แนวโน้มไฟป่าเพิ่มมากขึ้น ‘คาร์บอนสีน้ำตาล’ ซีกโลกเหนือ ปัจจัยเร่งแถบอาร์กติกร้อนขึ้น

ภาพ-Rueters

นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเทียนจินเปิดเผยว่า ‘คาร์บอนสีน้ำตาล’ ที่ปล่อยออกมาระหว่างเกิดไฟป่าในซีกโลกเหนือกำลังเร่งภาวะโลกร้อนในแถบอาร์กติกเพิ่มมากขึ้น

การศึกษาพบว่า คาร์บอนสีน้ำตาลจากการเผาไหม้ชีวมวล รวมทั้งจากไฟป่ามีส่วนทำให้เกิดความร้อนอย่างน้อยสองเท่าของคาร์บอนสีดำจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล 

ศาสตราจารย์ ปิงจิง ฟู (Pingging Fu) ผู้เขียนอาวุโสของการศึกษากล่าวว่า “การเพิ่มขึ้นของละอองคาร์บอนสีน้ำตาลจะนำไปสู่ภาวะโลกร้อน ซึ่งจะเพิ่มความน่าจะเป็นและความถี่ของไฟป่า” และว่าการปล่อยอนุภาคคาร์บอนจากไฟป่าที่เกิดขึ้นบ่อยก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพอย่างรุนแรง และยังบังแสงอาทิตย์ได้มากพอที่จะทำให้เกิดความแตกต่างของอุณหภูมิพื้นผิว แม้กระทั่งหลังจากที่เปลวไฟได้ดับลงแล้ว

ทีมวิจัยได้เดินทางไปสำรวจละอองในอากาศยังพื้นที่อาร์กติกในปี 2017 ซึ่งจากการวิเคราะห์พบว่าผลกระทบจากความร้อนของคาร์บอนสีน้ำตาลเหนืออาร์กติกนั้นสูงถึง 30% ของคาร์บอนสีดำ และมีส่วนทำให้เกิดความร้อนอย่างน้อยสองเท่าของคาร์บอนสีดำจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล 

นักวิจัยชี้ให้เห็นว่าในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา อาร์กติกร้อนขึ้นในอัตราสามเท่าของส่วนอื่น ๆ ของโลก และมีแนวโน้มว่าไฟป่าจะเป็นหนึ่งในปัจจัยขับเคลื่อนสถานการณ์นี้

การศึกษานี้เกิดขึ้นไม่นานหลังจากการวิจัยเปิดเผยว่าไฟป่าในสหรัฐรุนแรงมากขึ้นอันเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งจากรายงานของมหาวิทยาลัยโคโลราโดโบลเดอร์ พบว่าโดยเฉลี่ยแล้วไฟป่าในสหรัฐมีขนาดใหญ่ขึ้นสี่เท่าและเกิดบ่อยขึ้นสามเท่านับตั้งแต่ปี 2000 

นอกจากนี้ไฟป่าขนาดใหญ่เหล่านี้กำลังแพร่กระจายไปยังพื้นที่ใหม่ และส่งผลกระทบต่อพื้นที่ซึ่งก่อนหน้านี้ไม่ได้ถูกไฟไหม้เป็นประจำมากขึ้นเรื่อยๆ ในอนาคต 

อย่างไรก็ตามฤดูไฟป่าปี 2021 ทำลายสถิติทั่วโลก ทั้งในแคลิฟอร์เนียจนถึงไซบีเรีย โดยรายงานที่ตีพิมพ์โดยสหประชาชาติเมื่อเดือน ก.พ.ที่ผ่านมาเตือนว่าไฟป่ากำลังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น 50% ภายในปี 2050 ซึ่งไฟเหล่านี้ทำลายบ้านเรือน พืช และสัตว์จำนวนมาก 

อ้างอิง:

(Mar 18, 2022) “‘Brown carbon’ released during wildfires is warming the Arctic TWICE as much as carbon from burning fossil fuels, study finds” . Dailymail

(Mar 18, 2022) “Wildfires devastate the land they burn, and they are also warming the planet” . Sciencedaily

ภาพ : Rueters

Related posts

การเกษตรรักษ์โลก ‘แหนเป็ด’ ซูเปอร์ฟู้ดแห่งอนาคตโปรตีนสูง 45%

เป้าหมาย NDC ความมุ่งมั่นของไทย ก้าวย่างสู่ Net Zero และโลกยั่งยืน

ประโยชน์การเข้าร่วมเวที COP29 โอกาสเข้าถึงเงินช่วยเหลือของไทย