คนไทยต้องจ่ายภาษีคาร์บอนเพิ่ม 200 บาทต่อตัน คาดเริ่ม ต.ค.67

กรมสรรพสามิตจะเริ่มจัดเก็บภาษีคาร์บอน (Carbon Tax) นำร่อง โดยจะนำภาษีคาร์บอนแทรกอยู่ในโครงสร้างภาษี คาดว่าจะเก็บภาษีคาร์บอนอยู่ที่ 200 บาทต่อตันคาร์บอน

การเก็บภาษีภาคบังคับนี้จะเริ่มต้นที่น้ำมันดีเซลก่อน ซึ่งน้ำมันดีเซล 1 ลิตรจะปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 0.0026 ตันคาร์บอน ดังนั้น น้ำมันดีเซล 1 ลิตรจะเสียภาษีคาร์บอนเท่ากับ 0.46 บาทต่อลิตร

ดร.สนธิ คชวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ชมรมนักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมไทย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก หัวข้อ คนไทยกำลังจะต้องเสียภาษีคาร์บอนเพิ่มขึ้นอีกรายการ…เพื่อช่วยกันลดโลกร้อน ดังนี้

1. ปี 2569 ยุโรปจะเริ่มเก็บภาษี Carbon Border Adjustment Mechanism : CBAM หรือภาษีนำเข้าสินค้าบางประเภทก่อนเข้าพรมแดนของสหภาพยุโรป เพื่อป้องกันการนำเข้าสินค้าที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูง ซึ่งอุตสาหกรรมเป้าหมาย จากเดิม 5 กลุ่มสินค้า ได้แก่ เหล็กและเหล็กกล้า อะลูมิเนียม ซีเมนต์ ปุ๋ย และไฟฟ้าให้เพิ่มเป็น 7 กลุ่มสินค้า โดยรวมไฮโดรเจนและสินค้าปลายน้ำบางรายการ เช่น น็อตและสกรูที่ทำจากเหล็กและเหล็กกล้า โดยผู้นำเข้าจะต้องซื้อใบรับรอง CBAM ตามปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของสินค้านั้นและต้องจ่ายภาษีคาร์บอนตามปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของสินค้าที่นำเข้า

นอกจากนี้ยุโรปกำลังจะมีการขยายไปที่สินค้าประเภทอื่นๆ อีกด้วย เช่น สารอินทรีย์พื้นฐาน พลาสติกและโพลีเมอร์ แก้ว เซรามิค ยิปซัม กระดาษ เป็นต้น

2.สำหรับประเทศไทย ในปีงบประ กรมสรรพสามิตจะเริ่มจัดเก็บภาษีคาร์บอน (Carbon Tax) นำร่อง โดยจะนำภาษีคาร์บอนแทรกอยู่ในโครงสร้างภาษี คาดว่าจะเก็บภาษีคาร์บอนอยู่ที่ 200 บาทต่อตันคาร์บอนโดยเริ่มต้นที่น้ำมันดีเซลก่อนซึ่งน้ำมันดีเซล 1 ลิตรจะปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 0.0026 ตันคาร์บอน ดังนั้น น้ำมันดีเซล 1 ลิตรจะเสียภาษีคาร์บอนเท่ากับ 0.46 บาทต่อลิตรโดยบวกไว้ในราคาน้ำมันมาณปี 2568

3.ภาษีคาร์บอน (Carbon Tax) เป็นภาษีที่เก็บจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงที่ก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจก โดยฐานภาษีคาร์บอนที่ใช้ในการจัดเก็บ มี 2 แบบ คือ
1.จัดเก็บภาษีทางตรงจากปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการผลิตสินค้า
2. จัดเก็บภาษีทางอ้อมตามการบริโภค

ต่อไปผู้บริโภคเอสามารถตัดสินใจเลือกอุดหนุนผลิตภัณฑ์ที่มีการปล่อยคาร์บอนต่ำและสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมได้โดยดูจากฉลากคาร์บอนที่ติดมากับสินค้า

4.ประเทศไทยปักหมุดมุ่งสู่การเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2593 รวมถึงขยับสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net zero emissions) ภายในปี 2608 ได้ตั้งเป้าการลดก๊าซเรือนกระจกในรูปคาร์บอนไดออกไซด์ จากค่าสูงสุดของไทย 388 ล้านตันต่อปี ลงไปเหลือ120 ล้านตันต่อปี โดยแผนระยะสั้นจากนี้ไปจนถึงปี 2573 จะลดก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 40%

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย วิเคราะห์ว่า การเก็บภาษีคาร์บอนของกรมสรรพสามิตเป็นกลไกภาคบังคับเพื่อลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทั้งนี้ การกำหนดอัตราภาษีคาร์บอนในรูปแบบภาคบังคับจะสามารถนำไปนำไปใช้ลดหย่อนค่าธรรมเนียม Carbon Border Adjustment Mechanism (CBAM) ที่อียูจะเรียกเก็บจากผู้นำเข้าสินค้าไปยังอียูในปี 2569 ซึ่งจะเป็นผลดีต่อผู้ส่งออกในระยะแรก

คาดว่าภาษีคาร์บอนของไทยสามารถบังคับใช้อย่างเร็วสุดภายในปีงบประมาณ 2568 (ต.ค. 2567) เพื่อให้ทันการเก็บค่าธรรมเนียม CBAM ในปี 2569 ขณะที่ พ.ร.บ.โลกร้อนก็จะออกมาบังคับใช้เป็นกฎหมายเพื่อกำหนดกลไกราคาคาร์บอนภาคบังคับในรูปแบบ ระบบ Emission Trading Scheme (ETS) ในปี 2572

ดังนั้น ในระยะแรกจึงเป็นเรื่องที่ดี หากมีการปรับใช้ภาษีคาร์บอนโดยใช้หลักการแปลงภาษีสรรพสามิตที่เดิมมีการผูกกับปริมาณการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์อยู่แล้ว เช่น ภาษีน้ำมัน ภาษีรถยนต์ ให้อยู่ในรูปของภาษีคาร์บอน เพื่อไม่สร้างภาระทางภาษีเพิ่มแก่ประชาชน และสามารถให้ผู้ส่งออกใช้ประโยชน์ในระหว่างรอกลไกราคาคาร์บอนภาคบังคับจาก พ.ร.บ.โลกร้อนในภายหลัง โดยกำหนดราคากลางที่ 200 บาทต่อตันคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งน้อยกว่าราคาคาร์บอนของอียู (EU ETS) หรือ Carbon Tax ของสิงคโปร์ที่อยู่ที่ประมาณ 2,700 และ 700 ต่อตันคาร์บอนไดออกไซด์ ตามลำดับ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า การมีกลไกราคาคาร์บอน (Carbon Pricing) ในรูปแบบภาคบังคับจะช่วยผู้ประกอบการไทยที่ส่งออกไปยัง EU หรือประเทศที่มีการใช้มาตรการปรับคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน ลดหย่อนค่าธรรมเนียมที่จะต้องจ่ายให้แก่ประเทศที่บังคับใช้ได้ โดยจะมีผลกระทบอาจแบ่งเป็น 2 ระยะ

ระยะแรก ผู้ส่งออกใช้ลดหย่อนค่าธรรมเนียม CBAM โดยไม่มีภาระภาษีภายในประเทศเพิ่ม เนื่องจากใช้ภาษีสรรพสามิตแปลงมาเป็นภาษีคาร์บอน ในช่วงก่อนมี พ.ร.บ. Climate Change ทั้งนี้ภาครัฐควรจัดหากลไกกองทุนเพื่อนำรายได้ดังกล่าวสนับสนุนผู้ประกอบการเปลี่ยนผ่านพลังงานสะอาดด้วย

ระยะหลังจากที่ พ.ร.บ.โลกร้อนบังคับใช้ จะมีกลไก Emission Trading Scheme และการกำหนดพิกัดอัตราภาษีคาร์บอนที่ยังไม่เก็บอยู่เดิม จะส่งผลต่อต้นทุนของผู้ผลิตในอุตสาหกรรมภายในประเทศที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเป็นไปตามบริบทของการดำเนินมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมของโลก

Related posts

เป้าหมาย NDC ความมุ่งมั่นของไทย ก้าวย่างสู่ Net Zero และโลกยั่งยืน

COP29 มุ่งมั่นเป้าหมายทางการเงินใหม่ ชาติพัฒนาแล้วจ่าย 1 แสนล้าน

‘เฉลิมชัย’ พาหมูเด้งบุก COP29 เปิด Thailand Pavilion โชว์แก้โลกเดือด