กรมอุทยานฯ ส่งเจ้าหน้าที่ลุยพื้นที่จับอีกัวน่าเขียวป่วนเมือง

นายอรรถพล เจริญชันษา ว่าที่อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน นายสุทธิพงษ์ แกมทับทิม ผู้อำนวยการส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จ.ลพบุรี และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องจากหน่วยงานอื่นได้ร่วมลงพื้นที่ตรวจสอบพื้นที่ชุมชนเขาพระยาเดินธง อ.พัฒนานิคม จ.ลพบุรี เพื่อประเมินสภาพถิ่นที่อยู่อาศัยของ “อีกัวน่า” ที่แพร่ขยายพันธุ์และสร้างความเดือดร้อนให้ประชาชนในพื้นที่

ทั้งนี้ พบอีกัวน่าเขียวกระจายตัวบริเวณใกล้บ้านเรือนประชาชนบริเวณที่มีต้นไม้สูงใกล้แหล่งน้ำและบางส่วนพบเห็นตามพื้นที่ไร่สวน โดยสำรวจได้ทั้งหมด 71 ตัว สามารถจับอีกัวน่าเขียวได้ 5 ตัว และจะดักจับอย่างต่อเนื่อง สำหรับอีกัวน่าเขียวที่จับได้ทางส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่าจะส่งสัตว์ไปยังศูนย์ช่วยเหลือสัตว์ป่าที่ 1 นครนายก เพื่อดูแลต่อไป

สำหรับบริเวณพื้นที่คำชะโนด อ.บ้านดุง จ.อุดรธานี และพื้นที่ใกล้เคียง สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 10 อุดรธานี โดยนายสมบัติ สุภศร ผู้อำนวยการส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า พร้อมเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องได้วางแผนหาแนวทางแก้ปัญหาการกระจายพันธุ์ การทำลายพืชผล การรบกวนระบบนิเวศของอีกัวน่าเขียวบริเวณพื้นที่คำชะโนด และพื้นที่ใกล้เคียง ซึ่งพบว่ามีการขยายพันธุ์เพิ่มจำนวนขึ้น แต่ยังไม่พบการทำลายพืชผลการเกษตร โดยสามารถดักจับได้ 3 ตัว และจะส่งไปยังศูนย์อนุรักษ์และช่วยเหลือสัตว์ป่าต่างประเทศภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อ.สังคม จ.หนองคาย

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลล่าสุดพบเห็นอิกัวนาเขียวอย่างน้อยใน 3 พื้นที่ ประกอบด้วย

  • บริเวณพื้นที่ชุมชนใกล้เขาพระยาเดินธง อ.พัฒนานิคม จ.ลพบุรี พบเห็นประมาณ 300 ครั้ง (ไม่มีจำนวนที่แน่ชัด)
  • บริเวณพื้นที่วัดป่าคำชะโนด อ.บ้านดุง จ.อุดรธานี คาดว่ามีประมาณ 10 ตัว
  • ชุมชนหนองยาว อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี คาดว่ามีประมาณ 10 ตัว

นายอรรถพล กล่าวว่า กรมอุทยานฯ จะเชิญนักนิเวศวิทยา ผู้เชี่ยวชาญสัตว์เลื้อยคลาน สมาคมผู้นิยมเลี้ยงสัตว์ชนิดพิเศษ มาหารือภายในสัปดาห์นี้ โดยจากข้อมูลกรมอุทยานฯ พบว่าตั้งแต่ปี 2533-2565 มีการอนุญาตนำเข้าสัตว์เลื้อยคลาน 199 ชนิด ทั้งหมด 238,774 ตัว จาก 72 ประเทศ 6 ภูมิภาค (แอฟริกา ยุโรป เอเชีย อเมริกากลาง อเมริกาเหนือ โอเชเนียร์) ในจำนวนนี้เป็นอิกัวนา 5,877 ตัว จาก 11 ประเทศ 5 ภูมิภาค (อเมริกาเหนือ อเมริกากลาง เอเชีย แอฟริกา)

ทั้งนี้ ไทยกำหนดให้อีกัวน่าเป็นสัตว์ป่าควบคุมตามมาตรา 9 การนำเข้าและส่งออกต้องได้รับใบอนุญาตจากอธิบดีกรมอุทยานฯ แต่ที่ผ่านมาไม่ได้กำหนดให้ต้องแจ้งครอบครองไม่ต้องขออนุญาตเพาะพันธุ์และค้า ตามมาตรา 19, 28 และมาตรา 30 และเป็นสัตว์ป่าตามบัญชี 2 ของอนุสัญญา CITES

สำหรับ “อิกัวน่า” เป็นวงศ์ของสัตว์เลื้อยคลานประเภทกิ้งก่าวงศ์หนึ่ง ใช้ชื่อว่า Iguanidae วงศ์อิกัวนาแบ่งออกได้เป็น 8 วงศ์ย่อย แบ่งออกได้เป็น 44 สกุล และพบมากกว่า 672 ชนิด โดยอิกัวน่าเขียว (Iguana iguana) เป็นที่นิยมนำมาเป็นสัตว์เลี้ยง จัดอยู่ในหมวด “เอเลียนสปีชีส์” มีอายุขัยประมาณ 20 ปี เป็นสัตว์ประจำถิ่นป่าเขตร้อนของเม็กซิโก อเมริกากลาง อเมริกาใต้และหมู่เกาะแคริบเบียน เป็นสัตว์กินทั้งพืชและสัตว์ อีกชนิดคือ อิกัวน่าทะเล (Amblyrhynchus cristatus) อาศัยอยู่ตามเกาะต่างๆ ในหมู่เกาะกาลาปากอส

ภาพจาก: กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

Related posts

เป้าหมาย NDC ความมุ่งมั่นของไทย ก้าวย่างสู่ Net Zero และโลกยั่งยืน

COP29 มุ่งมั่นเป้าหมายทางการเงินใหม่ ชาติพัฒนาแล้วจ่าย 1 แสนล้าน

‘เฉลิมชัย’ พาหมูเด้งบุก COP29 เปิด Thailand Pavilion โชว์แก้โลกเดือด