‘วราวุธ’ ยันไม่ฟอกเขียวทุนสีเทา ปลูกป่าชายเลนลงทุนคาร์บอนเครดิต ไม่กระทบวิถีชุมชนในพื้นที่

รัฐมนตรีกระทรวงทรัพย์ยืนยันโครงการเปิดป่าชายเลนให้เอกชนลงทุนคาร์บอนเครดิตด้วยการปลูกป่า จะไม่กระทบวิถีชุมชน และจะไม่เลือกเอกชนสีเทาเข้าร่วมโครงการ

นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า ระเบียบกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งว่าด้วยการแบ่งปันคาร์บอนเครดิตที่ได้จากการปลูกและการจัดการป่าชายเลนชุมชน พ.ศ. 2565 ที่กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) จะประกาศให้เอกชนใช้พื้นที่เพื่อปลูกป่าชายเลนใช้เป็นทรัพย์สินคาร์บอนเครดิตจะไม่ดำเนินการให้เกิดผลกระทบต่อวิถีชุมชน

ทั้งนี้นโยบายดังกล่าวนี้จะมีการแบ่งพื้นที่ให้เอกชนดำเนินการในสัดส่วนที่พอ ๆ กัน จะมีการจ้างคนในชุมชนในการปลูก แต่พื้นที่ป่าชายเลนมีจำกัดแค่หลักแสนไร่ แต่มีเอกชนประสงค์จะเข้าร่วมโครงการนี้จำนวนมาก

“จะถัวให้ให้พอ ๆ กันแบ่งอย่างไรให้ทุกคนได้พื้นที่ แต่ต้องไม่กระทบกับวิถีชีวิตชุมชนในพื้นที่นั้น ๆ ประชาชนจะได้ประโยชน์โดยเอกชนที่เข้าร่วมจะมีการขึ้นทะเบียนกับ อบก. ซึ่งจะมีการกลั่นกรอง จะไม่มีเอกชนสีเทา ถ้าผมยังเป็นรัฐมนตรีผมจะไม่ยอม” นายวราวุธกล่าว

นายวราวุธ กล่าวตอนหนึ่งในงานวันสิ่งแวดล้อมโลกภายใต้แนวคิด “Only One Earth : เพราะโลกมีเพียงใบเดียว ตอนหนึ่งว่า เร็ว ๆ นี้จะเดินทางไปลงนามความตกลงกับสวิตเซอร์แลนด์เกี่ยวกับการซื้อขายคาร์บอนเครดิตซึ่งจะเป็นประเทศคู่แรกของโลกในการตกลงซื้อขายคาร์บอนเครดิต ซึ่งไทยจะได้รับการสนับสนุนการลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากกว่าเดิม

อย่างไรก็ตาม ภายใน 1-2 ปีนี้จะมีความชัดเชนเรื่องการขายคาร์บอนเครดิตจากการปลูกป่ามากขึ้น แม้ว่าราคาต่อตันจะอยู่ในระดับ 80-100 บาท แต่ในยุโรปตกตันละ 4,000 บาท

“เราปล่อยก๊าซเรือนกระจกแค่ 0.8% เทียบกับทั่วโลก แต่ติด 1 ใน 10 ประเทศแรกที่ได้รับผลกระทบจาก Climate Change” นายวราวุธกล่าวและว่า ขณะนี้ได้ดำเนินนโยบายปลูกต้นไม้เพื่อช่วยลดโลกร้อนโดยประชาชนขอกล้าไม้ไปแล้ว 95 ล้านต้นจากเป้าหมาย 100 ล้านกล้า ซึ่งทุกต้นที่ปลูกมีคิวอาร์โคดที่สามารถตรวจสอบได้ แต่ตามสถิติจะตายประมาณ 20% ซึ่งจะมีการปลูกซ่อม

อนึ่ง ก่อนหน้านี้เพจ @Thai Climate Justice for All หรือ TCJA ได้โพสต์ข้อความระบว่า กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กำลังออกระเบียบ “เปิดป่าชายเลน” ให้เอกชนเข้าลงทุนแปลงป่าให้เป็นทรัพย์สินคาร์บอนเครดิต ขณะนี้มีเอกชนสนใจลงทุนไม่ต่ำกว่า 5 แสนไร่

TCJA มีความกังวลต่อผลกระทบทางนิเวศ ขาดการมีส่วนร่วมชุมชน เปิดช่องให้อ้างสิทธิผู้ลงทุนครอบงำสิทธิชุมชนต่อฐานทรัพยากร การผลักภาระให้ชุมชน รัฐ สาธารณะต้องรับ ถูกเอารัดเอาเปรียบแบ่งผลประโยชน์อย่างไม่เป็นธรรม และไม่มีการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสังคม และป้องกันการฟอกเขียวจากกลุ่มทุน “สีดำ สีเทา” ทั้งหลาย

รายละเอียดปัญหาของร่างระเบียบกรมทรัพยากรชายฝั่งต่อการลงทุนคาร์บอนเครดิตมี ดังนี้

1) การนิยามพื้นที่โครงการ กรมฯ กันพื้นที่ของตัวเองออก ให้เหลือแต่พื้นที่ชุมชน

ความไม่ชัดเจนอยู่ที่อำนาจการจัดการพื้นที่ป่าที่ลงทุนของเอกชนมีขอบเขตแค่ไหน  อาจเปิดช่องให้เอกชนมีสิทธิเหนือสิทธิชุมชนในพื้นที่เข้าโครงการ

2) ในการเสนอโครงการ ไม่ได้กำหนดกระบวนการรับฟังและมีส่วนร่วมจากชุมชนไว้ เสี่ยงที่เอกชนจะรวบรัด ใช้เงินกับผู้นำบางคน และไม่เผยขอบเขตสิทธิ ประโยชน์และภาระระหว่างเอกชนกับชุมชนให้ชัดเจน จะมีปัญหาชุมชนถูกหลอก หรือทะเลาะกันเรื่องผลประโยชน์ในชุมชนได้ง่าย

และที่สำคัญชุมชนมีสิทธิปฏิเสธได้มั้ย

3) การนิยามคาร์บอนเครดิต (เข้าใจว่าเอามาจาก อบก.) ทำให้เกิดความเข้าใจผิดต่อเจตนารมย์ได้ การพูดถึงหน่วยกักเก็บคาร์บอน ก็เป็นเพียงหน่วยคาร์บอน ซึ่งการวัดคาร์บอนจากการฟื้นฟูป่าก็เป็นสิ่งที่เข้าใจได้ แต่จะเป็นคาร์บอนเครดิตก็ต่อเมื่อแปลงหน่วยคาร์บอนนั้นให้เป็นทรัพย์สินเพื่อการลงทุนสำหรับการชดเชยปล่อยคาร์บอนของผู้ลงทุน (จากกิจกรรม อุตสาหกรรมอื่นๆ ของผู้ลงทุน) หน่วยคาร์บอนเฉยๆ ไม่เป็นคาร์บอนเครดิต

4) การแบ่งปันผลประโยชน์ กำหนดแต่เพียงกรมฯ ได้ร้อยละ 10 ส่วนผู้ลงทุนกับชุมชนให้ไปตกลงกันเองภายในร้อยละ 90 ไม่มีการสร้างหลักประกัน การตรวจสอบ คุ้มครองสิทธิชุมชนหากสัญญาไม่เป็นธรรม หรือไม่มีสัญญา!  การเอารัดเอาเปรียบจากผู้ลงทุนจะเกิดได้ง่าย

5) ไม่มีกำหนดว่า สถานะสิทธิ ผลประโยชน์ ความรับผิดชอบผู้ลงทุน ชุมชน และกรมฯ ในระยะต่อเนื่องหลังจากปลูกป่าเป็นอย่างไร หากป่าเสื่อมโทรมหรือถูกทำลายด้วยเหตุใดก็แล้วแต่ ใครจะรับผิดชอบ สินทรัพย์คาร์บอนเครดิตจะยังอยู่มั้ย ชุมชนและกรมฯ จะถูกผู้ลงทุนฟ้องร้องมั้ย

6) ไม่มีการประเมินผลกระทบอย่างมีส่วนร่วมจากการปลูกป่า ว่าจะป้องกัน แก้ไข ชดเชยอย่างไรหากกระทบความหลากหลายชีวภาพ ความมั่นคงอาหาร เศรษฐกิจท้องถิ่น วิถีชุมชน และบริการนิเวศอื่นๆ ที่สูญเสียไปจากการปลูกป่าเพื่อเอาคาร์บอน

7) ไม่มีการป้องกันการฟอกเขียว ด้วยการคัดกรองผู้ลงทุนว่าจะต้องไม่มีกิจกรรมที่ทำลายระบบนิเวศ ปล่อยคาร์บอนอย่างมาก และผู้ลงทุนจะต้องแสดงผลความรับผิดชอบจัดการแก้ไขอย่างจริงจังเสียก่อน ไม่เช่นนั้นจะเป็นการเอาป่าของสาธารณะและชุมชนไปร่วมแบกรับกระบวนการฟอกเขียวให้กับผู้ลงทุนด้านมืดและสีเทาได้ ซึ่งทั้งหมดนี้ควรการขึ้นทะเบียนกลุ่มทุนที่จะมาลงทุน และมีกระบวนการตรวจสอบ คัดกรองผู้ลงทุน โดยชุมชน สังคมควรมีสิทธิร่วมตรวจสอบด้วย

Related posts

จัดเดิน-วิ่ง มินิมาราธอน ปีที่ 2 ส่งต่อขาเทียมช่วยผู้พิการยากไร้

‘COP-19’ ดันอาเซียน เป็นภูมิภาคปลอด หมอกควัน

5 ปีอุณภูมิโลกส่อทะลุ 1.5 องศา ไทยเร่งรับมือ 6 สาขาเสี่ยงระดับพื้นที่