โลกร้อนกระทบ ‘บรอกโคลี’นอกจากจะโตไม่เต็มที่อาจมีลักษณะคล้ายดอกกะหล่ำ

สภาพอากาศที่แปรปรวน และอุณหภูมิที่สูงขึ้นส่งผลบรอกโคลีเติบโตผิดปกติ และอาจมีลักษณะคล้ายดอกกะหล่ำ

ด้วยเหตุนี้จึงมีการศึกษาพื้นฐานพันธุกรรมว่าเหตุใดหัวบรอกโคลีจึงผิดปกติเมื่ออากาศร้อนขึ้น และเพื่อใช้เป็นแนวทางสำหรับการเพาะพันธุ์พันธุ์ในอนาคตที่ทนความร้อน

ปกติบรอกโคลีจะเติบโตได้ดีในอุณหภูมิเฉลี่ยที่ 16 องศาเซลเซียส แต่จากการศึกษาพบว่าหัวของบรอกโคลีจะเริ่มผิดรูปร่างที่อุณหภูมิ 22 องศาเซลเซียส และกลายเป็นบรอกโคลีที่มีหน้าตาคล้ายดอกกะหล่ำที่อุณหภูมิ 27 องศาเซลเซียส (ตามภาพประกอบ)

นักวิจัยจึงได้เริ่มศึกษาโดยใช้ 5-azacytidine เพื่อเข้าไปยับยั้งกระบวนการ DNA methylation ซึ่งเป็นกลไกทางชีววิทยาของหน่วยพันธุกรรมหรือยีนที่เกี่ยวข้องกับพัฒนาเปลี่ยนแปลงของเซลล์ ไปจนถึงลักษณะปรากฏที่พบเห็นหรือสังเกตได้ด้วยตา โดยในกรณีนี้ต้องการเข้าไปยับยั้งกลุ่มของยีนที่จำเป็นสำหรับการผลิตหัวบรอกโคลี และจากผลวิจัยบ่งชี้ได้ว่า methylation อยู่เบื้องหลังการเติบโตที่ผิดปกติเมื่อความร้อนสูงขึ้น

สรุปได้ว่าเมื่อปลูกบรอกโคลีในอุณหภูมิที่อุ่นขึ้นการเติบโตของดอกจะถูกจำกัดไว้เพียงระยะแรกของการพัฒนา ดังนั้นที่อุณหภูมิที่ 22 องศาเซลเซียส ดอกตูมของบรอกโคลีจึงถูกจำกัดให้อยู่ในระยะที่ดูเหมือนลูกผสมระหว่างบรอกโคลีและดอกกะหล่ำ และที่อุณหภูมิ 27 องศาเซลเซียส พวกมันจะหยุดการพัฒนา

ซูเชง แกน  หนึ่งในทีมวิจัยอธิบายให้ฟังว่า เมื่อเราเข้าใจกลไกการเติบโตของบรอกโคลี ก็สามารถคิดค้นวิธีการพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพใหม่ ซึ่งเป็นวิธีการทางพันธุศาสตร์ระดับโมเลกุลเพื่อยับยั้งการสร้าง methylation ของ DNA เพื่อที่จะขยายพันธุ์พืชให้เติบโตในอุณหภูมิที่อุ่นขึ้นได้ เพื่อรองรับความไม่แน่นอนของสภาพภูมิอากาศที่จะเกิดขึ้นในอนาคต 

งานวิจัยชิ้นนี้ตีพิมพ์ในวารสาร Molecular Horticulture เมื่อวัน ที่ 22 ธันวาคม 2022

อ้างอิง

  • January 9, 2023. Broccoli looks more like cauliflower in warmer world. Phys.org
  • July 11, 2012. DNA Methylation and Its Basic Function. Nature.com

Related posts

เป้าหมาย NDC ความมุ่งมั่นของไทย ก้าวย่างสู่ Net Zero และโลกยั่งยืน

COP29 มุ่งมั่นเป้าหมายทางการเงินใหม่ ชาติพัฒนาแล้วจ่าย 1 แสนล้าน

‘เฉลิมชัย’ พาหมูเด้งบุก COP29 เปิด Thailand Pavilion โชว์แก้โลกเดือด