ปี 2566 บริษัทและรัฐบาลต่างๆ ประกาศโครงการดักจับและกักเก็บคาร์บอนใต้ทะเลมากกว่า 50 โครงการทั่วโลก หากทำได้เท่ากับจะมีปริมาณคาร์บอน 450 ล้านตัน ถูกอัดเข้าไปใต้ทะเลทุกๆ ปี และจะเกิดความเสี่ยงที่ไม่อาจคาดเดา
เขียนโดย – ธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการ กรีนพีซ ประเทศไทย
ท่ามกลางวิกฤตโลกเดือดที่ท้าทายมนุษยชาติ เราจะได้ยินเรื่อง ความเป็นกลางทางคาร์บอน (carbon neutrality) และการลดก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์สุทธิ (net zero) ที่อ้างว่าเป็นทางออกมากขึ้นเรื่อยๆ อีกประเด็นที่มาแรงแซงทางโค้งนอกจาก “ป่าคาร์บอน” แล้ว ก็คือการดักจับและกักเก็บคาร์บอน (Carbon Capture and Storage-CCS)
สิ่งเหล่านี้ที่อ้างว่าจะช่วยกอบกู้โลกเดือดนั้นถูกบรรจุในนโยบายสภาพภูมิอากาศทั้งในแผนที่นำทางการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Nationally Dertermined Contributions-NDCs) และยุทธศาสตร์ระยะยาวในการพัฒนาแบบปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำ (LT-LEDS) ประเทศไทยเองก็ไม่น้อยหน้าใคร ในปี 2565 คณะกรรมการนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของไทย แต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อผลักดันเทคโนโลยีดักจับ ใช้ประโยชน์และการกักเก็บคาร์บอน (CCS Subcommittee) มีการเปิดตัวแผนแม่บท (the CCS Master Plan) ต่อมาในปี 2566 กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติจัดประชาพิจารณ์แก้ไขพระราชบัญญัติปิโตรเลียม (Petroleum Law Amendment) เพื่อกำกับดูแลการดำเนินงาน CCS แต่ยังไม่กำหนดเวลาบังคับใช้
แต่เมื่อเราสืบค้นข้อมูลอย่างละเอียดลึกซึ้งในเรื่องนี้ การรู้เท่าทันเป็นสิ่งจำเป็น ก่อนที่จะตกเข้าไปใน “กลลวง” ของอุตสาหกรรมฟอสซิลซึ่งมีอิทธิพลสูงในการโน้มน้าวทิศทางนโยบายของรัฐ มีเหตุผลอย่างน้อย 10 ประการต่อไปนี้ที่ชี้ว่าการดักจับและกักเก็บคาร์บอนไม่สมควรไปต่อ
1) ได้ไม่คุ้มเสีย
โครงการดักจับและกักเก็บคาร์บอนถูกผลักดันในระดับที่ไม่เคยมีมาก่อน จนถึงปี 2566 บริษัทและรัฐบาลต่างๆ ประกาศโครงการดักจับและกักเก็บคาร์บอนใต้ทะเล (Offshore CCS) แห่งใหม่มากกว่า 50 โครงการทั่วโลก หากทำได้ทั้งหมด จะมีปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ 450 ล้านตัน ถูกอัดเข้าไปใต้ทะเล/มหาสมุทรทุกๆ ปี (ประมาณ 200 เท่าทุกปีเมื่อเทียบกับระดับปัจจุบัน) แต่ปริมาณดังกล่าวก็คิดเป็นเพียงร้อยละ 1.5 ของการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ทั้งโลกในแต่ละปีเท่านั้น
2) ความเสี่ยงที่ไม่อาจคาดเดา
โครงการดักจับและกักเก็บคาร์บอนใต้ทะเล (Offshore CCS) หลายโครงการออกแบบให้ดักจับคาร์บอนไดออกไซด์ที่ปล่อยจากกระบวนการผลิตทางอุตสาหกรรมตามพื้นที่ต่างๆ และนำมารวมกันเพื่ออัดเข้าไป ณ แหล่งกักเก็บรวมใต้ทะเลนั้นเป็นแนวทางที่ไม่มีการทดสอบมาก่อน ก่อให้เกิดคำถามถึงความปลอดภัย ปัญหาทางเทคนิค และความเสี่ยงต่อโครงสร้างพื้นฐานที่ทำให้โครงการไปต่อไม่ได้ ทั้งโลกมีตัวอย่างเรื่องนี้เพียง 2 กรณีในนอร์เวย์ ขนาดว่ามีการออกแบบ CCS ไม่ซับซ้อนและมีขนาดเล็ก ก็ยังเจอปัญหาที่คาดเดาไม่ได้
3) ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลเพิ่มขึ้น
ฉากหน้าคือการดักจับและกักเก็บคาร์บอน แต่ฉากหลังคือการขยายการผลิตและการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลเพิ่มขึ้น โครงการดักจับและกักเก็บคาร์บอนใต้ทะเล (Offshore CCS) จะมาพร้อมกับโครงการเชื้อเพลิงฟอสซิลโครงการใหม่ เช่น การผลิตไฮโดรเจนจากฟอสซิล เป็นต้น นอกจากนี้ อุตสาหกรรมฟอสซิลยังใช้เทคโนโลยี CCS มาเป็นข้ออ้างในการขุดเจาะแหล่งน้ำมันและก๊าซแห่งใหม่ที่มีคาร์บอนเข้มข้น
4) การกักเก็บคาร์บอนใต้พื้นผิวโลกอาจทำให้น้ำใต้ดินปนเปื้อน
เกิดแผ่นดินไหว และเข้าแทนที่แหล่งน้ำเค็มซึ่งอาจเกิดความเป็นพิษ เราจะเผชิญกับความเสี่ยงเหล่านี้ในวงกว้างจากโครงการ CCS ที่จะมีขึ้น ขนาดของโครงการดักจับและกักเก็บคาร์บอนใต้ทะเล (Offshore CCS) จะสร้างความท้าทายที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในการจัดการแรงดันในแหล่งกักเก็บคาร์บอนและการตรวจสอบการรั่วไหลของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในส่วนลึกของมหาสมุทร ต้องมีการสร้างโครงสร้างพื้นฐานเพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็นท่อส่งก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ทั้งบนบกและนอกชายฝั่ง เรือขนส่งก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ทางเรือและระบบราง ซึ่งก่อให้เกิดความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม สิทธิมนุษยชน สุขภาพ และความปลอดภัยเพิ่มเติมจากการขนส่ง การรั่วไหล และการแตกร้าวของท่อขนส่ง
5) โครงการกระจุกตัวอยู่ในพื้นที่ที่เสี่ยงต่อการรั่วไหลมากที่สุด
ความเสี่ยงหลักของการรั่วไหลมาจากปฏิกิริยาของของคาร์บอนไดออกไซด์ที่อัดเข้าไปในหลุมน้ำมันและก๊าซ การพัฒนาโครงการดักจับและกักเก็บคาร์บอนใต้ทะเล (Offshore CCS) กลับเป็นพื้นที่เดียวกับแหล่งที่มีการขุดเจาะน้ำมันและก๊าซอย่างเข้มข้นมายาวนาน เช่น อ่าวเม็กซิโกของสหรัฐอเมริกา และทะเลเหนือของยุโรป ซึ่งมีหลุมน้ำมันและก๊าซฟอสซิลที่เลิกใช้แล้วจำนวนมาก
6) ทะเลและมหาสมุทรของโลกจะยิ่งวิกฤตมากขึ้น
การผลักดันโครงการดักจับและกักเก็บคาร์บอนใต้ทะเล (Offshore CCS) อยู่บนแนวคิดแบบเดียวกับที่ทำให้ทะเลและมหาสมุทรตกอยู่ในภาวะวิกฤตในปัจจุบัน นั่นคือ ทะเลและมหาสมุทรเป็นแหล่งทรัพยากรที่ไร้ขีดจำกัดในการแสวงหาผลประโยชน์ และเป็นแหล่งกักเก็บของเสียของมนุษยชาติอย่างไม่มีที่สิ้นสุด กิจกรรมอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซนอกชายฝั่งที่มีอยู่เดิมสร้างผลกระทบต่อทะเลและมหาสมุทรจากการที่มีการรั่วไหลตามท่อส่งบ่อยครั้ง
ในขณะที่โครงสร้างพื้นฐานที่เลิกใช้งานแล้วมักจะถูกปล่อยทิ้งไว้ที่พื้นทะเลโดยไม่ได้รับการตรวจสอบ ความล้มเหลวของอุตสาหกรรมและหน่วยงานกำกับดูแลในการจัดการโครงสร้างพื้นฐานนอกชายฝั่งนี้ ทำให้เกิดคำถามต่อความสามารถในการจัดการโครงข่ายอุปกรณ์ใต้ทะเลทั้งหมดที่จำเป็นสำหรับโครงการดักจับและกักเก็บคาร์บอนใต้ทะเล (Offshore CCS) ได้อย่างปลอดภัย การรั่วไหลและอุบัติเหตุอื่นๆ อาจก่อให้เกิดอันตรายร้ายแรงต่อสิ่งมีชีวิตในทะเลที่ละเอียดอ่อน และทำให้น้ำทะเลโดยรอบมีความเป็นกรดมากขึ้น ส่งผลให้เกิดวิกฤตความเป็นกรดในมหาสมุทร
7) มีค่าใช้จ่ายสูงและใช้เงินอุดหนุนจากภาษีประชาชน
เทคโนโลยี CCS มีต้นทุนสูง และค่าใช้จ่ายในการติดตั้งใช้งานก็สูงขึ้น ทำให้ภาคอุตสาหกรรมต้องการการอุดหนุนโดยใช้งบประมาณจากสาธารณะ เพื่อจ่ายให้กับผู้ก่อมลพิษเพื่อฝังมลพิษบางส่วนอย่างมีประสิทธิผล แทนที่จะกำหนดให้พวกเขาหยุดสร้างมลพิษตั้งแต่แรก ค่าใช้จ่ายที่สูงส่วนใหญ่ของ CCS ตกเป็นภาระของสาธารณะ ผ่านทางเครดิตภาษี การค้ำประกันเงินกู้ และการจัดหาเงินทุนรูปแบบอื่นๆ รัฐบาลทุ่มเงินหลายพันล้านให้กับการวิจัยและพัฒนา และเงินอุดหนุนอื่นๆ
ในกรณีโครงการ CCS ที่แหล่งอาทิตย์ในอ่าวไทย ปตท.สผ. (PTTEP) ตั้งเป้าดักจับและกักเก็บคาร์บอน 700,000-1,000,000 ตันต่อปี ภายใต้แผน net zero ของไทย ประมาณว่าจะใช้ทั้ง CCS และ BECCS ดักจับและกักเก็บคาร์บอน 61.3 ล้านตันภายในปี 2608 เมื่อคำนวณต้นทุนที่ 100-200 เหรียญสหรัฐต่อตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า การดักจับและกักเก็บคาร์บอนดังกล่าวนี้จะใช้เงินลงทุนมหาศาลประมาณ 200,000-400,000 ล้านบาท
8) ความไม่เป็นธรรมทางสภาพภูมิอากาศ
ระบอบกฎหมายมีขึ้นเพื่อลดความเสี่ยงทางการเงินของโครงการ Offshore CCS ทั้งที่จริง กฎหมายและข้อบังคับในประเทศและระหว่างประเทศที่มีอยู่จะต้องได้รับการตีความและนำไปใช้เพื่อปกป้องมหาสมุทร ชุมชน และสภาพภูมิอากาศจากภัยคุกคามที่เกิดจากโครงการ Offshore CCS
9) ความล้มเหลวในการกำกับดูแล
กฎหมายและข้อบังคับเฉพาะของโครงการดักจับและกักเก็บคาร์บอนใต้ทะเล (Offshore CCS) ที่กำลังพัฒนาขึ้นจะต้องคำนึงถึงความเสี่ยงมากมายจากการอัดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลงใต้ทะเล และมีคำถามว่าด้วยการติดตามผล การจัดการ และความรับผิดในระยะยาว รัฐบาลต่างๆ จะต้องสร้างกลไกที่ให้อุตสาหกรรมฟอสซิลมีภาระรับผิด ก่อนที่งบประมาณจากภาษีประชาชนจะถูกเทไปยังโครงการดักจับและกักเก็บคาร์บอนใต้ทะเล (Offshore CCS) และสร้างความเสียหายมากขึ้น
10) หลายโครงการไม่เป็นไปตามเป้าหมาย
ไม่ว่าจะโครงการดักจับและกักเก็บคาร์บอนใต้ดิน (On Shore CCS) หรือใต้ทะเล (Offshore CCS) ก็พิสูจน์แล้วว่าล้มเหลวหลายครั้ง โครงการ CCS ที่เป็นโครงการนำร่องส่วนใหญ่ไม่เป็นไปตามเป้าหมายตั้งไว้ หรือล้มเหลวในการดำเนินการเนื่องจากต้นทุนที่มากเกินไป อย่างเช่น โครงการ Gorgon บนเกาะ Barrow ในออสเตรเลีย บริษัทเชฟรอนซึ่งเป็นผู้ดำเนินการนั้นล้มเหลวที่จะกักเก็บคาร์บอนให้เป็นไปตามเป้าหมายอันเนื่องมาจากปัญหาการจัดการแรงดันของในระบบ
ปัญหาดังกล่าวนี้ยังเกิดขึ้นกับโครงการ Snøhvit ของบริษัท Equinor ในนอร์เวย์ซึ่งกักเก็บคาร์บอนใต้ทะเลซึ่งตามแผนจะสามารถกักเก็บคาร์บอนได้ 18 ปี แต่เพียงดำเนินงานไปได้ 2 ปี ก็เกิดปัญหาแรงดันจนต้องหาหลุมปิโตรเลียมใหม่ ปัจจุบัน โครงการ CCS เชิงพาณิชย์มีเพียงไม่กี่โครงการที่ดำเนินอยู่ เช่น โครงการ Snøhvit และ Sleipner ในนอร์เวย์ ต้องเผชิญกับความท้าทายที่คาดไม่ถึงซึ่งทำให้ความเป็นไปได้และความปลอดภัยของเทคโนโลยีกลายเป็นคำถาม
ต้องมีมาตรการเร่งด่วนเพื่อสร้างการเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรมและเท่าเทียมจากการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลเพื่อหลีกเลี่ยงวิกฤติสภาพภูมิอากาศที่เป็นหายนะ และเพื่อปกป้องระบบนิเวศทางธรรมชาติ การดักจับและกักเก็บคาร์บอนทั้งใต้ดินและใต้ทะเลไม่อาจตอบโจทย์นี้ได้เลย
แหล่งข้อมูล:
Deep Trouble: The Risks of Offshore Carbon Capture and Storage (November 2023) https://www.ciel.org/wp-content/uploads/2023/11/Deep-Trouble-The-Risks-of-Offshore-Carbon-Capture-and-Storage.pdf
https://www.greenpeace.org/thailand/press/21395/press-climate-emergency-cop26/
https://insightplus.bakermckenzie.com/bm/projects/thailand-draft-amendment-to-the-petroleum-act-to-regulate-carbon-storage-business#:~:text=2514%20(1971)%20(%22Draft,in%20the%20Draft%20Petroleum%20Act.
https://www.nortonrosefulbright.com/en-th/knowledge/publications/3f25baee/global-carbon-capture-and-storage-regulations-a-driver-or-barrier-to-ccs-project-development#section9
https://ieefa.org/wp-content/%20uploads/2022/03/Gorgon-Carbon-Capture-and-Storage_The-Sting-in-%20the-Tail_April-2022.pdf
https://ieefa.org/wp-content/%20uploads/2022/03/Gorgon-Carbon-Capture-and-Storage_The-Sting-in-%20the-Tail_April-2022.pdf
หมายเหตุ– igreenstory นำบทความนี้มาจากเว็บไซต์ของกรีนพีซ ประเทศไทย โดยเขียน คุณธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการ กรีนพีซ ประเทศไทย