เมื่อเลิกฟอสซิลไม่ได้ ต้องกักเก็บคาร์บอนใน ‘ดิน’ ต่อสู้ภาวะโลกร้อน

แม้ภาคเกษตรจะมีสัดส่วนการปล่อยคาร์บอนต่ำ แต่จำเป็นต้องเผาวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร รวมทั้งปรับเปลี่ยนไปทำการเกษตรแบบธรรมชาติ หรือเกษตรอินทรีย์

การกักเก็บคาร์บอนในดิน (soil carbon sequestration) หมายถึง กระบวนการเปลี่ยนแปลงรูปก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากบรรยากาศมากักเก็บไว้ในดิน เพื่อลดการเพิ่มขึ้นของก๊าซคาร์บอนในบรรยากาศ “ดิน” จึงมีศักยภาพในการกักเก็บคาร์บอน นอกจากช่วยลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำเกิดภาวะโลกร้อนแล้ว คาร์บอนที่ถูกกักเก็บไว้ในดินมีส่วนทำให้เกิดเม็ดดินที่เสถียร มีการระบายอากาศดีขึ้น และมีความจุในการอุ้มน้ำดีขึ้น ส่งผลต่อความอุดมสมบูรณ์ของดิน และธาตุอาหารพืช

การหยุดโลกร้อนทำได้ 2 ทางหลัก คือ 1. หยุดปล่อยก๊าซที่ทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจกซึ่งเป็นปัญหาโลกที่ยากที่จะทำได้ และ 2. กักเก็บคาร์บอนให้ได้มากที่สุด สำหรับประเทศไทยพบว่า ภาคพลังงานปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุด 71.65% ภาคอุตสาหกรรมและการใช้ผลิตภัณฑ์ 8.89% ภาคเกษตร 14.72% และภาคของเสีย 4.73% ของปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมด

การหยุดปล่อยก๊าซเรือนกระจกจึงกล่าวได้ว่าไม่มีทางเป็นไปได้ ตราบที่ทุกประเทศจำเป็นต้องขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ฉะนั้นภาคเกษตรแม้จะปล่อยก๊าซน้อยกว่าภาคพลังงานและอุตสาหกรราม แต่สามารถมีบทบาทสำคัญในการกักเก็บคาร์บอนไว้ในดินซึ่งเป็นแหล่งกักเก็บขนาดใหญ่ที่จะช่วยลดผลกระทบจากโลกร้อนได้ แนวทางการกักเก็บคาร์บอนในดินสามารถทำได้ ดังนี้
– การทำการเกษตรแบบไม่ไถพรวนหรือลดการไถพรวนในการเตรียมพื้นที่เพาะปลูก
– ใส่วัสดุอินทรีย์ เช่น ฟางข้าว เศษใบไม้ต่าง ลงไปในดิน
– ไม่เผาเศษวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร
– การใช้ปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยอินทรีย์แทนการใช้ปุ๋ยเคมี
– การใช้ถ่านชีวภาพ (Biochar)
– การปลูกพืชหมุนเวียนหรือพืชคลุมดิน เช่น พืชตระกูลถั่ว
ฯลฯ

เมื่อพูดเรื่องดินต้องไปดูข้อมูลกรมพัฒนาที่ดินซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบดูแลทรัพยากรดินให้สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างยั่งยืน การนำคาร์บอนจากบรรยากาศมากักเก็บไว้ในดิน (recarbonization) ซึ่งเป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอนบนภาคพื้นดินที่ใหญ่ที่สุด และจะเป็นกลยุทธ์ที่สำคัญในการทำการเกษตรแบบรักษ์โลกอีกด้วย

จากการศึกษาการกักเก็บคาร์บอนไว้ในดินในพื้นที่เกษตรกรรม จำแนกตามทรัพยากรดินแต่ละชุดดินในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พบว่า ปริมาณอินทรีย์คาร์บอนมีค่าอยู่ในช่วงร้อยละ 0.01-2.0 ส่วนใหญ่มีปริมาณอินทรีย์คาร์บอนอยู่ในระดับต่ำกว่าร้อยละ 0.5 เมื่อพิจารณาปริมาณอินทรีย์คาร์บอนในดินที่ความลึก 0-100 เซนติเมตร พบว่า มีปริมาณอินทรีย์คาร์บอนสะสมอยู่ในช่วง 3.2–13.7 ตันคาร์บอนต่อไร่

โดยพบสูงสุดในชุดดินกันทรวิชัย ซึ่งมีเนื้อดินเป็นดินเหนียว มีปริมาณ 13.7 ตันคาร์บอนต่อไร่ รองลงมาคือ ชุดดินธาตุพนม ซึ่งมีเนื้อดินเป็นดินร่วนปนทรายแป้ง มีปริมาณ 12.5 ตันคาร์บอนต่อไร่ ส่วนชุดดินที่มีปริมาณการสะสมอินทรีย์คาร์บอนต่ำที่สุดคือ ชุดดินบ้านไผ่ ซึ่งเป็นดินที่มีเนื้อดินเป็นดินทราย มีปริมาณ 3.2 ตันคาร์บอนต่อไร่

การศึกษากักเก็บคาร์บอนในดิน แต่ละประเภทของการใช้ประโยชน์ที่ดิน มีผู้ศึกษาวิจัยดังนี้
1) การกักเก็บคาร์บอนในพื้นที่ปลูกข้าว พบว่ามีการสะสมของคาร์บอนในดินอยู่ในช่วง 0.27–0.44 ตันคาร์บอนต่อไร่ โดยนาอินทรีย์จะมีการสะสมคาร์บอนในดินสูงกว่านาเคมี และผลของการจัดการน้ำทำให้การสะสมคาร์บอนในดินลดลง

2) การกักเก็บคาร์บอนในพื้นที่ปลูกพืชไร่ ศึกษาพลวัตรของคาร์บอนในดินภายใต้การไถกลบตอซังข้าวโพด พบว่า ปริมาณคาร์บอนในดินบนอยู่ระหว่าง 2-7 ตันคาร์บอนต่อไร่ โดยมีการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากดินเฉลี่ย 0.55-0.96 ตันคาร์บอนต่อไร่ต่อปี

3) การกักเก็บคาร์บอนในพื้นที่ไม้ผล พบว่าสวนส้มที่อายุ 1-25 ปี มีการกักเก็บคาร์บอนในดินอยู่ระหว่าง 7.12-12.67 ตันต่อไร่
4) การกักเก็บคาร์บอนในพื้นที่ไม้ยืนต้น พบว่ายางพาราที่อายุ 5-26 ปีมีปริมาณการกักเก็บคาร์บอนในดินอยู่ระหว่าง 8.93-9.40 ตันต่อไร่

ผลการศึกษาการกักเก็บอินทรีย์คาร์บอนในดินของประเทศไทย พบว่า ครึ่งหนึ่งของประเทศไทยมีการกักเก็บอินทรีย์คาร์บอนในดินอยู่ในระดับต่ำถึงปานกลาง (0-8 ตันต่อไร่) มีเนื้อที่รวม 182,974,428 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 57 ของพื้นที่ทั้งประเทศ โดยในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีระดับการกักเก็บคาร์บอนในดินต่ำกว่าภาคอื่นๆ อย่างชัดเจน มีพื้นที่อยู่ในระดับต่ำถึงปานกลาง จำนวน 90,625,885 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 49.58 ของพื้นที่ที่พบการกักเก็บอินทรีย์คาร์บอนในดินในระดับต่ำถึงปานกลางทั้งประเทศ เนื่องจากดินส่วนใหญ่เป็นดินทราย มีการระบายน้ำดี ในสภาพอากาศที่ร้อนชื้น ให้อินทรียวัตถุสลายตัวอย่างรวดเร็ว

รองลงมาได้แก่ ภาคเหนือ ภาคใต้ ภาคกลาง และภาคตะวันออก มีพื้นที่ 42,083,141 ไร่ (ร้อยละ 23.02) 21,651,438 ไร่ (ร้อยละ 11.84) 14,324,723 ไร่
(ร้อยละ 7.84) และ 14,109,241 ไร่ (ร้อยละ 7.72) ตามลำดับ

นอกจากนี้พบว่า ภาคเหนือจะมีพื้นที่ที่มีการกักเก็บอินทรีย์คาร์บอนในระดับสูง (12-16 ตันต่อไร่) มากกว่าภาคอื่นๆ อย่างเด่นชัด มีพื้นที่ 40,017,518 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 66.90 ของพื้นที่ที่มีการกักเก็บอินทรีย์คาร์บอนในระดับสูงทั้งประเทศ เนื่องจากมีพื้นที่ป่าไม้เป็นจำนวนมาก ทำให้มีการสะสมอินทรีย์คาร์บอนไว้ในดินเป็นจำนวนมาก

ฉะนั้นแม้ภาคเกษตรจะปล่อยคาร์บอนต่ำ แต่มีความจำเป็นทั้งการลดการเผาวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร รวมทั้งการปรับเปลี่ยนไปทำการเกษตรแบบธรรมชาติหรือเกษตรฟื้นฟู (Regenerative Agriculture) หรือหันไปทำเกษตรอินทรีย์ที่ไม่พึ่งพาสารเคมี ซึ่งนอกจากช่วยลดโลกร้อนแล้ว ยังช่วยลดปัญหาสุขภาพด้วยการบริโภคอาหารปลอดภัยมากขึ้นด้วย

อ้างอิง:
• การศึกษาปริมาณคาร์บอนในดินของประเทศไทย The Study of Soil Carbon in Thailand โดย วัฒนา พัฒนถาวร กลุ่มพัฒนาและประยุกต์ใช้ระบบฐานข้อมูลดิน
กองสำรวจดินและวิจัยทรัพยากรดิน กรมพัฒนาที่ดิน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
• การกักเก็บคาร์บอนในดินกับสภาวะโลกร้อน . สวพส.

Related posts

เมืองทั่วโลกเร่งปรับตัว รับมือคลื่นความร้อนดันอุณหภูมิเฉลี่ยเพิ่มสูงขึ้น

สรุป 10 ปัจจัยน้ำท่วมเชียงราย ไม่มีระบบบริหารจัดการน้ำระดับชาติ

โลกป่วนภูมิอากาศเปลี่ยน คุมอุณหภูมิไม่อยู่ Flexitarian ช่วยกอบกู้โลก