์ที่ปราศจากการปล่อย CO2 ได้ประกาศเปิดตัวคอนกรีตจากหินบะซอลต์แห่งแรกของโลก ซึ่งเป็นความก้าวหน้าครั้งสำคัญอีกก้าวหนึ่งในการพัฒนาผลิตภัณฑ์วัสดุก่อสร้างที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมของบริษัท ซึ่งหินบะซอลต์ ประกอบด้วยซิลิกอน อะลูมิเนียม และแคลเซียมเป็นหลักซึ่งเป็นธาตุ 3 ชนิดที่พบมากที่สุดบนโลก

นอกจากนั้นแล้วทางบริษัทระบุว่า หินบะซอลต์ยังช่วยจับคาร์บอนจากบรรยากาศ จึงมีคุณสมบัติเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น ในอนาคตคอนกรีตที่ทำจากหินบะซอลต์จะสามารถนำร่องสำหรับโครงการขนาดใหญ่ได้

Rouzbeh Savary ผู้ก่อตั้งและประธานบริษัท C-Crete Technologies กล่าวว่า การที่เราประสบความสำเร็จในการนำคอนกรีตจากหินบะซอลต์มาใช้เป็นครั้งแรกนั้น เป็นการตอกย้ำถึงความมุ่งมั่นในการผลักดันให้อุตสาหกรรมก่อสร้างขยายการใช้คอนกรีตที่ไม่ใช้ปูนซีเมนต์ให้มากขึ้นอย่างรวดเร็ว

ทั้งนี้เพื่อให้เห็นภาพมลพิษอากาศที่ชัดเจนมากขึ้น Policy Watch รายงานเมื่อปี 2566 ว่า ประเทศไทยมีคุณภาพอากาศแย่เป็นอันดับที่ 36 ของโลก และอันดับที่ 5 ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สูงกว่าค่าแนะนำคุณภาพอากาศขององค์การอนามัยโลก (WHO) ถึง 4.7 เท่า และ มีค่าเฉลี่ยฝุ่นพิษ PM2.5 รายปีเพิ่มขึ้น 28%

กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่มีคุณภาพอากาศแย่เป็นอันดับที่ 37 ของเมืองที่มีมลพิษทางอากาศมากที่สุดของโลก มีปริมาณฝุ่นพิษ PM2.5 เฉลี่ยรายปี 21.7 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ในขณะที่เชียงราย และ อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน ถูกจัดอยู่ใน 5 อันดับแรกของพื้นที่ที่มีฝุ่นพิษ PM2.5 แย่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ในปี 2566 เดือน ก.พ. – เม.ย. เป็นช่วงที่มีคุณภาพอากาศแย่ที่สุด โดยเชียงใหม่เป็นจังหวัดที่มีค่าเฉลี่ยฝุ่น PM2.5 รายเดือนเพิ่มจาก 53.4 เป็น 106.4 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งเพิ่มขึ้นกว่า 150% เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยรายเดือนของช่วงเวลาเดียวกันในปี 2565

ข้อมูลจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ ระบุว่า คุณภาพอากาศของไทยก็ย่ำแย่ลงเรื่อย ๆ โดยคนไทยกว่า 10.5 ล้านคนป่วยด้วยโรคที่เชื่อมโยงกับมลพิษทางอากาศซึ่งในปี 2566 ถือว่าเพิ่มขึ้นจากปี 2565 ถึง 116% ซึ่งสาเหตุมาจากการเผาในที่โล่งโดยเฉพาะการทำการเกษตรในภาคเหนือเกิดมลพิอษอากาศรุนแรงสุดและติดอันดับโลก

ตัวอย่างเฉพาะ จ.สระบุรี ซึ่งมีปัญหาฝุ่น PM2.5 ต่อเนื่อง กรมควบคุมมลพิษรายงานว่า ผลตรวจวัดคุณภาพอากาศจากสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศสถานี สภ.หน้าพระลาน ต.หน้าพระลาน อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.สระบุรี ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2566 –30 ก.ย. 2567 ฝุ่นละอองขนาด 10 ไมครอน (PM10) ตรวจวัดทั้งสิ้น 350 วัน อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน 301 วัน เกินเกณฑ์มาตรฐาน 49 วัน ค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมง ค่าสูงสุดเท่ากับ 267.29 มคก./ลบ. และค่าฝุ่น PM2.5 ตรวจวัดทั้งสิ้น 358 วัน อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน 272 วัน เกินเกณฑ์มาตรฐาน 86 วัน ค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมง ค่าสูงสุดเท่ากับ 96.83 มคก./ลบ.

ในขณะที่ภาพรวมของโลกพบว่า 7 ประเทศที่มีคุณภาพอากาศต่ำกว่าค่าแนะนำคุณภาพอากาศของ WHO (ค่าเฉลี่ยรายปี 5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร) ได้แก่ ออสเตรเลีย เอสโตเนีย ฟินแลนด์ กรีนาด้า ไอซ์แลนด์ มอริเชียส และนิวซีแลนด์

5 ประเทศที่คุณภาพอากาศแย่สุดในโลก ได้แก่
บังคลาเทศ มีปริมาณฝุ่นพิษPM 2.5 เฉลี่ยรายปีสูงกว่าค่าแนะนำคุณภาพอากาศของ WHO ถึง 15 เท่า
ปากีสถาน มีปริมาณฝุ่นพิษPM 2.5 เฉลี่ยรายปีสูงกว่าค่าแนะนำคุณภาพอากาศของ WHO ถึง 14 เท่า
อินเดีย มีปริมาณฝุ่นพิษPM 2.5 เฉลี่ยรายปีสูงกว่าค่าแนะนำคุณภาพอากาศของ WHO ถึง 10 เท่า
ทาจิกิสถาน มีปริมาณฝุ่นพิษPM 2.5 เฉลี่ยรายปีสูงกว่าค่าแนะนำคุณภาพอากาศของ WHO ถึง 9 เท่า
บูร์กินาฟาโซ มีปริมาณฝุ่นพิษ PM 2.5 เฉลี่ยรายปีสูงกว่าค่าแนะนำคุณภาพอากาศของ WHO ถึง 9 เท่า

อ้างอิง:
• Oct 01, 2024 . Carbon-neutral granite-based concrete finds use in towering NYC skyscraper By Ben Coxworth, Newatlas
• Apr 09, 2024 . C-Crete Technologies pours world’s first basalt-based concrete by Evie Gardner, Editorial Assistant, World Cement
• 19 มี.ค. 2567 . สถิติปี 2566 คุณภาพอากาศไทยแย่ลง ติดที่ 36 โลก, Policy Watch
• 6 มี.ค. 2024 . ฝุ่น PM2.5: คนไทยป่วยจาก “มลพิษทางอากาศ” กว่า 10 ล้านคนในปี 2566, BBC
• รายงานสถานการณ์คุณภาพอากาศจังหวัดสระบุรี ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567, กรมควบคมุมลพิษ

Related posts

กรรมการชาติเห็นชอบร่างพรบ.โลกร้อน เดินหน้าสู่เศรษกิจคาร์บอนต่ำ

ฝุ่น PM2.5 พุ่ง ‘หอฟอกอากาศระดับเมือง’ คืนชีวิตให้คนกรุง อย่างไร

ชุบชีวิต ‘ขยะทะเล’ เพิ่มมูลค่า ชุมชนยั่งยืน ลดโลกร้อน