ตำนานช้างแคระที่สงขลา ตัวเท่าหมูญาติช้างบอร์เนียว

หลายชั่วคนก่อน บริเวณป่าพรุทางตอนเหนือของทะเลสาบสงขลามีช้างประเภทหนึ่งรูปร่างของมันเล็กแกรน ตัวขนาดเท่าหมูหรือเรียกว่า “ช้างค่อม” หรือช้างแคระ ซึ่งช้างแคระปัจจุบันพวกมันเป็นอดีตไปแล้ว ช้างค่อมเป็นสัตว์ที่สูญพันธุ์จากไทยไปตลอดกาล

มันหายไปนานขนาดว่าหนังสือเรื่องช้างของอาจารย์เฮง ไพรยวัล ยังบอกว่า “เมืองไทยภาคใต้สมัยก่อนก็มีช้างแคระ” อาจารย์เฮง ไพรยวัล เป็นผู้มีชื่อเสียงในด้านวิทยาคมและไสยศาสตร์ แต่แต่งหนังสือเกี่ยวกับช้างที่น่าทึ่งไว้เล่มหนึ่ง ท่านเสียชีวิตในปี 2502 แสดงว่าในยุคของท่านๆ ก็ยังไม่เคยเห็นช้างแคระ

ช้างค่อมสูญพันธุ์ไปนานจนคนลืมไปแล้วว่ามันหน้าตาเป็นอย่างไร แต่มีบันทึกไว้ว่าช้างค่อมมีส่วนสูงเพียง 5 ฟุต เศษ (ประมาณ 160 เซนติเมตรหรือเท่ากับลูกช้างธรรมดา) บางคนบอกว่าตัวมันเท่าหมู บ้างก็ว่าตัวเท่าควาย มีหัวและเท้าเล็ก ผิวหนังออกเป็นสีน้ำตาลแดง

ดังนั้นบางพื้นที่จึงเรียกมันว่า “ช้างแดง” หรือช้างป่าหัวแดง บางคนเล่าว่ามันน่าจะอยู่แถว อ.ระโนด จ. สงขลา และบางกระแสเล่าว่าคนสมัยก่อนกินมันเหมือนกินหมู

ช้างค่อมในเมืองไทยเหลือเพียงแค่เรื่องเล่าที่กระจัดกระจายจับความได้ยาก แต่มีบันทึกของต่างชาติเมื่อร้อยกว่าปีก่อนเล่าเรื่องช้างแคระ/ช้างค่อมในไทยเอาไว้จำนวนหนึ่ง

ในหนังสือเกี่ยวกับงาช้างของ George Frederick Kunz เมื่อปี 2459 เล่าว่า “ป่าทึบใกล้ชายฝั่งทะเลของเมืองนคร (ศรีธรรมราช) จนถึงสงขลาในประเทศสยามเป็นที่อยู่อาศัยช้างสายพันธุ์เล็กเรียกว่า “ช้างแดง” ที่ได้ชื่อนี้เพราะเฉดสีน้ำตาลแดงของขนที่กระจัดกระจายไปทั่วร่างกาย

“พวกมันไม่มีงาและไม่เคยมีคนพยายามจะทำให้มันเชื่อง จนกระทั่งเมื่อไม่นานมานี้ (เมื่อร้อยปีก่อน) พวกมันเป็นช้างพวกเดียวในสยามที่ไม่มีกฎระเบียบที่เข้มงวดคอยป้องกันจากการล่า”

ส่วนในหนังสือ Geological Studies ของ Alexander Winchell (หน้า 462) รายงานว่าในปี 2427 มีการนำเข้าช้างแคระจากประเทศสยามมายังนิวยอร์ก ตัวของมันแคระแกรนมีขนดก จึงเชื่อกันว่าน่าจะเป็นทายาทของช้างแมมม็อธในดินแดนตอนเหนือของโลก รายงานบอกว่ามีการค้นพบช้างแคระในภูเขาของประเทศสยาม แต่ไม่ได้บอกว่าในพื้นที่ไหน

จากบันทึกเหล่านี้เราจะเห็นว่าช้างแคระมีขนสีแดงทั่วตัวจึงถูกฝรั่งมองว่าเหมือนช้างแมมมอธ ในบันทึกของต่างชาติเรียกช้างแคระในไทยว่า dwarf elephants หรือ pygmy elephants และมักจะเทียบว่าเหมือนซากช้างแคระที่พบในมอลตา ซิซิลี ครีต ซาร์ดิเนีย ไซปรัสในยุโรปที่เป็นช้างแคระยุคดึกดำบรรพ์ (ตระกูล Palaeoloxodon) บางพันธุ์ตัวมันสูงแค่ 80 เซนติเมตร

ช้างแคระในเกาะใหญ่ของยุโรปน่าจะเคยตัวใหญ่มาก่อนเมื่อพวกมันอพยพมายังเกาะต่างๆ แล้วเส้นทางเชื่อมต่อก็ถูกน้ำทะเลท่วมและแผ่นดินก็กลายเป็นเกาะ ทำให้เกิดอาการแคระเนื่องจากวิวัฒนาการในเกาะ (Insular dwarfism) แต่ช้างค่อมในภาคใต้จะเป็นผลมาจากปรากฎการณ์นี้หรือไม่?

ญาติที่ใกล้เคียงที่สุดของช้างค่อมแห่งสงขลาน่าจะเป็นช้างบอร์เนียว หรือช้างแคระบอร์เนียวซึ่งมีความสูงประมาณ 8 ฟุต (ประมาณ 2.4 เมตร) แต่จะเห็นว่ามันยังสูงกว่าบันทึกความสูงของช้างค่อมที่สงขลาถึงเกือบเท่าตัว แต่บันทึกความสูงของช้างค่อมที่ว่าสูง 5 ฟุตนั้นก็ยังเอาแน่เอานอนไม่ได้ เพราะตำนานท้องถิ่นบอกว่าตัวมันเท่าหมู หรือประมาณ 2 ฟุตเท่านั้น

นอกจากนี้ช้างค่อมยังมีขนยาวสีแดงท่าทางจะเหมือนทายาทแมมมอธมากกว่าช้างแคระบอร์เนียวที่เป็นช้างเอเชียเพียงแต่ตัวเล็กเพราะติดเกาะมานาน

Related posts

การเกษตรรักษ์โลก ‘แหนเป็ด’ ซูเปอร์ฟู้ดแห่งอนาคตโปรตีนสูง 45%

เป้าหมาย NDC ความมุ่งมั่นของไทย ก้าวย่างสู่ Net Zero และโลกยั่งยืน

ประโยชน์การเข้าร่วมเวที COP29 โอกาสเข้าถึงเงินช่วยเหลือของไทย