หนึ่งในเป้าหมายสำคัญในการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศก็คือ การลดคาร์บอนฟุตพรินท์ (Carbon Footprint) หรือปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้นจากกิจกรรมต่าง ๆ ของมนุษย์ การคำนวณคาร์บอนฟุตพรินท์จะทำให้เราสามารถประเมินได้ว่า กิจกรรมใดส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากที่สุด เพื่อนำมาปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ตรงจุด (1)
ปัจจุบันโลกกำลังเผชิญกับ “ยุคภาวะโลกเดือด” (Global Boiling) ซึ่งเกิดจากการเพิ่มขึ้นของก๊าซเรือนกระจก โดยเฉพาะ CO₂ ที่มาจากการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล เช่น น้ำมัน ถ่านหิน และก๊าซธรรมชาติ นักวิทยาศาสตร์เตือนว่า หากไม่ลดการปล่อยก๊าซเหล่านี้อุณหภูมิโลกจะเพิ่มขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า และจะเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติที่รุนแรงขึ้น (1)
ไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสูงสุด แม้ว่าจะปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพียง 1% ของโลก รายงานจาก Utility Bidder ระบุว่า การปล่อย CO₂ ของไทยเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 7.43% ต่อปีในช่วง 60 ปีที่ผ่านมา (1959-2019) โดยมีจำนวนการเพิ่มขึ้นคิดเป็นอันดับสองของโลก หรือเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 3.7 ล้านตันต่อปี สาเหตุหลักมาจากการเติบโตทางเศรษฐกิจ และการใช้พลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิลเป็นหลัก (2)
รายงานแผนปฏิบัติการด้านการลดก๊าซเรือนกระจก ปี 2021-2030 ชี้ว่า ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของไทยเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยในปี 2000 อยู่ที่ 200,455.96 กิกะกรัมคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า และเพิ่มเป็น 280,728.34 กิกะกรัมฯ ในปี 2019 เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 1.79% ต่อปี ภาคพลังงานเป็นแหล่งปล่อยก๊าซสูงสุด คิดเป็น 57.96% ของการปล่อยทั้งหมด รองลงมาคือ ภาคเกษตรและอุตสาหกรรม (2)
ในปี 2024 ภาคพลังงานของไทยยังคงปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุด โดยเฉพาะจากการผลิตไฟฟ้า ซึ่งเพิ่มขึ้น 5.8% ในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ ขณะที่ภาคขนส่งลดลง 16.8% ภาคอุตสาหกรรมลดลง 1.2% และภาคเศรษฐกิจอื่น ๆ ลดลง 1.5% อย่างไรก็ตาม ไทยยังพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลสูง โดยเฉพาะน้ำมันสำเร็จรูปคิดเป็น 43% ก๊าซธรรมชาติ 33% และถ่านหิน/ลิกไนต์ 24% แม้ว่าการใช้พลังงานสะอาดจะเพิ่มขึ้น แต่ยังไม่เพียงพอต่อการลดก๊าซเรือนกระจกในระดับที่ต้องการ (2)
ระดับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลกมีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน กลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐฯ แคนาดา และออสเตรเลีย มีการปล่อย CO₂ ต่อหัวสูงกว่าค่าเฉลี่ยโลกถึง 3 เท่า ขณะที่ประเทศในแอฟริกา เช่น ชาด และไนเจอร์ มีการปล่อยก๊าซต่ำกว่าถึง 150 เท่า สะท้อนให้เห็นว่าประเทศที่ร่ำรวยมีส่วนในการปล่อยก๊าซมากกว่า แต่ก็มีศักยภาพในการลดการปล่อยได้มากขึ้นเช่นกัน (3)
เทรนด์การลดคาร์บอนฟุตพรินท์กำลังขยายตัวในภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม หลายองค์กรเริ่มปรับเปลี่ยนการผลิตให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เช่น การใช้พลังงานสะอาด ลดการใช้พลาสติก และปรับปรุงห่วงโซ่อุปทานให้มีคาร์บอนต่ำ เนื่องจากคาร์บอนฟุตพรินท์หรือปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมาในระหว่างการผลิตและใช้งานของผลิตภัณฑ์นั้น เป็นหนึ่งในปัจจัยที่มีผลกระทบโดยตรงต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (4)
การลดปริมาณการปล่อยคาร์บอนสามารถช่วยชะลอปัญหาสิ่งแวดล้อมและทำให้โลกของเราน่าอยู่ขึ้นตัวอย่างเทรนด์ที่มาแรง ได้แก่ บรรจุภัณฑ์ที่ย่อยสลายได้ อุตสาหกรรมแฟชั่นที่ใช้วัสดุรีไซเคิล ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่ลดการปล่อยก๊าซ และสินค้าออร์แกนิกที่ผลิตโดยไม่ใช้สารเคมี นอกจากนี้ แบรนด์ชั้นนำ เช่น IKEA, Apple และ Unilever ก็ได้ตั้งเป้าหมายลดการปล่อยคาร์บอนในการดำเนินธุรกิจของตนเอง (4)
สำหรับภาคผู้บริโภค การเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการรับรองด้านสิ่งแวดล้อม เช่น ฉลาก Carbon Footprint หรือการลดการใช้พลังงานและทรัพยากรในชีวิตประจำวันเป็นวิธีที่สามารถช่วยลดการปล่อยก๊าซได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วยเช่นเดียวกัน (4)
แนวทางในการลดคาร์บอนฟุตพรินท์สามารถเริ่มได้จากการใช้พลังงานสะอาด ลดการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล หันมาใช้ขนส่งสาธารณะ ลดการใช้สารเคมีและปุ๋ยเคมี และจัดการของเสียอย่างมีประสิทธิภาพ หนึ่งในวิธีที่มีประสิทธิภาพคือ การเปลี่ยนพฤติกรรม เช่น ปิดไฟเมื่อไม่ใช้งาน หลีกเลี่ยงการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว ลดการบริโภคเนื้อสัตว์ และสนับสนุนสินค้าที่ยั่งยืน การปลูกต้นไม้ก็เป็นอีกวิธีที่ช่วยดูดซับ CO₂ ได้โดยตรง (5)
ในอนาคตการลดคาร์บอนฟุตพรินท์จะกลายเป็นมาตรฐานสำคัญของวิถีชีวิต ธุรกิจ และอุตสาหกรรม โดยเฉพาะภายใต้ ‘การมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด’ หรือ Nationally Determined Contributions (NDCs) ซึ่งเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนเป้าหมายของความตกลงปารีส (Paris Agreement) เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลก ข้อตกลงนี้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2015 กำหนดให้ทุกประเทศที่ลงนามต้องจัดทำและปรับปรุงแผน NDC อย่างต่อเนื่อง เพื่อสะท้อนถึงความพยายามสูงสุดในการลดผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (6)
ทั้งนี้ ทุกประเทศภาคีจะต้องส่งรายงานความคืบหน้าต่อ UNFCCC ทุก ๆ 5 ปี เพื่อแสดงถึงเป้าหมายที่ทะเยอทะยานมากขึ้นในแต่ละรอบ ตามหลักความรับผิดชอบร่วมกันที่แตกต่างกัน ซึ่งช่วยให้ประเทศกำลังพัฒนาสามารถดำเนินการได้ตามศักยภาพของตน ในขณะที่ประเทศที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกรายใหญ่ เช่น จีน สหรัฐอเมริกา อินเดีย และสหภาพยุโรป ต้องเร่งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เร็วที่สุด (6)
สำหรับประเทศไทยได้มีการบูรณาการเป้าหมาย NDCs เข้ากับนโยบายระดับชาติ ผ่านแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (2017-2036) ซึ่งเน้นการเติบโตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (2023-2027) ที่มุ่งเน้นเศรษฐกิจมูลค่าสูงที่ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ยังมีแผนแม่บทการรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (2015-2050) และแผนที่นำทางการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ (2021-2030) ซึ่งเป็นกรอบสำคัญในการผลักดันให้ไทยลดการปล่อยคาร์บอนอย่างเป็นรูปธรรม โดยอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชน (6)
แม้ว่าการลดคาร์บอนฟุตพรินท์จะเป็นความท้าทายที่สูง แต่หากทุกภาคส่วนร่วมมือกันอย่างจริงจังเราก็สามารถสร้างอนาคต “สังคมคาร์บอนต่ำ” ที่ยั่งยืนได้ ซึ่งไม่เพียงแต่ช่วยลดโลกร้อน แต่ยังหมายถึงการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้คนรุ่นต่อไปอีกด้วย
อ้างอิง:
(1) https://www.kasikornresearch.com/…/Carbon-Footprint…
(2) https://esguniverse.com/…/revealing-the-overall…/
(3) https://ourworldindata.org/co2-emissions
(4) https://www.thesustain.space/top-stories/เทรนด์ผลิตภัณฑ์ลด-carbon-footprint/
(5) http://localcfo.tgo.or.th/uploads/docs/2019032994824.pdf
(6) https://www.sdgmove.com/…/sdg-vocab-43-nationally…/