‘ปลาหมอคางดำ’ ทำลายระบบนิเวศ ยื่นฟ้องศาลเอาผิดเสียหายหมื่นล้าน

Cr. สวทช.

BIOTHAI ประเมินมูลค่าความเสียหายทางสิ่งแวดล้อมจากการระบาดของปลาหมอคางดำเบื้องต้น 1 หมื่นล้านบาท เตรียมยื่นฟ้องเอาผิดกรมประมงและเอกชนผู้นำเข้า

เครือข่ายประชาชนเตรียมยื่นฟ้องศาลปกครองเอาผิดกรมประมงในฐานะผู้อนุญาตนำเข้าปลาหมอคางดำ และฟ้องคดีแบบกลุ่มที่ศาลแพ่งแผนกคดีสิ่งแวดล้อม เอาผิดเอกชนรับผิดชอบความเสียหายทางสิ่งแวดล้อมจากการระบาดของ “ปลาเอเลียน” มูลค่าเบื้องต้น 10,000 ล้านบาท ยันมีหลักฐานการเพาะเลี้ยงในบ่อดิน ไม่ใช่ระบบปิดที่เป็นบ่อซีเมนต์

วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี (BIOTHAI) เปิดเผยบีบีซีไทยว่า ขณะนี้ BIOTHAI สภาทนายความ มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW) รวมถึงตัวแทนชาวบ้านใน จ.สมุทรสงครามที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดปลาหมอคางดำ อยู่ระหว่างการหารือแนวทางเพื่อฟ้องร้องเอกชนผู้ได้รับอนุญาตนำเข้าพันธุ์ปลาหมอคางดำมาทำวิจัยปรับปรุงพันธุ์ เมื่อวันที่ 22 ธ.ค. 2553 หรือเมื่อ 14 ปีก่อน โดยจะมีการแถลงรายละเอียดการยื่นฟ้องในวันที่ 31 ก.ค.นี้ เวลา 13.30 น.

จากการประเมินเบื้องต้น วิฑูรฑ์ คาดว่า การระบาดของปลลาหมอคางดำได้สร้างความเสียหายทางสิ่งแวดล้อมประมาณ 10,000 ล้านบาทเป็นอย่างต่ำ การใช้งบประมาณ 30 ล้านบาทเพื่อรับซื้อปลาหมอคางดำไม่สามารถชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้นได้ เนื่องจากผลจากการระบาดในครั้งนี้ไม่เพียงทำลายความหลากหลายของระบบนิเวศและสร้างผลกระทบให้กับเกษตรกรรายย่อย แต่ยังได้ทำลายระบบโภชนาการในระยะยาวของคนไทยด้วย

“สิ่งที่เกิดขึ้นแน่ๆ หลังจากนี้คือ เกษตรกรที่อยู่ตามชายฝั่งและได้รับผลกระทบจากการระบาดของปลาหมอคางดำจะถูกบีบให้เลี้ยงสัตว์น้ำในระบบปิดลักษณะฟาร์มอุตสาหกรรม ซึ่งต้องสั่งซื้อพันธุ์ปลา อาหารปลา รวมถึงเทคโนโลยีการเลี้ยงจากเอกชนยักษ์ใหญ่” ผอ.มูลนิธิชีววิถี คาดการณ์

อย่างไรก็ตาม BIOTHAI ย้ำว่า หลักฐานทั้งหมดเริ่มต้นจากศูนย์ทดลองหรือฟาร์มเพาะเลี้ยงของเอกชนที่ ต.ยี่สาร อ.อัมพวา โดยมีภาพถ่ายทางอากาศจากรายงานข่าวของไทยพีบีเอสที่ทำให้เห็นว่าเป็นสภาพแวดล้อมแบบเปิด ไม่ใช่ระบบปิดอย่างที่เอกชนกล่าวอ้าง และอยู่ติดกับลำคลองธรรมชาติที่เชื่อมต่อไปยังลำน้ำสายหลักของสมุทรสงครามไปจนถึงเพชรบุรี รวมถึงหลักฐานจากการตรวจเทียบดีเอ็นเอของปลาที่ระบาดในพื้นที่ต่างๆ ซึ่งวิจัยโดยกรมประมง

วิฑูรฑ์ กล่าวว่า ในเวลานี้สังคมถูกทำให้เชื่อว่าปลา 2,000 ตัว (ที่นำเข้ามา) ตายไปหมดภายใน 16 วัน และถูกฝังกลบไว้ที่ฟาร์มยี่สารและสร้างตึกทับ สังคมถูกทำให้เชื่อว่าซีพีเอฟส่งตัวอย่างปลา 50 ตัวให้กรมประมงแล้วตั้งแต่เดือน ม.ค. 2554 และปัญหาอยู่ที่กรมประมงทำให้ปลาหายไป ดังนั้นต้องไปถามหาหาหลักฐานการส่งปลา 50 ตัว จากอธิบดีกรมประมง ซึ่งไบโอไทยก็ถูกทำให้เชื่อเช่นนั้น

“ฉะนั้นเมื่อคืนวันที่ 16 ก.ค. 2567 เมื่ออดีตพนักงานของฟาร์มยี่สารติดต่อมาเพื่อชี้แจงรายละเอียด ผมเลยถามคำถามแรกว่าปลาถูกฝังไว้ที่ไหน แต่ที่เขาตอบกลับมาคือ ปลาถูกเลี้ยงที่นั่นตั้งแต่ปี 2553 จนถึงอย่างน้อยก็ปี 2560 โดยมีการเพาะเลี้ยงต่อเนื่องมาเรื่อยๆ” วิฑูรย์ กล่าวในเวทีเสวนา “บทเรียนหายนะสิ่งแวดล้อม กรณีปลาหมอคางดำ : การชดเชยเยียวยาความเสียหาย ฟื้นฟูระบบนิเวศและปฏิรูประบบความปลอดภัยทางชีวภาพ” จัดโดยมูลนิธิชีววิถี, มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย), มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW), สภาองค์กรของผู้บริโภค, เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก และเครือข่ายความมั่นคงทางอาหารหายนะสิ่งแวดล้อม เมื่อวันที่ 26 ก.ค. 2567

เลขาธิการมูลนิธิชีววิถี กล่าวต่อว่า อดีตพนักงานคนดังกล่าวยังได้อธิบายด้วยว่า บ่อที่บริษัทใช้เลี้ยงนั้นไม่ได้เป็นบ่อซีเมนต์เหมือนในปัจจุบัน แต่เป็นบ่อดินอย่างน้อยที่สุดก็จนถึงปี 2560 ดังนั้น การที่ปลาหลุดไปในคลองธรรมชาติก็มาจากขั้นตอนการสูบน้ำทิ้งออกนอกฟาร์ม “ระบบน้ำในฟาร์มจะทำระบบปิดคือโซนน้ำดีและน้ำเสีย น้ำเสียจะวนไปบำบัดในบ่อใหญ่แล้วเวียนกลับมาใช้ใหม่ ถ้าน้ำในระบบหายไปเยอะจะดึงน้ำจากคลองธรรมชาติเข้าไปเติมในบ่อดี พอปลาในระบบมันหลุดอยู่ในบ่อบำบัด ในคลองส่งน้ำต่างๆ พอนานๆ เข้าจะมีการเคลียร์บ่อเก็บน้ำบ่อบำบัดน้ำ ก็ต้องสูบน้ำทิ้งออกนอกฟาร์มและดูดน้ำดีเข้ามาในฟาร์มเพื่อเคลียร์ปลาในบ่อ ตรงนี้แหละที่ปลาจะหลุดไปในคลองธรรมชาติ” วิฑูรย์ อธิบาย

นอกจากนั้นย้ำอีกว่า จะมีการเปิดเผยข้อมูลเพิ่มเติมอีก โดยเฉพาะจากพนักงานที่เกี่ยวข้องกับการทำวิจัยที่ฟาร์มยี่สารร่วม 30 คน ที่รู้เห็นการดำเนินงานในโครงการนี้ ซึ่งจะได้ทราบชัดเจนว่าต้นตอการระบาดปลาหมอคางดำหลุดรอดจากฟาร์มลงสู่คลองดอนจั่น คลองหลวง คลองเจ๊ก คลองสมบูรณ์ คลองสะพานหัน คลองตามน และคลองผีหลอก ในเขต ต.ยี่สาร และ ต.แพรกหนามแดง ซึ่งคลองดอนจั่น คลองหลวง และคลองสมบูรณ์ เป็นคลองที่อยู่ติดกับศูนย์เพาะเลี้ยงของบริษัทฯ ที่ จ.สมุทรสงคราม

ขณะที่ข้อมูลจากเพจ SROI TU ศูนย์วิจัยและพัฒนาเครื่องมือด้านการประเมินผลตอบแทนทางสังคม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คาดการณ์ว่าผลกระทบความเสียหายจากปลาหมอคางดำ ตั้งแต่ปี 2559 จนถึงปัจจุบันเฉพาะในชุมชนตำบลแพรกหนามแดงเพียงตำบลเดียว (เปรียบเทียบกับผลประโยชน์รายได้ประมงในพื้นที่ ณ ปี 2561) คาดการณ์ว่ามีมูลค่าความเสียหายไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาท/ปี

ล่าสุด เพจ BIOTHAI โพสต์ status ว่า สรุป #ปลาหมอคางดำ 1. ประมงผิดไม่กำกับ 2. ซีพีผิดละเมิด biosafety ต้นเหตุการระบาด 3. รัฐบาลดันเอาภาษีปชช.มาชดเชยและไม่เอา 1, 2 มารับผิดชอบ

สำหรับ การฟ้องร้องเอาผิดนั้น สุรชัย ตรงงาม กรรมการและเลขาธิการ มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW) แนะนำว่า สามารถใช้มาตรา 97 ของ พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อม ฟ้องร้องค่าเสียหายจากเอกชนที่เป็นผู้ก่อมลพิษ และเกิดคความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม และรัฐโดยกรมประมง มีส่วนที่ทำให้เกิดปัญหา เพราะมีการละเว้นการบังคับใช้กฎหมายหรือไม่

วินิจ ตันสกุล ผู้เชี่ยวชาญด้านกลยุทธ์การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ กล่าวในเวทีเสวนา “บทเรียนหายนะสิ่งแวดล้อม กรณีปลาหมอคางดำ : การชดเชยเยียวยาความเสียหาย ฟื้นฟูระบบนิเวศและปฏิรูประบบความปลอดภัยทางชีวภาพ” ว่า สถานการณ์ตอนนี้ถือว่า ไทยเผชิญการระบาดของปลาหมอคางดำในระดับรุนแรง เพราะสภาพอากาศเหมาะสม โดยในพื้นที่อ่าวไทยรูปตัว ก. การแพร่กระจายของไข่อาจไปโดยถูกนกโฉบพา หลุดเองลงแหล่งน้ำ และคนพาไป

นอกจากนี้ ผลศึกษาของกรมประมง พบว่า ปลาหมอคางดำกินดุ กินหมดบ่อได้ใน 3-4 ชั่วโมง จนเกิดความเสียหายมากใน 17 จังหวัด ข้อมูลสัตว์น้ำกุ้งขาวมากที่สุด 72% พบว่ากลุ่มชาวบ้านที่เลี้ยงระบบเปิดเกิดความเสียหายกว่าระบบปิด ในการสำรวจปี 2561 พบว่าพื้นที่ 48,000-50,000 ไร่ มีปลาหมอคางดำกว่า 1,573,000 ตัว สร้างความเสียหายเกือบ 350 ล้านบาทในพื้นที่ จ.สมุทร สงคราม และเพชรบุรี

“วันนี้เรามีดีเอ็นเอ [ปลาหมอคางดำ] แค่ปี 65 และ ปี 60 เราขาดดีเอ็นเอปี 54 เราขาดจิ๊กซอว์ไปหนึ่งตัว ก็เลยไม่สามารถยืนยัน [ต้นตอการระบาด] ได้ เพียงแค่สันนิษฐานได้” ณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ สส.กรุงเทพมหานคร พรรคก้าวไกล ในฐานะรองประธานคณะอนุกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาศึกษาสาเหตุและแนวทางการแก้ไขปัญหา รวมถึงผลกระทบจากการนำเข้าปลาหมอสีคางดำเพื่อการวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์ในราชอาณาจักรไทย ระบุ

อนุ กมธ. ชุดนี้จะเชิญคณะกรรมการกฤษฎีกามาให้คำแนะนำช่องทางการฟ้องร้องเอกชนในสัปดาห์หน้า รวมถึงให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องประเมินมูลค่าความเสียหายต่อระบบนิเวศ “หากรัฐบาลไม่รับลูกต่อ ก็แสดงให้เห็นว่าเอื้อกัน ช่วยเหลือกัน และสื่อให้เห็นว่านายกรัฐมนตรีไม่ได้มีความจริงใจในการแก้ไขปัญหา” ณัฐชาบอกกับบีบีซีไทย

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 25 ก.ค. 2567 เปรมศักดิ์ วนัชสุนทร ผู้บริหารสูงสุดด้านการวิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF ซีพีเอฟ เปิดเผยว่า ตามที่อนุ กมธ.เชิญไปชี้แจงนั้น บริษัทได้ส่งหนังสือชี้แจงไปว่า (ไม่ได้เข้าชี้แจงด้วยตัวเอง) ซีพีเอฟได้นำเข้าลูกปลาหมอคางดำ ในชื่อสามัญ Blackchin tilapia และชื่อวิทยาศาสตร์ Sarotherodon melanotheron ขนาด 1 กรัม จำนวน 2,000 ตัว จากประเทศกานา เมื่อวันที่ 22 ธ.ค. 2553 ใช้เวลาเดินทาง 35 ชั่วโมง

เมื่อมาถึงสนามบินสุวรรณภูมิได้เปิดกล่องโฟมบรรจุลูกปลาพร้อมกับเจ้าหน้าที่กรมประมง ที่ประจำ ณ ด่านกักกัน พบว่ามีลูกปลาตายจำนวนมาก และเมื่อรับลูกปลามาถึงฟาร์มได้ตรวจคัดแยกพบว่ามีลูกปลามีชีวิตเหลืออยู่เพียง 600 ตัว ในสภาพที่ไม่แข็งแรง จึงได้นำลูกปลาที่ยังมีชีวิตลงในบ่อเลี้ยงซีเมนต์ เนื่องจากปลามีสุขภาพไม่แข็งแรง ลูกปลาทยอยตายต่อเนื่องทุกวัน

เนื่องจากสภาพลูกปลาที่เหลือไม่แข็งแรงและจำนวนไม่เพียงพอต่อการวิจัย จึงโทร.ปรึกษาเจ้าหน้าที่กรมประมง (นักวิชาการประมง 4 ตำแหน่งในขณะนั้น) กลุ่มความหลากหลายทางชีวภาพสัตว์น้ำจืด ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบที่มีชื่อระบุอยู่ในหนังสืออนุมัตินำเข้า โดยเจ้าหน้าที่แจ้งว่าให้เก็บตัวอย่างใส่ ขวดโหลแช่ฟอร์มาลีนและให้นำมาส่งที่กรมประมง ดังนั้น ในสัปดาห์ที่ 2 ของการรับปลาเข้ามา จึงเก็บตัวอย่างจำนวน 50 ตัว ดองฟอร์มาลีนเข้มข้นเพื่อเก็บไว้เป็นหลักฐาน

วันที่ 6 ม.ค. 2554 (สัปดาห์ที่ 3) เนื่องจากมีปลาทยอยตายเหลือเพียง 50 ตัว บริษัทจึงตัดสินใจไม่เริ่มดำเนินโครงการและยุติการวิจัยทั้งหมด และได้ทำลายลูกปลาทั้งหมดโดยใช้คลอรีนใส่ลงน้ำในบ่อเลี้ยงซีเมนต์ เพื่อฆ่าเชื้อและทำลายลูกปลาที่เหลือ หลังจากนั้น เก็บลูกปลาทั้งหมดแช่ฟอร์มาลีนเข้มข้น 24 ชั่วโมง แล้วนำมาฝังกลบพร้อมโรยปูนขาวในวันที่ 7 ม.ค. 2554 รวมระยะเวลาที่ลูกปลาชุดนี้มีชีวิตอยู่ในประเทศไทยเพียง 16 วันเท่านั้น และบริษัทได้แจ้งต่อกรมประมงถึงการตายของลูกปลา

รวมถึงได้ทำลายซากลูกปลาตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่กรมประมงท่านดังกล่าว และส่งตัวอย่างลูกปลาดองทั้งตัวในฟอร์มาลีนทั้งหมด 50 ตัว จำนวน 2 ขวด ขวดละ 25 ตัว ให้กับคุณศิริวรรณที่กรมประมง โดยในวันที่ 6 ม.ค. 2554 ได้เดินทางมาที่กรมประมง และได้โทร.แจ้งเจ้าหน้าที่ท่านเดิม เรื่องการส่งมอบตัวอย่างลูกปลาดองทั้ง 2 ขวด ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่อีกท่านหนึ่งลงมารับตัวอย่างแทน ที่ชั้น 1 อาคารจุฬาภรณ์ กรมประมง โดยเจ้าหน้าที่ไม่ได้ขอให้ตัวแทนบริษัทกรอกแบบฟอร์มใดๆ ทำให้เข้าใจว่าการส่งมอบสมบูรณ์แล้ว

ถัดมาอีก 7 ปี ในปี 2560 มีข้อมูลจากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนว่า มีการพบปลาหมอคางดำระบาดในพื้นที่สมุทรสงคราม กรมประมงจึงได้เข้าตรวจเยี่ยมฟาร์มยี่สาร อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม ในวันที่ 1 ส.ค. 2560 ซึ่งเจ้าหน้าที่จากกรมประมงตรวจสอบไม่พบปลาหมอคางดำในบ่อเลี้ยง จึงได้ขอสุ่มในบ่อพักน้ำที่เชื่อมต่อกับแหล่งน้ำธรรมชาติแทน ซึ่งบ่อพักน้ำ R2 ของฟาร์มไม่ได้เป็นส่วนของบ่อเลี้ยง แต่เป็นส่วนที่เชื่อมกับแหล่งน้ำธรรมชาติ เพื่อรอการกรองและฆ่าเชื้อทำความสะอาด ก่อนนำน้ำเข้ามาใช้ในฟาร์มบ่อพักน้ำเป็นส่วนที่เชื่อมกับแหล่งน้ำธรรมชาติ ทำให้ปลาที่อยู่ในแหล่งน้ำธรรมชาติย่อมมีอยู่ในบ่อพักน้ำ เนื่องจากเป็นแหล่งน้ำเดียวกัน และยังไม่เข้าสู่ระบบการเลี้ยง

ดังนั้น การสุ่มในบ่อพักน้ำจึงไม่แปลกที่ปลาจะเป็นชนิดเดียวกันกับปลาในแหล่งน้ำธรรมชาติ การนำมาเปรียบเทียบว่าเป็นปลาชนิดเดียวกันหรือไม่ จึงเป็นการตั้งสมมุติฐานที่ทราบคำตอบตั้งแต่ต้นว่าเป็นปลาชนิดเดียวกัน เพราะมาจากแหล่งน้ำธรรมชาติเดียวกัน

บริษัทไม่มีการวิจัยหรือเลี้ยงปลาหมอคางดำอีกเลยนับตั้งแต่เดือน ม.ค. 2554 ถึงแม้ว่าบริษัทมั่นใจว่าไม่ได้เป็นต้นเหตุของการแพร่ระบาด แต่ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ และพร้อมให้ความร่วมมือกับภาครัฐในการบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน ฯลฯ

อ้างอิง:
26 ก.ค. 2567 . CPF กำลังฟอกขาวบริษัทหรือไม่ จากกรณีปลาหมอคางดำ . บีบีซีไทย
26 ก.ค. 2567 . จ่อฟ้องแพ่งค่าเสียหายคดี สวล.”ปลาหมอคางดำ” . ThaiPBS Online
25 ก.ค. 2567 . เปิดข้อมูล ซีพีเอฟ ยื่นหนังสือแจง กมธ. นำเข้าปลาหมอคางดำตามเงื่อนไขกรมประมง . Prachachart

Related posts

จัดเดิน-วิ่ง มินิมาราธอน ปีที่ 2 ส่งต่อขาเทียมช่วยผู้พิการยากไร้

‘COP-19’ ดันอาเซียน เป็นภูมิภาคปลอด หมอกควัน

5 ปีอุณภูมิโลกส่อทะลุ 1.5 องศา ไทยเร่งรับมือ 6 สาขาเสี่ยงระดับพื้นที่