มนุษย์เป็นสัตว์เศรษฐกิจ แต่โมเดลเศรษฐกิจแบบเดิมเน้นการผลิตและบริโภคอย่างสิ้นเปลือง กว่าจะรู้ตัวโลกของเราก็เสื่อมสภาพจนเสี่ยงกับภาวะเลวร้ายอย่างที่หวนกลับคืนมาเป็นเหมือนเดิมไม่ได้ (Point of No Return)
โลกของเราจึงต้องการโมเดลเศรษฐกิจแบบใหม่ เพื่อที่เราจะยังคงขับเคลื่อนการผลิตและการบริโภคต่อไปได้ โดยไม่ทำลายสิ่งแลดล้อม และสามารถปรับตัวรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ซึ่งบั่นทอนอนาคตมนุษยชาติ
หนึ่งในโมเดลที่ได้รับความสนใจอย่างมาก คือ เศรษฐกิจอิงชีวภาพ (Biobased economy) หรือเศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy)
นิยามของเศรษฐกิจชีวภาพ
บุคคลแรกที่เอ่ยถึงคำว่า เศรษฐกิจชีวภาพ คือ ฮวน เอ็นริเกซ (Juan Enríquez) ในบทความชื่อ จีโนมิกส์กับเศรษฐกิจโลก (Genomics and the World’s Economy) (1) ต่อมาเอนริเกซยังชี้ให้เห็นว่า การเผยแพร่ข้อมูลด้านพันธุกรรมในแพลตฟอร์มสาธารณะ ช่วยให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ ด้านเทคโนโลยีชีวภาพ รวมถึงวิวัฒนาการใหม่ๆ ของสตาร์ทอัพด้านไบโอเทค (2)
นวัตกรรมใหม่ๆ ที่ว่านี้คือการเปลี่ยนจากการพึ่งพาพลังงานฟอสซิลมาเป็นพลังงานชีวภาพที่หมุนเวียนนกลับมาใช้ใหม่ได้ และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
แม้ว่าขณะนี้ยังไม่มีการนิยามเศรษฐกิจชีวภาพอย่างชัดเจน แต่องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) นิยามว่า “กลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจซึ่งเทคโนโลยีชีวภาพเป็นหัวใจหลักของการผลิตและอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิทยาศาสตร์เพื่อชีวิตที่ก้าวหน้าซึ่งนำมาปรับใช้ในการเปลี่ยนชีวมวลให้เป็นวัตถุดิบ สารเคมี และเชื้อเพลิงต่างๆ” (3)
โดยสรุปก็คือ เศรษฐกิจชีวภาพคือการลดใช้พลังงานฟอสซิล เช่น น้ำมัน แล้วหันมาใช้การเกษตร ป่าไม้ ทะเลและการจัดการของเสีย เพื่อการผลิตพลังงานชีวมวลและทรัพยากรหมุนเวียน เพื่อผลิตอาหาร พลังงาน ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ เชื้อเพลิงชีวภาพ เป็นต้น (4)
ทั้งนี้ เป็นสิ่งสำคัญที่เราจะต้องเข้าใจนิยามของเศรษฐกิจชีวภาพให้ชัดเจนก่อน เพราะหากเข้าใจผิดไป เราอาจจะยังหลงอยู่ในกรอบวิธีคิดแบบเดิม นั่นคือการติดอยู่กับกระบวนการผลิตเดิม การใช้พลังงานเดิมที่ทำลายสภาพอากาศโลก และการบริโภคแบบเดิมที่สุรุ่ยสุร่าย
สำหรับประโยชน์ของเศรษฐกิจชีวภาพ สหภาพยุโรปประเมินว่าผลดี คือ 1.สร้างเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำและการผลิตขั้นต้นอย่างยั่งยืน 2.สร้างอุตสาหกรรมชีวภาพที่สามารถแข่งขันได้ และ 3.ห่วงโซ่อาหารมีความยืดหยุ่นและยั่งยืนมากขึ้น (5)
กลไกของเศรษฐกิจชีวภาพ
กลไกสำคัญคือการสร้างวงจรการผลิตที่เริ่มจากภาคเกษตร ผลผลิตที่ได้จะถูกคัดสรรเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ไม่เฉพาะแค่อาหาร เช่นเดียวกับการกลั่นน้ำมันที่ทำน้ำมันดิบให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าและประโยชน์ใช้สอยมากมาย ชีวมวลที่ได้จากพืชก็เช่นกัน มีส่วนประกอบต่างๆ เช่น lignin, cellulose, hemicellulose และสารสกัดอื่นๆ
ชีวมวล (Biomass) เป็นวัสดุพืชหรือสัตว์ที่ใช้สำหรับการผลิตพลังงาน หรือเกิดขึ้นได้มาจากพืชที่ปลูกขึ้นเพื่อหวังผลด้านพลังงาน (เช่น สบู่ดำ), อาจเป็นได้ทั้งเศษไม้ หรือของเสียจากป่า, ของเสียจากพืชอาหาร (ฟางข้าว, ชานอ้อย), พืชสวน (ขยะลาน), การแปรรูปอาหาร (ซังข้าวโพด), การเลี้ยงสัตว์ (ปุ๋ยที่อุดมไปด้วยไนโตรเจนและฟอสฟอรัส) หรือของเสียจากมนุษย์จากพืช และน้ำเสีย (5)
เมื่อผ่านการกลั่นทางชีวภาพ (Biorefining) โดยโรงกลั่นชีวภาพ (Biorefinery) ก็จะสามารถใช้ประโยชน์จากส่วนประกอบชีวมวลแต่ละตัวได้หลากหลายมากขึ้น เช่น เมื่อผ่านกระบวนการแล้วจะได้สิ่งที่ดีที่สุดคือสารเคมีละเอียดและยารักษาโรค หรือแม้แต่ผลผลิตภัณฑ์สกินแคร์ จากนั้นได้ผลิตภัณฑ์สำหรับทำไบโอพลาสติก ต่อมาได้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับการคมนาคมขนส่ง และยังได้พลังงานไฟฟ้าอีกด้วย
เมืองไทยไปถึงไหนแล้ว?
ในส่วนของประเทศไทย เมื่อวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2559 คณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านเศรษฐกิจ นำเสนอรายงานการปฏิรูปเศรษฐกิจชีวภาพ ต่อสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) และ สปท. เห็นชอบรายงานดังกล่าว ซึ่งเสนอให้ระยะที่ 1 ประกาศให้เศรษฐกิจชีวภาพเป็นวาระแห่งชาติ และมีกลไกขับเคลื่อนการปฏิรูปโดยการจัดตั้งคณะกรรมการระดับประเทศ เพื่อใช้ความหลากหลายทางชีวภาพอย่างชาญฉลาด ด้วยการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจอนาคตสู่ความยั่งยืน (7)
ฟากรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แถลงนโยบายรัฐบาลต่อรัฐสภา เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2562 ซึ่งได้กำหนดวิสัยทัศน์เพื่อมุ่งมั่นให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วในศตวรรษที่ 21 ผ่านนโยบายหลัก 12 ด้าน และนโยบายเร่งด่วน 12 ด้าน โดยหนึ่งในนโยบายเร่งด่วนก็คือการต่อยอดอุตสาหกรรมเป้าหมายและวางรากฐานการพัฒนาภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจสีเขียว
ทั้งนี้ ทางสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี ได้กำหนดแผนการเร่งผลักดันอุตสาหกรรมชีวภาพที่จะทำให้เกิดรูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจฐานชีวภาพ (Bioeconomy) ซึ่งจะเป็นกลไกสำคัญต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายและผลักดันให้ประเทศไทยเป็น Bio Hub of ASEAN ภายในปี 2570 ซึ่งจะหนุนให้ จ.ฉะเชิงเทรา จัดตั้งเป็น Bio Hub และจะมีการจัดตั้งเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EECi) ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาด้าน Bioeconomy อีกด้วย
ด้านภาคเอกชนไทย หัวหอกสำคัญของธุรกิจชีวภาพคือ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ซึ่งดำเนินการภายใต้บริษัท บีบีจีไอ จำกัด ประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายเชื้อเพลิงชีวภาพที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย แต่บีบีจีไอ ไม่ได้หยุดแค่นั้น เพราะยังทำงานวิจัยเศรษฐกิจชีวภาพด้านอื่นๆ ด้วย เช่น วัสดุชีวภาพยางพลาสติกที่สามารถย่อยสลายได้ และชีวเคมี หรือการผลิตอาหารเสริมและเครื่องสำอางค์ (8)
อ้างอิง
- Enríquez-Cabot, Juan. “Genomics and the World’s Economy.” Science 281 (14 August 1998): 925-926.
- Juan Enríquez, Rodrigo Martinez. “Biotechonomy 1.0: A Rough Map of Biodata Flow”, Harvard Business School working paper # 03-028, August 2002.
- OECD. Meeting Policy Challenges for a Sustainable Bioeconomy. OECD Publishing, 2018. หน้า 14
- Vargas-Hernández José G.. “Bio economy’s institutional and policyframework for the sustainable development ofnature´s ecosystems”, Atlantic Review of Economics – 2nd Volume – 2017.
- European Commission. “Bio-based economy inEurope: state of play andfuture potential – Part 2”. Publications Office of the European Union, 2011.
- “Biomass – Energy Explained, Your Guide To Understanding Energy”. U.S. Energy Information Administration. June 21, 2018.
- “วาระการปฏิรูปที่ส าคัญและเร่งด่วน (๒๗ วาระ)ในปี ๒๕๖๐ ของคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านเศรษฐกิจ เรื่องเศรษฐกิจอนาคต”. สำนักกรรมาธิการ ๑ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ปฏิบัติหน้าที่สำนักงานเลขาธิการสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ. https://library2.parliament.go.th/giventake/content_nrsa2558/d040360-02.pdf
8. “ธุรกิจผลิตภัณฑ์ชีวภาพ”. Bangchak Corporation. Retrieved October 2, 2019. https://www.bangchak.co.th/th/ExplorationProduction