อาคารดังกล่าว (บอมเบย์ เบอร์มา) คือศูนย์การเรียนรู้การป่าไม้ อยู่ในการดูแลของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่เพิ่งได้รับการอนุมัติให้จัดตั้งเป็นสวนรุกชาติเชตวัน ในปี พ.ศ. 2559 เนื่องจากเป็นสถานที่เก่าแก่ที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์การทำไม้ของประเทศไทย
ด้วยเดิมเป็นที่ทำการของบริษัท บอมเบย์ เบอร์มา เทรดดิ้ง หนึ่งในบริษัทที่ได้รับอนุญาตให้ทำไม้ในเขตภาคเหนือตอนบน โดยอาคารนี้สร้างมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2432 และต่อมาในปี พ.ศ. 2444 ได้มอบให้กรมป่าไม้เพื่อใช้เป็นที่ทำการของป่าไม้ภาคแพร่
กรมอุทยานฯ อ้างว่าจากสภาพของอาคารที่ขาดการซ่อมบำรุงมาเป็นระยะเวลายาวนาน มีความชำรุดทรุดโทรมและทรุดเอียง จึงได้จัดทำโครงการปรับปรุงซ่อมแซมอาคารโดยมีวัตถุประสงค์ให้กลับมาอยู่ในสภาพเดิม เพื่อเป็นอนุสรณ์สถานและแหล่งเรียนรู้ในเรื่องของการป่าไม้ ซึ่งได้รับงบประมาณในการดำเนินการในปี 2563 นี้
แต่จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นดังที่ได้มีการเผยแพร่ภาพการรื้อถอนอาคารลงทั้งหมดทางสื่อออนไลน์ต่างๆ นั้น ทางกรมฯ ยังได้ชี้แจงว่า เป็นการดำเนินการตามหลักวิศวกรรม ที่วิศวกรได้แนะนำให้มีการวางฐานรากใหม่ ต้องวางคานคอดินจากเดิมที่ไม่มี จึงจำเป็นต้องรื้ออาคารลงทั้งหลัง ซึ่งได้รื้อส่วนของอาคารที่เป็นไม้มาเก็บรักษาไว้โดยมีการจัดทำบัญชีไม้ไว้เป็นที่เรียบร้อย
หากแต่โดยข้อเท็จจริงจากสิ่งที่ได้เกิดขึ้นนั้น กลับเห็นได้ว่าเป็นการรื้อถอนที่มิได้เป็นไปด้วยความระมัดระวังหรือมีการจดบันทึกให้รหัสองค์ประกอบไม้แต่ละชิ้นที่ถอดออกมา ที่สอดคล้องกับความต้องการที่จะประกอบให้คืนมาสู่ในสภาพเดิมได้
.
ในขณะที่การเสริมความมั่นคงแข็งแรงด้วยการเปลี่ยนแปลงลักษณะโครงสร้างไปจากเทคนิคการก่อสร้างดั้งเดิมนั้นก็ไม่อาจอธิบายได้ว่าเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องเนื่องจากยังมีการเสริมความมั่นคงแข็งแรงด้วยวิธีการอื่นที่สามารถคงรักษาความแท้ของอาคารโบราณสถานไว้ได้
แสดงถึงความไม่เข้าใจและการขาดประสบการณ์ในการออกแบบสำหรับงานอนุรักษ์โบราณสถานของวิศวกรที่อ้างถึง และยังอาจทำให้เกิดความไม่เชื่อมั่นในการวินิจฉัยของผู้ออกแบบว่าอาคารมีความเสื่อมสภาพในระดับที่จำเป็นต้องรื้อเพื่อทำฐานรากใหม่จริงหรือไม่
การออกแบบบูรณะโบราณสถานถือเป็นภารกิจหนึ่งที่มีการคุ้มครองตามกฎหมาย พ.ร.บ.วิชาชีพ ทั้งทางด้านสถาปัตยกรรมและวิศวกรรม จำเป็นจะต้องมีสถาปนิกและวิศวกร เป็นผู้รับผิดชอบ แต่ด้วยเป็นงานที่ต้องการความรู้เฉพาะทางและประสบการณ์ในการทำงานด้านการอนุรักษ์ จึงจำเป็นที่ผู้ออกแบบจะต้องมีความรู้และประสบการณ์ในการทำงานอนุรักษ์เป็นพิเศษด้วย
เนื่องจากจะต้องคำนึงถึงคุณค่า ความครบถ้วน และความแท้ของโบราณสถานที่จะต้องรักษาไว้ด้วย เป็นที่น่าห่วงใยว่าองค์ความรู้ในการออกแบบอนุรักษ์ยังมีอยู่เพียงในวงจำกัดเท่านั้น ด้วยมักจะเห็นว่าการบูรณะโบราณสถานเป็นเรื่องของกรมศิลปากรเท่านั้น แต่ในทางปฏิบัติกลับไม่ได้แจ้งกรมศิลปากร แล้วมาดำเนินการเองด้วยความไม่รู้
จนถึงในขณะนี้ยังไม่มีการเปิดเผยถึงรูปแบบรายการที่ใช้ในการปรับปรุงอาคารด้วยการรื้อถอนในครั้งนี้แต่อย่างใด รวมทั้งชื่อและต้นสังกัดของสถาปนิกและวิศวกรผู้ออกแบบ
การอนุรักษ์โบราณสถานมีความจำเป็นที่จะต้องทำตามขั้นตอนอย่างครบถ้วน นับตั้งแต่การศึกษารวบรวมข้อมูลเบื้องต้น ศึกษาประวัติความเป็นมา ประวัติการอนุรักษ์ในอดีต และคุณค่าความสำคัญของแหล่ง หลักฐานประเภทเอกสาร ภาพถ่ายเก่า แผนที่แผนผังเก่ามักจะให้ข้อมูลที่มีประโยชน์ ทำให้ทราบถึงสภาพดั้งเดิมของอาคาร
ขั้นตอนต่อมาได้แก่ การสำรวจและจัดทำรูปแบบสภาพโบราณสถานก่อนการอนุรักษ์ ที่นอกจากจะเป็นการบันทึกลักษณะทางสถาปัตยกรรมแล้วยังจะต้องบันทึกข้อมูลการเสื่อมสภาพและปัญหาต่างๆ ของอาคารที่เป็นสาเหตุของการเสื่อมสภาพด้วย อีกขั้นตอนคือการดำเนินการทางโบราณคดีเพื่อการอนุรักษ์ เพื่อความเข้าใจในโครงสร้างที่อยู่ใต้ดิน เช่น ระบบฐานราก รวมทั้งการก่อสร้างหรือหลักฐานอื่นๆ ที่อาคารสร้างทับอยู่ ในขั้นตอนที่สี่ เป็นการวิเคราะห์รูปแบบดั้งเดิมในแต่ละช่วงเวลาด้วยการใช้หลักฐานจากสามขั้นตอนแรก
ซึ่งทั้งหมดนี้จะเป็นข้อมูลสำคัญในการตัดสินใจเลือกแนวความคิดในการออกแบบอนุรักษ์ควบคู่ไปกับความต้องการของการใช้ประโยชน์ในปัจจุบัน หลังจากนี้ก็เป็นการขออนุญาตต่ออธิบดีกรมศิลปากรก่อนดำเนินการตามแบบที่ได้รับอนุญาต มีการควบคุมงานเป็นขั้นตอนที่สำคัญ
และจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องอยู่ในการดูแลของวิชาชีพควบคุมด้วยเช่นเดียวกัน จะต้องมีการจัดทำรายงานการควบคุมงานบันทึกสิ่งที่ได้ดำเนินการพร้อมด้วยอุปสรรคปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น มีการประสานงานกับผู้ออกแบบและฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อให้การทำงานเป็นไปตามรูปแบบที่ต้องการ และแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างทันท่วงที
เมื่องานอนุรักษ์แล้วเสร็จก็เป็นขั้นตอนการจัดทำรายงานการอนุรักษ์ บันทึกหลักฐานการดำเนินการ การเปลี่ยนแปลงทุกอย่างที่เกิดขึ้นไว้ เก็บเป็นหลักฐานไว้ที่หอจดหมายเหตุ มีการประเมินผลสิ่งที่ได้ดำเนินการไปพร้อมด้วยการประชาสัมพันธ์ทำความเข้าใจกับสาธารณชนที่เป็นเจ้าของมรดกนั้นร่วมกัน
เราสามารถประเมินเบื้องต้นได้ว่ากรณีที่เกิดขึ้นเป็นโครงการอนุรักษ์ที่เหมาะสมหรือไม่ได้ง่ายๆ จากการตรวจสอบว่ามีการปฏิบัติตามขั้นตอนต่างๆ เหล่านี้หรือไม่
โบราณสถานก็คือมรดก (heritage) ของท้องถิ่น ของทุกคน ตามระดับคุณค่าของแต่ละแหล่ง หมายถึงสิ่งที่เราได้รับมาจากคนในรุ่นก่อน เป็นประโยชน์สำหรับคนในรุ่นของเรา และคู่ควรที่จะรักษาไว้เพื่อส่งต่อให้กับคนในรุ่นต่อไป นอกจากวิชาชีพที่มีความรับผิดชอบจึงยังเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับทุกคน การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนคือปัจจัยสำคัญของการอนุรักษ์และพัฒนาอย่างยั่งยืน
ไม่ว่าจะด้วยเหตุใดก็ตามที่ทำให้เราสูญเสียอาคารบอมเบย์ เบอร์มา ไป หากทุกฝ่ายร่วมมือกันก็คงสามารถฟื้นฟูให้มรดกของการป่าไม้แห่งนี้กลับคืนมาได้ด้วยการปฏิสังขรณ์ (reconstruction) ดังเช่นตัวอย่างที่มีมาแล้วหลายแหล่ง อาทิ พระธาตุพนม เราสามารถช่วยกันรวบรวมข้อมูล หลักฐานต่างๆ เอกสาร แผนผัง ภาพถ่ายของอาคารที่มีอยู่ เพื่อนำมาใช้ในการทำแบบปฏิสังขรณ์ให้อาคารกลับคืนมาตามความต้องการของสังคมได้
สมาคมสถาปนิกสยามฯขอเป็นหนึ่งในหลายภาคส่วนที่อาสามาร่วมแก้วิกฤตมรดกในครั้งนี้ และหวังเป็นอย่างยิ่งว่ากรณีที่เกิดขึ้นที่นี่จะเป็นบทเรียน กระตุ้นเตือนให้ทุกภาคส่วนเกิดความระมัดระวัง ไม่ให้ประวัติศาสตร์แห่งความสูญเสียนี้เกิดขึ้นซ้ำรอยกับมรดกแหล่งอื่นๆ อีกต่อไป
หมายเหตุ นอกจากตัวอาคารแล้ว คงจะต้องจับตามองอย่างใกล้ชิดสำหรับบริเวณโดยรอบมรดกแห่งนี้ได้แก่พื้นที่ริมแม่น้ำยม ซึ่งเป็นสถานที่ประวัติศาสตร์เคยเป็นท่าขนส่งไม้ และมีลักษณะธรรมชาติอันน่ารื่นรมย์อยู่ในปัจจุบัน ที่อาจจะมีความสูญเสียเกิดขึ้นอีกซ้ำซ้อนจากโครงการทางเลียบแม่น้ำ พัฒนาพื้นที่ริมตลิ่งของทางจังหวัด ขอเถอะ อย่ามาซ้ำเติมกันอีกเลย
โดย: ดร.วสุ โปษยะนันทน์ สถาปนิกผู้เชี่ยวชาญด้านการอนุรักษ์โบราณสถาน
ผู้เขียนระบุว่าเป็นความเห็นในนามสมาคมสถาปนิกสยามฯ และงานสถาปนิก ๖๔ มองเก่าให้ใหม่ Refocus heritage