ข้อตกลงประวัติศาสตร์ COP29 เดินหน้าซื้อขายคาร์บอนเครดิตระดับโลก

by Chetbakers

COP29 ตกลงให้มีการเปิดตลาดซื้อขายคาร์บอนเครดิตระดับโลก ถือเป็นการบรรลุข้อตกลงครั้งประวัติศาสตร์ตามที่ข้อตกลงปารีสได้กำหนดไว้

การเจรจาในเวที COP29 ที่เพิ่งผ่านไปได้บรรลุข้อตกลงระบบการซื้อขาย “คาร์บอนเครดิต” ระดับโลก เพื่อเป็นอีกเครื่องมือในการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือภาวะโลกร้อน โดยเปิดทางให้ประเทศต่างๆ หรือบริษัทที่ปล่อยคาร์บอนปริมาณสูงสามารถซื้อคาร์บอนเครดิตจากผู้ขายได้

 

จตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ซ้าย) ร่วมประชุม COP29

 

ทั้งนี้ คาร์บอนเครดิตเป็นส่วนหนึ่งในมาตรา 6 ของข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) ในปี 2015 ที่มุ่งหวังให้มีการซื้อขายคาร์บอนข้ามพรมแดนเพื่อการบรรลุเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งตามข้อตกลงปารีสกำหนดการซื้อขายไว้ 2 ประเภท

ประเภทแรก ตลาดตามมาตรา 6.2 ที่กำหนดแนวทางความร่วมมือระหว่างประเทศ (Cooperative approaches) ให้มีการซื้อขายทวิภาคีที่สามารถทำข้อตกลงซื้อขายคาร์บอนเครดิตโดยตรงระหว่างสองประเทศได้ และมีระบบการถ่ายโอนผลการลดก๊าซเรือนกระจกระหว่างประเทศ (ITMOs) ได้ 

ประเภทที่ 2 ตลาดตามมาตรา 6.4 กลไกพหุภาคี (Multilateral mechanism) จะมีการจัดตั้งตลาดคาร์บอนระดับโลกที่มีการสนับสนุนจาก UN ในการซื้อขายเพื่อลดการปล่อยคาร์บอนซึ่งมี UNFCCC ทำหน้าที่กำกับดูแล แต่ยังมีคำถามอยู่ว่าระบบใหม่จะจัดทำได้เร็วและมีประสิทธิภาพมากเพียงใด

การซื้อขายคาร์บอนเครดิตตามข้อตกลงปารีสจะเอื้อให้การมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนดหรือ Nationally Determined Contributions (NDCs) ของประเทศนั้นๆ เป็นไปตามเป้าที่วางไว้ โดยข้อตกลงใหม่จากที่ประชุม COP29 ครั้งนี้จะเปิดทางให้ประเทศที่ปล่อยก๊าซมากสามารถซื้อเครดิตชดเชยคาร์บอนจากประเทศกำลังพัฒนาได้นั่นเอง ซึ่งคาดว่าจะช่วยลดต้นทุนการดำเนินการตาม NDCs ได้ 250 พันล้านดอลลาร์ต่อปี

ข้อมูลจาก Statista ระบุสถิติการปล่อย CO2 หนึ่งในจำนวนก๊าซเรือนกระจก ในช่วงปี 2023 (หน่วยล้านเมตริกตัน) ดังนี้
จีน 11.9 ล้านเมตริกตัน, สหรัฐฯ 4.9 ล้านเมตริกตัน, อินเดีย 3 ล้านเมตริกตัน, รัสเซีย 1.8 ล้านเมตริกตัน, ญี่ปุ่น 0.98 ล้านเมตริกตัน, อิหร่าน 0.8 ล้านเมตริกตัน ซาอุดีอาระเบีย 0.73 ล้านเมตริกตัน, อินโดนีเซีย 0.73 ล้านเมตริกตัน, เยอรมนี 0.59 ล้านเมตริกตัน, เกาหลีใต้ 0.57 ล้านเมตริกตัน

อย่างไรก็ตาม ข้อตกลงจาก COP29 ในครั้งนี้มีเป้าหมายเพื่อสร้างตลาดคาร์บอนที่น่าเชื่อถือและโปร่งใสเพื่อช่วยให้ประเทศต่างๆ สามารถบรรลุเป้าหมายด้านสภาพภูมิอากาศ อีกทั้งการที่ UN มาทำหน้าที่กำกับดูแลจะทำให้แก้ข้อกังวลเกี่ยวกับการซื้อขายคาร์บอนเครดิตคุณภาพต่ำ หรือไม่มีค่าเชิงสิ่งแวดล้อม ซึ่งก่อนนี้เคยเกิดการซื้อขายอื้อฉาวของบริษัทในสหรัฐฯ ซึ่งเกิดคดีฉ้อโกง 100 ล้านดอลลาร์ 

อีกประเด็นที่น่าสนใจก็คือเกิดความกังวลเกี่ยวกับตลาดคาร์บอนขึ้นก่อนการประชุม COP28 ที่ดูไบ เมื่อปีที่แล้ว หลังจากมีการซื้อขายคาร์บอนเครดิตจากพื้นที่ป่าขนาดใหญ่ในแอฟริกาให้กับบริษัทของดูไบ ซึ่งหมายถึงว่าประเทศร่ำรวยจะเกิดการแย่งชิงและได้เปรียบในการคว้าทรัพยากรมาชดเชยคาร์บอนนั่นเอง อีกทั้งเป็นการฟอกเขียวให้บริษัทที่ปล่อยคาร์บอนหรือไม่ 

อ้างอิง :
Article 6 – Cooperative Implementation, UNFCCC

Nov 24, 2024 . Cop29’s new carbon market rules offer hope after scandal and deadlock by Patrick Greenfield, The Guardian

Nov 23, 2024 COP29: Complex Article 6 rules pave way to unruly carbon markets, Carbon Market Watch

22 พ.ย. 2022 . คาร์บอนเครดิตฟอกเขียวธุรกิจปล่อยมลพิษจริงหรือ?, The Active ThaiPBS

Copyright @2021 – All Right Reserved.