แนะไทยพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากพลังานทดแทน ปรับวิธีปลูกข้าว แก้ปัญหาขยะ เพื่อเป็นศูนย์กลางซื้อขายคาร์บอนเครดิตของอาเซียน
รมว.คลัง แนะไทยปรับวิธีปลูกข้าว การแก้ปัญหาเรื่องขยะ แนะกุญแจความสำเร็จมี 3 เรื่อง 1. มีคาร์บอนเครดิตอย่างเพียงพอ 2. ต้องมีนโยบาย และการกำกับดูแล กฎระเบียบที่สร้างความเชื่อมั่นว่าวิธีจัดเก็บคาร์บอนที่ยอมรับของชาวโลก และ 3. ซื้อขายคาร์บอนเครดิตผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัล และเป็นผู้นำผู้ส่งออกคาร์บอนเครดิตของอาเซียน
นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง กล่าวปาฐากถาพิเศษ ในงานสัมมนา Prachachat ESG Forum 2024 หัวข้อ “Time for Action #พลิกวิกฤตโลกเดือด” จัดโดย “ประชาชาติธุรกิจ” เมื่อเร็วๆ นี้ตอนหนึ่งว่า ประเทศไทยได้รับโจทย์ว่า ต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 30% ภายในปี 2030 หรืออีก 6 ปีจากนี้ต้องยอมรับว่าค่อนข้างลำบาก
“ขณะที่โจทย์ต่อไปในอีก 20 ปีข้างหน้า การปล่อยคาร์บอนและการนำเข้าจะต้องเท่ากัน เป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2050 และให้เวลาอีก 15 ปีหลังจากนั้นไปสู่ Net Zero ในปี 2065 ไม่มีการปล่อยคาร์บอนทุกอย่างเป็นศูนย์หมด โลกนี้สดใสน่าอยู่ขึ้น”
กุญแจหรือคีย์สำคัญในการทำให้สำเร็จมี 3 เรื่อง คือ 1. ต้องมีคาร์บอนเครดิตอย่างเพียงพอ 2. ต้องมีนโยบาย และการกำกับดูแล กฎระเบียบต่างๆ ที่สร้างความเชื่อมั่นว่าวิธีจัดเก็บคาร์บอน มีความเป็นสากลและเป็นที่ยอมรับของชาวโลก และ 3. คาร์บอนเครดิตต้องซื้อขายได้ เหมือนเครื่องมือทางการเงินทั่วไป โดยผ่านดิจิทัลแพลตฟอร์ม
นายพิชัยกล่าวอีกว่า หากไทยไม่ทำตามข้อตกลง หรือทำแล้วแต่ไม่บรรลุเป้าหมาย แน่นอนว่าภาคการผลิตจะมีปัญหาแล้วจะส่งออกไม่ได้ ซึ่งไทยเป็นประเทศที่พึ่งพาการส่งออก แม้วันนี้สัดส่วนจะลดจาก 70% เหลือ 65% แล้วก็ตาม
“อยากให้นึกภาพว่าถ้าเราปลูกข้าวแล้วไม่มีใครซื้อ ต้องบริโภคกันเองในประเทศจะเป็นอย่างไร หากลดคาร์บอนไม่ได้ตามเป้า ก็ต้องไปซื้อคาร์บอนเครดิตมาจากประเทศอื่นเพื่อให้ส่งออกได้ แต่ต้นทุนจะแพงมาก ธุรกิจก็จะอยู่รอดไม่ได้ ขณะเดียวกันภาคการลงทุนก็จะหายหมด เพราะคงไม่มีใครอยากมาลงทุน เพราะลงทุนไปก็ขายสินค้าไม่ได้ โดยเฉพาะนักลงทุนต่างประเทศก็ไม่มีใครอยากมาลงทุน”
สำหรับ การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) นักลงทุนทุกคนต้องการ 3 สิ่ง คือ 1. ต้องการพลังงานสีเขียว 2. ต้องการการทำงานที่มีประสิทธิภาพ ใช้เวลาสั้น และ 3. ต้องการคนทำงานที่มีประสิทธิภาพ ตรงกับความต้องการ
“นักลงทุนเขาส่งสัญญาณตั้งแต่วันนี้แล้ว ไม่ว่าเขาจะไปลงทุนที่ไหนก็ต้องการ 3 สิ่งนี้ เพื่อเขาจะอยู่รอดได้เช่นกัน ดังนั้น ถ้าภาคการผลิตมีปัญหา การลงทุนมีปัญหาก็ไม่ต้องพูดเลย ภาคการเงินก็คงจะไม่เป็นแหล่งเงินลงทุนให้ ก็จะหาเงินลงทุนไม่ได้ ฟังแค่นี้ก็จะรู้แล้วว่า ถ้าทำไม่ได้ตามเป้าหมายจะเป็นอย่างไร”
รองนายกฯ กล่าวอีกว่า ประเทศไทยอยู่ห่างจากเป้าหมายมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 370 ล้านตัน/ปี ซึ่งการจะลดให้ได้ 30% ใน 6 ปีข้างหน้า ต้องลดให้ได้ 120 ล้านตัน/ปี แต่ช่วง 10 ที่ผ่านมาตัวเลขอยู่ที่ 370 ล้านตัน/ปี เหมือนเดิม โดย 70% มาจากภาคพลังงาน ภาคเกษตรกรรม 15% อุตสาหกรรม และอื่นๆ อีก 10% และขยะอีก 5%
“ถ้าเราจะลดได้ เราต้องโชว์ให้ชาวโลกเห็นว่า เราจะผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนได้แค่ไหน ถ้าสมมุติว่าเอามาจากเขื่อน 1 ใน 8 รันทั้งปีเลย จะได้ประมาณ 30 ล้าน REC (Renewable Energy Certificate) หรือประมาณ 15 ล้านตัน เทียบกับที่ต้องลดให้ได้ 150 ล้านตัน ถ้ารวมกับพลังงานแสงอาทิตย์ หรือโซลาร์อีกจะได้แค่ประมาณ 5 ล้านตัน ทำเต็มที่สองอย่างรวมกันได้ 20 ล้านตัน เทียบกับ 120 ล้านตัน ขาดอีก 100 ล้านตัน จะทำอย่างไร นี่คือโจทย์”
นายพิชัย กล่าวว่า สิ่งที่ต้องทำคือ การกักเก็บคาร์บอนเครดิตให้ได้จำนวนมากๆ เช่น การปรับวิธีปลูกข้าว การแก้ปัญหาเรื่องขยะ เป็นต้น ซึ่งกุญแจหรือคีย์สำคัญในการทำให้สำเร็จมี 3 เรื่อง คือ 1. ต้องมีคาร์บอนเครดิตอย่างเพียงพอ 2. ต้องมีนโยบาย และการกำกับดูแล กฎระเบียบต่างๆ ที่สร้างความเชื่อมั่นว่าวิธีจัดเก็บคาร์บอน มีความเป็นสากลและเป็นที่ยอมรับของชาวโลก และ 3. คาร์บอนเครดิตต้องซื้อขายได้ เหมือนเครื่องมือทางการเงินทั่วไป โดยผ่านดิจิทัลแพลตฟอร์ม
“ต้องมีดิจิทัลแพลตฟอร์ม ซึ่งวันนี้ผมเล็งไปที่ TDX (ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลไทย) ของตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่ไม่ Active อยู่ อันนี้เหมาะสม จะพยายามผลักดันให้เห็นการเข้าไปเทรด แล้วจะรู้ว่ามีมูลค่าเท่าไหร่ เพื่อสร้างให้เกิดความน่าเชื่อถือ
“วันนี้สิงคโปร์เขามีแล้ว ราคาเทรดอยู่ที่ 20 เหรียญสิงคโปร์ หรือ 17 เหรียญสหรัฐต่อ 1 REC แต่เขาจะปรับทุก ๆ 2 ปี ซึ่งเมื่อถึงปี 2030 เขาจะเพิ่มเป็น 70 เหรียญสิงคโปร์ หรือ 49 เหรียญสหรัฐหรือคำนวณออกมาเป็น 1 ตันคาร์บอนเท่ากับ 98 เหรียญสหรัฐ ซึ่งใกล้เคียงกับราคาที่เทรดในยุโรปอยู่ในวันนี้ คือจะเข้ายุโรปวันนี้ต้องจ่าย 100 เหรียญต่อตัน”
รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง กล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมากระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จัดตั้งกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม ขึ้นมา ซึ่งจะมีหลักสูตรอบรมให้ความรู้ในเรื่องเหล่านี้ ขณะเดียวกันที่ทำในลักษณะอาสาสมัครก็คือ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน)
“ทั้งหมดนี้คือความเดือดร้อน โลกเดือด เป็นปัญหาที่ประเทศไทยต้องเจอ แต่ก็มีความท้าทาย และมีโอกาสซ่อนอยู่ สมมุติเราทำได้มากกว่าที่มันควรจะเป็น เราก็สามารถเปลี่ยนประเทศไทยให้เป็นผู้นำอาเซียน เป็นผู้ส่งออกคาร์บอนเครดิต จากคนที่จะต้องซื้อเพียงอย่างเดียว”