ปัญหา PM2.5 หรือฝุ่นละอองขนาดเล็กเริ่มส่อเค้าระดับความรุนแรงที่อาจไม่แตกต่างจากปีที่แล้ว (ปลายปี 2561 ต่อเนื่องต้นปี 2562) โดยเฉพาะพื้นที่ภาคเหนือและกรุงเทพฯ ที่เริ่มเห็นสัญญาณก่อตัวขึ้นบ้างแล้ว ในขณะที่แผนการรับมือยังดำเนินไปในลักษณะตั้งรับแบบเดิมๆ
เดโช ไชยทัพ ผู้ประสานงานมูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนในฐานะผู้คลุกคลีอยู่กับปัญหานี้มาอย่างต่อเนื่อง อธิบายว่า จากประสบการณ์ฝุ่นควันภาคเหนือที่รุนแรงขึ้นเมื่อปี 2561 ต่อเนื่อง 2562 มี 2 ด้าน
ด้านแรก ปัจจัยความแห้งแล้งซึ่งไม่เคยเกิดเหตุการณ์แห้งแล้งมากขนาดนี้ แต่ปีนี้ (เหตุการณ์ที่ผ่านมา) ไฟลุกลามกลายเป็นไฟป่าที่รุนแรงที่สุด และควบคุมไม่ได้ จากการทำงานที่ผ่านมา 20 กว่าปีถือว่าเป็นไฟป่าที่ได้ลิ้มรสไฟป่าจริงๆ
ด้านที่สองเป็นเรื่องการเรียนรู้ของเกษตรกร ในยุคสมัยหนึ่งการเผาป่าอาจจะเป็นเรื่องปกติ เป็นวิถีปฏิบัติ แต่มาถึงยุคหนึ่งเริ่มเรียนรู้ว่ามีผลกระทบต่อสุขภาพ เขาก็ปรับตัว จากที่เคยเผาเยอะๆ เช่นปี 2555- 2556 ไหม้ไปถึง 5 ล้านไร่ จากนั้นลดลงเหลือ 3 ล้านและลดลงเรื่อยๆ
เดโช ไชยทัพ ผู้ประสานงานมูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
ปีก่อนไหม้ประมาณ 8 แสนไร่ ลดลงมาเรื่อยๆ เพราะมีการเรียนรู้และการปรับตัว และจะทำได้ดีขึ้นเรื่อยๆ หรือการเผาแบบมีสติปัญญาหรือการควบคุม
การกล่าวหาชาวบ้านหรือการไปลงโทษไม่ใช่คำตอบที่เบ็ดเสร็จในการแก้ไขปัญหา แต่ต้องให้โอกาสและการเรียนรู้ ให้ความเข้าใจซึ่งจะช่วยในการปรับเปลี่ยนอะไรได้หลายอย่าง
“ผมคิดว่า ปัจจัยความสำเร็จคือประชาชน ถ้าประชาชนไม่ให้ความร่วมมือไม่มีทางแก้ได้ แต่ที่ผ่านมาประชาชนให้ความร่วมมือในการบริหารจัดการว่าตรงไหนสามารถใช้ไฟ ตรงไหนไม่ควรเผา
แต่ปัญหาที่ผ่านมาเมื่อมีการสั่งการมากๆ มันกลายเป็นข้อจำกัดเหมือนกัน เช่น ห้ามใช้ไฟเลย (ห้ามเผาเลย) คนก็กลัวว่าถ้าเผาก็จะโดนจับก็เลยแอบไปเผา แล้วมันก็ไหม้ลาม
“แทนที่ปรกติอาจจะแค่ 100 ไร่และมีการควบคุม แต่พอกลัวโดนจับไฟก็ลามจากร้อยเป็นพันเป็นหมื่น ลักษณะนี้มันเป็นบทเรียนที่จะต้องนำมาประยุกต์ให้เกิดความเหมาะสมมากขึ้นว่า
การสั่งการแบบไม่ดูสภาพข้อเท็จจริงว่าเขาควรจะปรับตัวในการบริหารจัดการอย่างไร จะใช้ไฟได้สัดส่วนเท่าไหร่ ไฟที่ดีและมีประโยชน์ควรจัดการอย่างไร ไฟที่ไม่ควรให้เกิดขึ้นเลยควรอยู่บริเวณไหน ผมคิดว่า ถ้าเราทำให้ชุมชนมีความรู้ ได้เรียนรู้ ได้ปรับตัวเขาก็สามารถทำแผนที่ดีได้”
บริษัทยักษ์ใหญ่มีส่วนอย่างสำคัญที่เป็นต้นเหตุของไฟป่าภาคเหนือหรือไม่? “ผมมีทั้งด้านที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย พื้นที่ปลูกข้าวโพดทั่วประเทศมีประมาณ 6 ล้านไร่ แต่พื้นที่ที่เผาไหม้มีมากกว่า ถึงจะใช่แต่ไม่ใช่ทั้งหมด เช่น พื้นที่แม่แจ่ม ปลูกข้าวโพด 1.2 แสนไร่ แต่พื้นที่เผาไหม้อยู่ที่ 4-5 แสนไร่
“นั่นหมายความว่า ในช่วงเริ่มต้นมีบริษัทยักษ์ใหม่มาส่งเสริมให้ปลูกข้าวโพดและมีการขยายพื้นที่ป่ามาเป็นพื้นที่เกษตรเพิ่มขึ้น ซึ่งภายหลังเมื่อมีการกำหนดว่าห้ามบุกรุกเพิ่มเติมจากที่มีอยู่ในปัจจุบัน ชาวบ้านก็ให้ความร่วมมือ
“ผมคิดว่าช่วงแรกๆ มีการบุกรุกพื้นที่ทำเกษตรเชิงเดียวจริง ช่วงนั้นการปลูกข้าวโพดมีผลกระทบจริง แต่ว่าหลังจากชาวบ้านรู้ และห้ามบุกรุกก็ลดน้อยลง
“ผมคิดว่ายักษ์ใหญ่ควรแสดงรับผิดชอบกับสิ่งที่เคยเกิดขึ้นในอดีต เพราะตัวเองเป็นส่วนหนึ่งทำให้เกิดปัญหา แม้วันนั้นมันหยุดแล้ว แต่ต้องมาช่วยเยียวยาบาดแผลและฟื้นฟูให้สภาพป่ามันดีขึ้น หรือมีระบบเกษตรแบบใหม่ที่เหมาะสมมากกว่าเดิม
“การปลูกข้าวโพดลงทุนแทบตายกำไรอย่างมากไม่เกิน 3,000 บาท ต่อไร่ ซึ่งมันไม่ควรใช้ป่าต้นน้ำอันอุดมสมบูรณ์ ใช้ยาฆ่าหญ้า ใช้ปุ๋ยเคมี หรือทำให้เกิดไฟป่าหรือการชะล้างหน้าดิน สารพิษไหลลงสู่แม่น้ำ ซึ่งมันไม่ค่อยคุ้มหรอก จริงๆ การใช้พื้นที่เกษตรบนที่สูงควรเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากกว่านี้
“ผมคิดว่าถ้ายักษ์ใหญ่อยากจะปรับตัวเพื่อเป็นผู้นำด้านสิ่งแวดล้อมก็ทำได้ ถ้าเขาต้องการ เพื่อให้เกิดระบบวนเกษตร ชาวบ้านมีรายได้ที่ดี แล้วป่าก็ฟื้นกลับมา ผมคิดว่าถ้ายักษ์ใหญ่ประสงค์จะทำความดีให้กับแผ่นดินนี้ผมว่าเขาทำได้ และทำได้ดีด้วยด้วย ยกเว้นเขาไม่ทำ”
จากบทเรียนที่ผ่านมามีโอกาสที่ปัญหาจะคลี่คลายหรือเบาบางลงหรือไม่ “ผมคิดว่ามีโอกาสสูงเพราะการมีส่วนร่วมในการทำข้อเสนอ แต่ข้อเสนอเหล่านั้นไม่ถูกนำเสนอเป็นนโยบาย หรือนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง ยังไม่มีการทดลองและนำไปสู่การปฏิบัติว่าเป็นทางออกในการแก้ปัญหา หรือเป็นคำตอบที่สำคัญ
“แต่วันนี้เป็นเรื่องที่ใครอยากเสนออะไรก็เสนอ แต่ถ้ามีนวัตกรรมในการแก้ปัญหา ไม่ว่านวัตกรรมทางสังคม หรือนวัตกรรมทางเทคโนโลยีที่ควรมีมากขึ้น เพราะการแก้ไขแบบเดิมเป็นการแก้ไขโดยชุดความรู้และแผนการจัดการแบบเดิม มันไปไม่รอด จึงต้องการนวัตกรรม ซึ่งต้องสรุปว่าใช่ และวิธีการนำนวัตกรรมนั้นพัฒนาเป็นนโยบาย
“ตลอดจนขยายผลไปสู่การปฏิบัติให้กว้างขวางมากขึ้น ซึ่งหลายเรื่องการรอราชการไม่มีทางเป็นไปได้ เช่น ชาวบ้านต้องการงบประมาณในการดูแลไฟป่า เช่น ค่าน้ำ น้ำมันในการดูแลไฟป่า ระบบงบประมาณของรัฐไทยไม่สามารถสนับสนุนได้อย่างเพียงพอ เพราะมีงบแต่ละหน่วยงานในการจัดการเรื่องนี้ไม่เกิน 2%
“ไม่มีทางที่กรมป่าไม้จะตั้งประมาณมาดูแลไฟป่าให้มากขึ้นกว่าเดิม แม้เราจะบอกว่าชุมชนคือคำตอบหรือเพิ่มศักยภาพสำคัญในการแก้ปัญหา และต้องให้เขาเข้าถึงงบประมาณ ซึ่งระบบการบริหารราชการแผ่นดินไม่ตอบโจทย์ในการเพิ่มศักยภาพ แต่เซ็กเตอร์อื่นๆ เช่น ตลาดหลักทรัพย์ คนในเมือง โรงแรม ซึ่งรัฐบาลก็คิด
“เช่น ถ้าบริจาคเพื่อการแก้ปัญหาโลกร้อนจะนำไปลดหย่อนภาษีได้ ซึ่งถ้าเขาไปบริจาคตรงให้ชุมชนนำไปแก้ปัญหาาก็จะเป็นนวัตกรรมที่สามารถช่วยแก้ปัญหาได้ และชุมชนไม่ได้นำเงินไปใช้ให้หมดในปีเดียว แต่จะต้องทำแผนการบริหารจัดการที่ยั่งยืน โดยการร่วมกับภาคธุรกิจในเมือง
“เช่น โรงแรมที่ได้รับผลกระทบจำนวนมากก็มาร่วมทำแผน หรือช่วยกันเปลี่ยนจากเกษตรเชิงเดี่ยวไปสู่นวเกษตรจากต้นน้ำไปสู่ปลายน้ำ ซึ่งพลังความร่วมมือจากภาคส่วนต่างๆ ที่มาร่วมคิดไปสู่เป้าหมายเดียวกัน จากเดิมที่คิดเพื่อให้เป็นนโยบาย แล้วรัฐก็สั่งๆ ลงมา ได้ข้อสรุแล้วว่าไม่มีทางเป็นไปได้หรือเป็นไปได้ยากมาก
“ถ้าจะเป็นไปได้ภาคส่วนอื่นๆ เช่น คนในเมืองหรือคนที่อยู่ไกลป่าก็ต้องคิดที่จะปรับระบบการผลิตให้สอดคล้องกัน เงินรายได้บางส่วนจะต้องบริจาคเข้าไปยังชุมชน ซึ่งวิธีคิดลักษณะนี้จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างได้”