‘มหาสมุทร’ แหล่งกักเก็บคาร์บอน 1 ใน 4 ที่มนุษย์ปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศ

by IGreen Editor

ระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่งเป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอนหรือคาร์บอนซิงค์ ที่มีประสิทธิภาพในการกักเก็บคาร์บอนได้มากกว่าป่าไม้ถึง 10 เท่า ดึงคาร์บอนลงไปกักเก็บไว้ในใต้ดินได้ถึงร้อยละ 50 – 99 โดยมหาสมุทรเป็นคาร์บอนซิงค์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากกว่า 1 ใน 4 ที่มนุษย์ปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศ สามารถลดผลกระทบจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 141-146 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี

ปี 2565 นับเป็นก้าวย่างสำคัญของประเทศไทยในการเริ่มต้นลงมืออย่างเป็นรูปธรรมในการนำ “บลูคาร์บอน” (Blue Carbon) มาช่วยแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อน เพื่อบรรลุเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ตามที่ได้ประกาศไว้

แหล่งเก็บกักคาร์บอนที่สำคัญ  

บลูคาร์บอน คือ คาร์บอนไดออกไซด์ที่ถูกดูดซับโดยระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่ง เช่น ป่าชายเลน ที่ราบน้ำท่วมถึง แหล่งหญ้าทะเล ลุ่มน้ำเค็ม ฯลฯ โดยกักเก็บคาร์บอนในรูปของชีวมวล และการทับถมของตะกอนลงสู่ชั้นดิน

ระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่งเป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอนหรือคาร์บอนซิงค์ (Carbon Sink) ที่มีประสิทธิภาพในการกักเก็บคาร์บอนได้มากกว่าป่าไม้ถึง 10 เท่า (1) สามารถดึงคาร์บอนลงไปกักเก็บไว้ในใต้ดินได้ถึงร้อยละ 50 – 99 (2)

มหาสมุทรหรือ Oceanic Carbon Sink เป็นคาร์บอนซิงค์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากกว่าหนึ่งในสี่ที่มนุษย์ปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศ นักวิจัยระบุว่า คาร์บอนชีวภาพที่ถูกดูดซับไว้ในโลกร้อยละ 55 ดูดซับไว้โดยคาร์บอนซิงค์ทางทะเล โดยเฉพาะพื้นที่เติบโตของพืชในมหาสมุทร แม้จะมีพื้นที่ไม่มาก แต่สามารถกักเก็บคาร์บอนได้ถึงร้อยละ 50 – 70 และกักเก็บได้ยาวนานหลายพันปี (3)

ระบบนิเวศของบลูคาร์บอนมีศักยภาพในการกักเก็บคาร์บอนได้ถึง 3 หมื่นล้านตันจากพื้นที่ 184 ล้านเฮกตาร์ ลดผลกระทบจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 141-146 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี กิจกรรมฟื้นฟูพื้นที่ระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่งช่วยลดผลกระทบจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 621-1,024 ล้านตันต่อปี มีมูลค่าสูงถึง 1.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ บลูคาร์บอนนับเป็นกลไกสำคัญของเศรษฐกิจสีน้ำเงิน (Blue Economy) หรือแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจบนพื้นฐานการใช้ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอย่างยั่งยืน (4)

นอกจากกักเก็บคาร์บอนแล้ว ระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่งยังมีความสำคัญในฐานะเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำ เป็นที่หลบภัยของสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ ช่วยกรองน้ำเสียก่อนไหลลงทะเล ลดความรุนแรงของคลื่น เพิ่มผืนดินให้กับชายฝั่ง ฯลฯ

แต่ด้วยภัยคุกคามต่าง ๆ ส่งผลต่อประสิทธิภาพในการกักเก็บคาร์บอนของพื้นที่ชายฝั่งและพื้นที่ทะเล  อย่างเช่น ป่าชายเลนที่ถูกทำลายไปถึงร้อยละ 30 – 50 ในช่วง 50 ทศวรรษปีที่ผ่านมา ทำให้ปริมาณคาร์บอนเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 10 (5)

จุดเริ่มต้นบลูคาร์บอนไทยสู่ความยั่งยืน

ด้วยเห็นความสำคัญ วันนี้หลายประเทศริเริ่มโครงการบลูคาร์บอนรวมถึงประเทศไทย โดยในปี 2565 มีการพูดถึงแนวทางการอนุรักษ์แหล่งกักเก็บบลูคาร์บอน เพื่อบรรลุเป้าหมาย Net Zero โดยทางกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ได้ออกระเบียบเกี่ยวกับการปลูกป่าชายเลนเพื่อประโยชน์จากคาร์บอนเครดิต สำหรับบุคคลภายนอก และระเบียบการปลูกป่าชายเลนเพื่อประโยชน์จากคาร์บอนเครดิตสำหรับชุมชน ปี 2565  เพื่อเปิดโอกาสให้เอกชน และชุมชน

โครงการริเริ่มโดย ทช. คือ โครงการปลูกป่าชายเลนเพื่อประโยชน์จากคาร์บอนเครดิต ซึ่งกำหนดเป้าหมายระยะ 10 ปี (ปี 2565-2574) บนเนื้อที่ 300,000 ไร่ ใน 23 จังหวัดชายฝั่งทะเล (6)

ในปี 2565 มีพื้นที่เป้าหมายในการดำเนินการสำหรับบุคคลภายนอกประมาณ 44,000 ไร่ และสำหรับชุมชนประมาณ 44,000 ไร่ โดยมีผู้เข้าร่วมจำนวนมาก หลังได้รับอนุมัติ ผู้เข้าร่วมจะต้องยื่นจดทะเบียนโครงการกับองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) ซึ่งเป็นหน่วยงานประเมินคาร์บอนเครดิต (7) โดยคาร์บอนเครดิตนั้นเป็นสิทธิที่เกิดจากการลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่สิ่งแวดล้อม จากการดำเนินโครงการหรือมาตรการต่าง ๆ สามารถวัดปริมาณ และนำไปซื้อขายในตลาดคาร์บอนเครดิตได้

โครงการบลูคาร์บอนสามารถช่วยฟื้นฟูระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่ง โดยผู้ร่วมโครงการจะต้องดำเนินการบำรุงดูแลรักษาอย่างต่อเนื่องในระยะ 10 ปีขึ้นไป ในทางหนึ่งช่วยประหยัดงบประมาณภาครัฐ ทั้งสร้างรายได้ให้กับประชาชนในพื้นที่ และสร้างประโยชน์อย่างยั่งยืนในระยะยาว (8)

ทางเลือกทางรอดของโลก

จากข้อมูลของ Verra​ องค์กรซึ่งทำหน้าที่ออกใบมาตรฐานคาร์บอนพบว่า มีโครงการบลูคาร์บอนจากพื้นที่ป่าชายเลน 8 โครงการ พื้นที่หญ้าทะเล 1 โครงการ ซึ่งผ่านการตรวจสอบ โดยมี 6 โครงการในประเทศเคนยา อินเดีย มาดากัสการ์ โคลอมเบีย กินี-บิสเซา เม็กซิโก และ ปากีสถาน ที่ดำเนินงานตั้งแต่ปี 2562

สำหรับโครงการบลูคาร์บอนที่ใหญ่ที่สุดคือ เดลตาบลูคาร์บอนในปากีสถาน ครอบคลุมพื้นที่ 325,000 เฮกตาร์ ใน 2566 มีการตกลงขายคาร์บอนเครดิต 300,000 ตัน

ในปี 2563 Verra ได้ปรับปรุงแก้ไขกฎระเบียบของโครงการบลูคาร์บอน โดยเฉพาะการอนุรักษ์พื้นที่ชุ่มน้ำชายฝั่งทะเลเพื่อให้เข้าใจ และปฏิบัติได้ง่ายขึ้น (9)

ปัจจุบัน โครงการบลูคาร์บอนส่วนใหญ่เป็นโครงการเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ไม่ได้แสวงหาผลกำไรเป็นเป้าหมายหลัก อีกทั้งโครงการทั้งหมดยังไม่สามารถขยายผลไปสู่การปฏิบัติได้อย่างเต็มที่ เพราะมีข้อจำกัดและอุปสรรคต่าง ๆ

ในอนาคตโครงการบลูคาร์บอนต้องการการลงทุนและสนับสนุนเพิ่มมากขึ้น เพื่อให้เห็นผลในการแก้ปัญหาโลกร้อนอย่างเต็มศักยภาพ การเริ่มต้นนำ “บลูคาร์บอน” มาช่วยแก้ไขปัญหาโลกร้อนของไทยในปี 2565 ที่ผ่านมา จึงเป็นก้าวย่างสำคัญของประเทศในการต่อสู้กับภาวะโลกร้อน และเป็นความความมุ่งมั่นหนึ่งที่จะบรรลุเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ตามเป้าหมายที่วางไว้

อ้างอิง:

(1),(7),(8) จุลวรรณ เกิดแย้ม (2023). “บลูคาร์บอน”หนุนบทบาททะเล เร่งธุรกิจสู่ Net Zero เร็วขึ้น Retrieved Dec 28, 2023, from https://www.bangkokbiznews.com/environment/1031285

(2),(5),(6) มูลนิธิสืบนาคะเสถียร (2023). บลูคาร์บอน ทางเลือกใหม่ ระบบนิเวศทางทะเล กับการพิชิตเป้าหมาย Net Zero. Retrieved Dec 28, 2023, from https://www.seub.or.th/bloging/news/2023-69/

(3) กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม (2019) . ‘Blue Carbon’ แหล่งดูดซับคาร์บอนโอบอุ้มโลก. Retrieved Dec 28, 2023, from https://www.facebook.com/dcceth/posts/pfbid021t4x3ezs26wgSrWm1rvRePSR4gArSQM8FJM8egj2beHJWsc19FuDSyW4YoPFRtctl

(4),(9) โพสต์ทูเดย์ (2023). Climate Change : รู้จัก Blue Carbon กับโอกาสในการเข้าถึงตลาดและแหล่งเงินทุน. Retrieved Dec 28, 2023, from https://www.posttoday.com/post-next/be-greener/692483

Copyright @2021 – All Right Reserved.