‘Blue carbon’ ระบบนิเวศทางทะเลแหล่งกักเก็บคาร์บอนใหญ่ที่สุดในโลก

แม้เราจะเกลียดชังคาร์บอนในฐานะตัวการทำให้เกิดภาวะโลกร้อนมากแค่ไหน สิ่งหนึ่งที่เราจะลืมไม่ได้คือคาร์บอนเป็นองค์ประกอบสำคัญของชีวิต นั่นหมายความว่าเราจะมุ่งลดและกำจัดคาร์บอนอย่างเดียวคงไม่ได้ เราต้องทำให้มันอยู่ในโลกอย่างสมดุล เพราะไร้คาร์บอนก็ไร้ชีวิต

ระบบนิเวศมากมายที่อยู่ได้ด้วยการซึมซับคาร์บอน แต่ก็มีคาร์บอนส่วนเกินที่มนุษย์สร้างขึ้นมาจนกลายเป็นปัญหาอยู่ในขณะนี้ ซึ่งระบบนิเวศอิงคาร์บอนที่กำลังเป็นที่พูดถึงกันมากคือ Blue Carbon และ Green Carbon

ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จักคาร์บอนทั้ง 2 ประเภทกันก่อน แล้วค่อยเรียนรู้ถึงความสำคัญของพวกมัน

กรีน คาร์บอน (Green Carbon) คืออะไร?

เป็นคาร์บอนที่ดูดซับโดยต้นไม้ ผืนป่า และผืนดินที่ปกคลุมด้วยพืชพันธุ์ ผ่านกระบวนการสังเคราะห์แสงของพืช การดูดซับคาร์บอนลักษณะนี้เป็นที่คุ้นเคยของคนทั่วไป เพราะการศึกษาขั้นพื้นฐานสอนให้เรารู้ว่าพืชเจริญเติบโตโดยการสังเคราะห์แสง และมีคาร์บอนไดออกไซด์เป็นปัจจัยหลัก

พืชและป่าจึงมีส่วนสำคัญในการหมุนเวียนคาร์บอน ด้วยความที่กรีน คาร์บอน อยู่บนผืนดินและกักเก็บคาร์บอนส่วนเกินไว้ในผืนดิน เราจึงเรียกมันอีกอย่างว่า Terrestrial Carbon Sink หรือคาร์บอน ซิงค์ ภาคพื้นดิน (1)

ความสำคัญของกรีน คาร์บอน

ป่าเป็นตัวดูดซับกรีน คาร์บอน ที่ทรงอานุภาพที่สุด เพราะมีอายุยืนนาน โดยเฉพาะจากเศษซากใบไม้กิ่งไม้ในป่าที่สะสมคาร์บอนเป็นเวลายาวนานหลายศตวรรษ นอกจากนี้ ป่าไม้ยังสามารถสะสมก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จำนวนมากได้ในระยะเวลาอันสั้น การปลูกป่าเพิ่มเติมและการฟื้นคืนพื้นที่ป่าจึงเป็นหนทางที่ง่าย แต่มีประสิทธิภาพในการเพิ่มการกักเก็บคาร์บอนชีวภาพ

ในเรื่องนี้คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) คำนวณว่าโครงการระดับโลกที่เกี่ยวข้องกับป้องกันการตัดไม้ทำลายป่า, การฟื้นฟูป่าเขตร้อน และการปลูกป่าใหม่ทั่วโลก สามารถดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศได้ 60–87 กิกะตัน ภายในปี พ.ศ.2593 หรือคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 12-15% ของการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากเชื้อเพลิงฟอสซิลในช่วงเวลานั้น (1)

บลู คาร์บอน (Blue carbon) คืออะไร?

กรีน คาร์บอน ยังไม่อาจเทียบได้กับบลู คาร์บอน ก่อนอื่นเรามาทำความเข้าใจกันก่อนว่า บลู คาร์บอนคือคาร์บอนที่ดูดซับโดยระบบนิเวศทางทะเล โดยสิ่งมีชีวิตที่มีบทบาทสำคัญ คือ ป่าชายเลน, บึงเกลือ, หญ้าทะเล และสาหร่ายขนาดใหญ่ (1) โดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบนิเวศชายทะเล เช่น ป่าชายเลน มีบทบาทอย่างมากในการดูดซับคาร์บอนให้ถูกดึงลงไปในผืนดินใต้ทะเล หรือดินเลนชายฝั่ง หรือที่เรียกว่า คาร์บอน ซิงค์ (Carbon Sink) และมหาสมุทรคือ คาร์บอน ซิงค์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก หรือเรียกว่า Oceanic Carbon Sink ซึ่งดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากกว่าหนึ่งในสี่ของที่มนุษย์ปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศ (2)

บลู คาร์บอนสำคัญอย่างไร

คริสเตียน เนลเลมานน์ และคณะนักวิจัยจากโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ ระบุว่า บรรดาคาร์บอนชีวภาพทั้งหมดที่ถูกดูดซับไว้ในโลกมากกว่าครึ่งนั้น (55%) ดูดซับไว้โดยคาร์บอน ซิงค์ทางทะเล ไม่ใช่คาร์บอน ซิงค์ภาคพื้นดิน (3) นี่คือความสำคัญของบลู คาร์บอน และในบรรดาพื้นที่กักเก็บคาร์บอนทั้งหมดของมหาสมุทรนั้น พื้นที่เติบโตของพืชในทะเลมีอัตราส่วนกักเก็บคาร์บอนกว่า 50% และเป็นไปได้ว่าอาจมากถึง 70% ของคาร์บอน ซิงค์ในมหาสมุทร

แม้ว่าแหล่งที่อยู่อาศัยของพืชในมหาสมุทรจะครอบคลุมน้อยกว่า 0.5% ของพื้นที่ก้นทะเลก็ตาม (3) แสดงให้เห็นถึงความสำคัญยิ่งยวดของพืชทะเลที่แม้จะมีปริมาณน้อยเมื่อเทียบกับพืชบกที่กักเก็บกรีน คาร์บอน แต่พืชทะเลก็มีความสามารถในการกักเก็บคาร์บอนสูงกว่า และกักเก็บได้ยาวนานหลายพันปี

ตัวเอกและบทบาทของบลู คาร์บอน

1.ป่าโกงกาง

โกงกางทั่วโลกคาดว่ามีพื้นที่อยู่ที่ระหว่าง 83,495 – 167,387 ตารางกิโลเมตร (4) และคิดเป็นพื้นที่กักเก็บคาร์บอนถึง 10% ทั่วโลก (5) ปัจจุบันประเทศที่มีป่าโกงกางมากที่สุดในโลกคือ อินโดนีเซีย คิดเป็น 30% ของทั้งโลก และเมื่อรวมผืนป่าโกงกางอินโดนีเซีย บราซิล มาเลเซีย และปาปัวนิวกินี จะมีศักยภาพในการกักเก็บคาร์บอนถึง 50% (4)

2. หญ้าทะเล

แม้ว่าพื้นที่เติบโตของหญ้าทะเล จะมีสัดส่วนเพียง 0.1% ของพื้นที่พื้นมหาสมุทร แต่พวกมันมีอัตราการกักเก็บคาร์บอนในมหาสมุทรทั้งหมด 10-18% หรือคิดเป็นปริมาณถึง 19.9 กิกะตันของคาร์บอนในทะเล (6) โดยปัจจุบันโลกของเรามีพื้นที่หญ้าทะเลอยู่ที่ราว 300,000 ถึง 600,000 ตารางกิโลเมตร

3. ที่ลุ่มชื้นแฉะริมทะเล

ที่ลุ่มชื้นแฉะริมทะเล หรือบึงน้ำเค็ม มีพื้นที่รวมกันทั่วโลกประมาณ 22,000 ถึง 400,000 ตารางกิโลเมตร และทำให้ที่ลุ่มชื้นแฉะริมทะเลเป็นระบบกักเก็บคาร์บอนชีวภาพธรรมชาติที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดในโลก โดยระดับความลึกของชั้นดินใต้น้ำกักเก็บคาร์บอนที่มีอายุถึง 5,000 ปี

4. สาหร่ายทะเล

มีหลักฐานว่าสาหร่ายผลิตสารประกอบที่มีความทนทานสูง และทำให้คาร์บอนชีวภาพอาจกักเก็บอยู่ในตะกอนหรือเคลื่อนย้ายไปยังทะเลลึกและเก็บไว้เป็นเวลานานนับพันปี ดังนั้นการอนุรักษ์พื้นที่การเติบโตของสาหร่ายทะเลตามธรรมชาติ และการเพาะเลี้ยงสาหร่ายทะเล จึงมีส่วนในการบรรเทาและการปรับตัวจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (8)

ด้วยความสำคัญของบลู คาร์บอนนี่เอง ก่อนการประชุม COP25 จะเริ่มขึ้น รัฐบาลบางประเทศจึงได้ขอให้มีการบรรจุวาระเรื่องสถานการณ์ของมหาสมุทรเข้าสู่การพิจารณาด้วย เพราะเล็งเห็นว่าการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีประสิทธิภาพควรเริ่มต้นจากการแก้ปัญหามหาสมุทรทั่วโลก

อ้างอิง

  1. Nellemann, Christian et al. (2009): Blue Carbon. The Role of Healthy Oceans in Binding Carbon. A Rapid Response Assessment. Arendal, Norway: UNEP/GRID-Arendal
  2. “Oceans’ Uptake of Manmade Carbon May Be Slowing”. Earth Institute News, Columbia University, 18 Nov. 2009. https://www.earth.columbia.edu/articles/view/2586
  3. Nelleman, C. “Blue carbon: the role of healthy oceans in binding carbon” (PDF). Archived from the original (PDF) on 2016-03-04.
  4. Hamilton, Stuart E.; Casey, Daniel (2016-03-21). “Creation of a high spatio-temporal resolution global database of continuous mangrove forest cover for the 21st century (CGMFC-21)”. Global Ecology and Biogeography. 25 (6): 729–738. arXiv:1412.0722. doi:10.1111/geb.12449. ISSN 1466-822X.
  5. Duarte, C.M. (2005). “Major rule of marine vegetation on the oceanic carbon cycle” (PDF). Biogeosciences. 2: 1–8. doi:10.5194/bg-2-1-2005.

https://hal.archives-ouvertes.fr/file/index/docid/297509/filename/bg-2-1-2005.pdf

  1. . Fourqurean, James W. (2012). “Seagrass ecosystems as a globally significant carbon stock”. Nature Geoscience. 5 (7): 505–509. https://www.nature.com/articles/ngeo1477
  2. Chmura, Gail; Anisfield, Shimon (2003). “Global carbon sequestration in tidal, saline wetland soils”. Global Biogeochemical Cycles. 17 (4): n/a. https://ui.adsabs.harvard.edu/abs/2003GBioC..17.1111C
  3. Duarte CM, Yu Y, Xiao X, Bruhn A, Krause-Jensen D. 2017Can seaweed farming play a role in climate change mitigation and adaptation?Front. Mar. Sci. 4, 100. https://www.frontiersin.org/articles/10.3389/fmars.2017.00100/full

Related posts

เป้าหมาย NDC ความมุ่งมั่นของไทย ก้าวย่างสู่ Net Zero และโลกยั่งยืน

ประโยชน์การเข้าร่วมเวที COP29 โอกาสเข้าถึงเงินช่วยเหลือของไทย

เร่งกองทุน Loss and damage ช่วยประเทศเปราะบางสู้วิกฤตโลกเดือด