เก็บภาษีคาร์บอน ผู้สร้างมลพิษมีราคาต้องจ่าย บีบใช้พลังงานสะอาด

คลังเสนอ ครม.ภายใน ต.ค. นี้ให้มีการจัดเก็บภาษีคาร์บอนธุรกิจน้ำมัน แบตเตอรี เพื่อดันไทยสู่สังคมคาร์บอนต่ำ คาดพ.ร.บโลกร้อนบังคับใช้ได้ในปี 2569

นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รมช.คลัง กล่าวปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “นโยบายการเงินสีเขียว รับมือภาวะโลกเดือด” ในงานสัมมนา “Road to Net Zero 2024 The Extraordinary Green” ตอนหนึ่งว่า กระทรวงการคลังจะเสนอการจัดเก็บภาษีคาร์บอนให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบในเดือน ต.ค.นี้ เพื่อให้มีผลบังคับใช้ทันภายในปี 2567 ซึ่งการเก็บภาษีคาร์บอน หรือ Carbon Tax นั้นเนื่องจากผู้ผลิตที่ไม่เป็นมิตรสิ่งแวดล้อมไม่ได้ถูกจ่ายราคาในการสร้างมลพิษ

ฉะนั้นจะต้องมีราคาของคาร์บอน (Carbon price) ซึ่งกรมสรรพสามิตได้คิดกลไกผ่านการสร้างภาษีคาร์บอนเข้าไปในสินค้าที่ผลิต หรือสร้างมลพิษสูง เช่น น้ำมัน แต่ไม่ทำให้ราคาสินค้าเหล่านี้สูงขึ้น หรือเป็นราคาที่ประชาชนจ่ายภาษีน้ำมันเท่าเดิม แต่จะมีราคาของคาร์บอนอยู่ในสินค้าที่ผลิตคาร์บอน ซึ่งจะเกิดแรงจูงใจการผลิตสินค้าที่มีคาร์บอนต่ำลง สร้างแรงจูงใจให้ปรับเปลี่ยนวิธีการผลิต นอกจากนี้ จะพิจารณาภาษีแบตเตอรี่ระบบขั้นบันได เพื่อให้ผู้ผลิตผลิตแบตเตอรี่สะอาดที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

น.ส.รัชฎา วานิชกร ผู้อำนวยการสำนักแผนภาษี กรมสรรพสามิต กล่าวในหัวข้อ “ภาษีคาร์บอน กลไกขับเคลื่อน เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ” ว่า กลไกราคาคาร์บอนจะมีบทบาทสำคัญในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ ซึ่งไทยปล่อยก๊าซเรือนกระจก 372 ตันคาร์บอนต่อปี ส่วนใหญ่มาจากภาคพลังงานและภาคขนส่งคิดเป็น 70% รองลงมาเป็นภาคการเกษตร อุตสาหกรรม และการจัดการของเสีย ขณะนี้เหลือเวลาอีก 6 ปี ที่จะต้องพยายามลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ภายในปี 2030 จาก 555 ล้านตันคาร์บอน ลงมาที่ 333 ล้านตันคาร์บอน

อย่างไรก็ตาม ก่อนที่จะมี พ.ร.บ.Climate Change มาบังคับใช้ กรมสรรพสามิตจะเสนอ ครม.ให้มีการเก็บภาษีของสินค้าที่ปล่อยมลพิษสูงและอยู่ในพิกัดสรรพสามิต ไม่กระทบต่อผู้ใช้น้ำมัน เบื้องต้นอาจจะพิจารณากำหนดราคาคาร์บอนเป็นราคาเดียว เช่น 200 บาท หรือประมาณ 6 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งขึ้นอยู่กับมติ ครม. เมื่อนำราคาคาร์บอนไปคำนวณกับปริมาณเชื้อเพลิงก็จะได้ออกมาเป็นกลไกราคาคาร์บอนที่อยู่ในเชื้อเพลิงแต่ละประเภท ซึ่งน้ำมันที่ปล่อยคาร์บอนมากที่สุดคือ LPG รองลงมาน้ำมันเตา ดีเซล และเบนซิน

ด้าน ดร.พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช อธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม หรือกรมลดโลกร้อน (DCCE) กล่าวว่า โลกกำลังเผชิญกับวิกฤตการณ์ด้านสภาพภูมิอากาศ Action Green Transition ได้กลายเป็นแนวคิดสำคัญที่กำลังขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงทั่วโลก โดยไทยได้วางแผนเพื่อบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2050 (พ.ศ. 2593) และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions” ภายในปี 2065 (พ.ศ. 2608)

ทั้งนี้ มีเป้าหมายระยะสั้นคือ การมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด หรือ Nationally Determined Contributions (NDCs) ที่ 30-40% ภายในปี 2573 ขณะนี้แผนลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกรายสาขา ทั้งภาคพลังงาน ขนส่ง เกษตร ของเสีย และอุตสาหกรรม ได้เสร็จสิ้นแล้ว และกำลังเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีเพื่อบังคับใช้ (เป้าหมาย NDCs ของประเทศไทยในปี 2030 อยู่ที่ร้อยละ 20 หรือคิดเป็น 111 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า)

สำหรับเป้าหมายใหม่ในปี 2035 ภายใต้ความตกลงปารีส ซึ่งมีกำหนดส่งภายใน 1 ก.พ. 2568 ไทยตั้งเป้าจะดำเนินการให้ทัน แม้จะมีความท้าทาย เนื่องจากทั่วโลกต้องการเห็นการลดก๊าซเรือนกระจกที่ 60% โดยเฉลี่ย

อย่างไรก็ตาม กรมลดโลกร้อนกำลังเร่งผลักดัน พ.ร.บ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. … ซึ่งประกอบด้วย 14 หมวด แบ่งเป็น 3 กลุ่มใหญ่ ได้แก่ 1. การลดก๊าซเรือนกระจก โดยกำหนดให้มีการรายงานข้อมูลเป็นรายองค์กร 2. กลไกการซื้อขายสิทธิ์การปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Emission Trading) ของภาคอุตสาหกรรมเป็นรายสาขา 3. การจัดสรรสิทธิ์การปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างเป็นธรรม โดยคำนึงถึงความสามารถในการผลิตและปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมา

ขณะนี้ร่าง พ.ร.บ.นำเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะอนุกรรมการทางกฎหมายแล้ว 14 ครั้ง เหลืออีก 2 ครั้งที่จะเข้าคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติในเดือนต.ค. นี้ จากนั้นจะเสนอเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อรับหลักการและส่งไปยังกฤษฎีกาตรวจร่าง ซึ่งตอบไม่ได้ว่าจะใช้เวลานานแค่ไหน แต่คาดว่าจะผ่านการพิจารณาของ ครม.ภายในปี 2568 และจะสามารถบังคับใช้ได้ในปี 2569 ซึ่งกฎหมายฉบับนี้ไม่ใช่ออกมาเพื่อเพื่อฆ่าธุรกิจไทย แต่เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมไปสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน และ Net Zero บนพื้นฐานของความยั่งยืน

กฎหมายฉบับนี้จะเป็นกลไกช่วยสนับสนุนการจัดเก็บภาษีคาร์บอน เเละ Emission Trading Scheme หรือ ETS คือการซื้อขายสิทธิในการปล่อยคาร์บอนเป็นการการกำหนดเพดานการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Cap) ของผู้ผลิต [ผู้ผลิตแต่ละรายจะได้รับโควต้าในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากภาครัฐในรูปของใบอนุญาต หากปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำกว่าจำนวนในใบอนุญาต ผู้ผลิตนั้นๆ สามารถขายต่อใบอนุญาตที่เหลือแก่ผู้ผลิตรายอื่นได้ ในทางกลับกันหากผู้ผลิตรายใดปล่อยก๊าซเรือนกระจกเกินโควตาที่ได้รับก็ต้องซื้อใบอนุญาตต่อจากผู้ผลิตรายอื่น]

ดร.พิรุณ กล่าวว่า นอกจากนี้จะมีการตั้งกองทุนภูมิอากาศ โดยจะมีแหล่งเงินจากหลายแหล่ง เบื้องต้นจะขอจากรัฐบาลไม่เกิน 5,000 ล้านบาทในช่วง 2 ปี จากนั้นจะมีแหล่งเงินจากการประมูลสิทธิ์ก๊าซเรือนกระจกและมีแหล่งเงินจากการขายคาร์บอนเครดิตระหว่างประเทศที่เป็นค่าธรรมเนียมที่ต้องเก็บ

อนึ่ง Carbon Neutrality หรือความเป็นกลางทางคาร์บอนคือ การที่ปริมาณการปล่อยคาร์บอน (CO2) เข้าสู่ชั้นบรรยากาศเท่ากับปริมาณคาร์บอนที่ถูกดูดซับกลับคืนมาผ่านป่าหรือวิธีการอื่น ส่วน Net Zero Emissions หรือ การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ คือ การที่ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมีความสมดุลเท่ากับก๊าซเรือนกระจกที่ถูกดูดซับออกจากชั้นบรรยากาศ ซึ่งหากทุกประเทศทั่วโลกสามารถบรรลุเป้า Net Zero Emissions ได้ก็แปลว่าเราสามารถหยุดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกส่วนเกินที่ส่งผลให้เกิดปรากฏการณ์โลกร้อนได้

สำหรับงานสัมมนา “Road to Net Zero 2024 The Extraordinary Green” จัดโดยฐานเศรษฐกิจ เมื่อวันที่ 26 ก.ย. ที่ผ่านมา

Related posts

โลกร้อนซ้ำเติมแอฟริกา น้ำท่วมทะเลทรายซาฮารา ฝนถล่มคร่านับพันชีวิต

อุณหภูมิเพิ่ม ปัจจัยเร่งพายุรุนแรงขึ้น 2 เท่า น้ำท่วมไทยอ่วม 46,500 ล้าน

รู้จักกฎหมายโลกร้อนฉบับละเอียด ธุรกิจซื้อคาร์บอนเครดิตได้ไม่เกิน 15%