รอดูรูปธรรมผลงานสิ้นปีนี้ กทม.ผนึกกำลังหลายหน่วยงาน ตัดทิ้งสายสื่อสาร 800 กม. ใน 16 เขต

การแก้ปัญหาสายสื่อสารระโยงระยางรกหูรกตาตามเสาไฟฟ้าในพื้นที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) เพื่อเตรียมเอาลงดินเริ่มมีความชัดเจนมากขึ้นเป็นลำดับ ล่าสุดรัฐมนตรีกระทรวงดิจิทัลฯ รับเป็นเจ้าภาพคนกลางประสานกับทุกหน่วยงานตั้งคณะทำงานเพื่อร่วมแก้ปัญหานี้ร่วมกับ กทม.

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. ได้ประชุมหารือเรื่อง กรุงเทพมหานครเมืองอัจฉริยะ (Bangkok Smart City) และการบริหารจัดการท่อร้อยสายสื่อสารลงใต้ดิน ร่วมกับนายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง เมื่อวันที่ 4 ก.ค. ที่ผ่านมา โดยผู้ว่าฯ กทม. เปิดเผยว่า จะดำเนินการใน 2 เรื่อง

เรื่องแรกคือ การจัดระเบียบสายสื่อสารที่รกรุงรังก่อน แต่ยังไม่ถึงกับต้องเอาสายลงดินทันที อย่างน้อยเอาสายตายหรือสายที่ไม่ใช้งานรื้อออกให้หมดก่อน

ทั้งนี้ กสทช. มีแผนอยู่แล้วและมีเงินสนับสนุนให้ด้วย เนื่องจากต้องใช้แรงงานในการคัดเลือกสายที่ไม่ได้ใช้งานออก ซึ่งปีแรกจะดำเนินการ 800 กิโลเมตร ในพื้นที่กรุงเทพฯ ชั้นใน 16 เขต ที่มีประชากรหนาแน่นและมีสายสื่อสารหนาแน่น

โดยจนถึงเดือน ก.ค.ดำเนินการไปแล้ว 20 กม. และจะต้องเร่งผลักดันให้ได้ 800 กม.ตามสัญญา โดยได้ให้นโยบายสำนักงานเขตในการดูพื้นที่ที่เป็นต้นแบบในการดำเนินการซึ่งจะนัดหมายกับ กสทช.ทำการ Mapping จุดต่างๆ ต่อไป

นอกจากนี้รัฐมนตรีดีอีเอสจะแต่งตั้งคณะทำงานที่มาจากหน่วยงานต่างๆ อาทิ กระทรวงดีอี กสทช. กทม. การไฟฟ้านครหลวง Operator ผู้พาดสายสื่อสาร และ operator ผู้ทำเรื่องท่อร้อยสาย เพื่อเร่งรัดกำหนดเป้าหมาย (KPI) ว่าแต่ละเดือนต้องรื้อสายสื่อสารจำนวนเท่าไหร่ เพื่อเป็นตัวชี้วัดที่เป็นรูปธรรม

เรื่องที่ 2 คือ การนำสายสื่อสารลงดิน ก่อนหน้านี้ กทม.ดำเนินการโดยบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด (KT) แต่ขณะนี้มีผู้ประกอบการอื่นๆ ซึ่งมีท่อร้อยสายอยู่แล้ว เช่น บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (NT) ซึ่งมีท่อเก่าอยู่ ถ้าคิดค่าเช่าท่อแพงสุดท้ายก็จะเป็นภาระของผู้บริโภคและผู้ใช้สายสื่อสาร ซึ่งอาจจะต้องแต่งตั้งคณะทำงานเกี่ยวกับการเอาสายสื่อสารลงดินอีกชุด เช่น KT กทม. กสทช. NT

“กทม.จะสนับสนุนเต็มที่และคงต้องคุยกับผู้ประกอบการว่าใช้วิธีไหนให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ผู้บริโภค ซึ่งจะเป็นขั้นตอนต่อไป เนื่องจากการนำสายสื่อสารลงดินต้องใช้ต้นทุนทั้ง 2 ฝ่าย ทั้งผู้ทำท่อร้อยสายและผู้เป็นเจ้าของสายสื่อสาร เนื่องจากสายบนดินจะนำลงสู่ใต้ดินก็ต้องใช้การลงทุนเพิ่มซึ่งต้องทำให้เหมาะสม

“อย่างน้อยขั้นตอนแรกที่เราจัดระเบียบก็จะทำให้ความรกรุงรังของสายสื่อสารลดลง โดยคาดว่าจะมีผลเป็นรูปธรรมตั้งแต่เดือนหน้าเป็นต้นไป”

จากนั้นนายชัชชาติได้ร่วมประชุมเรื่องการนำสายสื่อสารลงดินร่วมกับ นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และผู้บริหาร กสทช. เพื่อเป็นการยืนยันจาก กสทช.ถึงแผนการดำเนินการ 800 กม. ในพื้นที่ 16 เขต ของกรุงเทพฯ ภายในปีนี้

ทั้งนี้ กสทช. ได้เตรียมงบประมาณไว้แล้วประมาณ 700 ล้านบาท โดยปีนี้จะดำเนินการ 16 เขตแรกก่อนที่มีประชากรหนาแน่นและสายสื่อสารหนาแน่น ซึ่งโครงการนี้เป็นโครงการที่รัฐบาลได้ทำมาก่อนหน้านี้แล้ว กทม.มีหน้าที่อำนวยความสะดวกและสนับสนุนการดำเนินงานซึ่งตามแผนจะแล้วเสร็จภายในสิ้นปีนี้

“ในช่วงที่ผ่านมาอาจยังไม่ได้รับความร่วมมือจากผู้ประกอบการเท่าที่ควร จึงทำให้เกิดความล่าช้าในการดำเนินงาน ซึ่งขณะนี้คืบหน้าเพียง 25 -30% เท่านั้น โดยภายในสัปดาห์นี้ กสทช. จะเชิญผู้ประกอบการสายสื่อสาร และ กฟน. มาร่วมหารือ เพื่อเร่งรัดดำเนินการให้เสร็จได้ทันตามที่กำหนดภายในปี 2565

“ต่อไปนี้ กทม.จะใช้ พ.ร.บ.รักษาความสะอาดฯ มาตรา 39 เพื่อแก้ปัญหาสายสื่อสารรกรุงรัง และ กทม.จะออกประกาศเพื่อบังคับใช้ในอนาคต หากใครไม่มีใบอนุญาตติดตั้งสายสื่อสารจาก กสทช.จะไม่สามารถพาดสายได้ หากใครฝ่าฝืนจะต้องถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย ส่วนสายสื่อสารที่ไม่มีสัญญาณวิ่งหรือว่าสายตายเราจะต้องตัดทิ้งลงให้หมดเพื่อลดปัญหาสายสื่อสารผิดกฎหมายและความรกรุงรัง” นายชัชชาติระบุ

อนึ่ง เมื่อวันที่ 4 ก.ค. ที่ผ่านมา นายชัชชาติ ได้หารือเรื่อง กรุงเทพมหานครเมืองอัจฉริยะ (Bangkok Smart City) และการบริหารจัดการท่อร้อยสายสื่อสารลงใต้ดิน ร่วมกับนายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดีอีเอส นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการแทนเลขาธิการ กสทช. และตัวแทนบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT

Related posts

มหาอำนาจโลกในมือ ‘ทรัมป์’ จุดจบการดำเนินงานด้านสภาพภูมิอากาศ?

โลกจมกองพลาสติก ต้องเปลี่ยนวิธีผลิต ลดการบริโภค กำจัดอย่างยั่งยืน

อุณหภูมิทะลุ 3.1°C แผนลดก๊าซเรือนกระจกในปี 2030 เป็นเรื่องเพ้อฝัน