ภูฏานเก็บเพิ่มค่าเหยียบแผ่นดิน 7,170 บาทต่อคนต่อคืน เพื่อก้าวสู่การปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์

ภูฏานดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ได้ประมาณ 7 ล้านตันต่อปี แต่ผลิตคาร์บอนเพียงประมาณ 2 ล้านตันเท่านั้น และภายในปี 2030 ภูฏานมีแผนที่จะปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์และผลิตของเสียให้เป็นศูนย์  

การรักษาระดับคาร์บอนต่ำเป็นในหนึ่งในนโยบายการท่องเที่ยวของภูฏาน โดยสภาการท่องเที่ยวภูฏาน (TCB) ประกาศให้นักท่องเที่ยวเข้าประเทศได้อีกครั้งตั้งแต่วันที่ 23 ก.ย. 2022 และทุกคนจะถูกเรียกเก็บ “ค่าธรรมเนียมการพัฒนาที่ยั่งยืน” หรือค่าเหยียบแผ่นดินเป็นเงิน 200 ดอลลาร์ (ราว 7,170 บาท) ต่อคนต่อคืน จากเดิมที่เรียกเก็บแค่ 65 ดอลลาร์มาเป็นเวลาสามทศวรรษ 

ค่าธรรมเนียมใหม่เป็นการเก็บเพื่อชดเชยผลกระทบการปล่อยคาร์บอนจากนักท่องเที่ยว โดย ทันดี โดรจิ (Tandi Dorji) ประธาน TCB และรัฐมนตรีต่างประเทศของภูฏานแถลงการณ์ว่า “โควิด-19 ช่วยให้เราสามารถรีเซ็ตตัวเองเพื่อคิดใหม่ว่าภาคส่วนนี้จะมีโครงสร้างและดำเนินการได้อย่างไร … ในขณะที่รักษารอยเท้าคาร์บอนให้ต่ำ” 

ปัจจุบันนี้ภูฏานมีสถานะ “คาร์บอนเป็นลบ” สาเหตุหลักๆ มาจากการสั่งห้ามการส่งออกไม้ โดยรัฐธรรมนูญระบุว่า 60% ของพื้นที่ทั้งหมดของประเทศต้องเป็นพื้นที่ป่าไม้ตลอดเวลา, พลังงานน้ำฟรีที่เกิดจากแม่น้ำหลายสายของภูฏานถูกนำมาใช้แทนเชื้อเพลิงฟอสซิล  และไฟฟ้าฟรีให้กับเกษตรกรในชนบท

กว่า 70% ของประเทศปกคลุมด้วยต้นไม้ ทำให้ภูฏานกลายเป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอน ซึ่งหมายความว่าภูฏานดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากกว่าที่ผลิตได้ โดยภูฏานดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ได้ประมาณ 7 ล้านตันต่อปี และผลิตได้เพียงประมาณ 2 ล้านตันเท่านั้น และภายในปี 2030 ภูฏานมีแผนที่จะปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิให้เป็นศูนย์และผลิตของเสียให้เป็นศูนย์  

ภูฏานเปิดรับนักท่องเที่ยวระดับไฮเอนด์มาตั้งแต่ปี 1974 โดยตอนนั้นมีคนเข้ามาเที่ยว 300 คน ตัวเลขดังกล่าวเพิ่มสูงขึ้นเป็น 315,600 ในปี 2019 เพิ่มขึ้น 15.1% จากปีก่อนหน้า จากข้อมูลของ TCB ซึ่งแม้ว่ามันจะทำรายได้เข้าประเทศ แต่อาจกระทบต่อเป้าหมายการเป็นประเทศที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและยังกระทบต่อค่านิยมในประเทศด้วย

ในขณะที่ภูฏานประสบความสำเร็จในการจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้าประเทศ ด้วยหลักการ “คุณภาพสูง ปริมาณต่ำ” แต่เรื่องนี้เป็นที่ถกเถียงกันอยู่ว่า “นักท่องเที่ยวคุณภาพสูง” มักจะเป็นนักท่องเที่ยวที่ร่ำรวย เนื่องจากอุปสรรคของการไปเยือนภูฏานส่วนใหญ่เกิดจากราคาที่สูง ไม่ได้เกิดจากความสนใจต่อประเทศนี้อย่างแท้จริง

ข้อมูล

  • “Bhutan sets reopening date — and increases daily tourist tax”. (1 July 2022). Reuters.
  • Schroeder, Kent (2017). “The Last Shangri-La?”. Politics of Gross National Happiness: Governance and Development in Bhutan. Cham (Zug): Springer. p. 55. ISBN 9783319653884.
  • “How Bhutan became a carbon-negative country”. (June 9, 2022). GVI.

ภาพ Bernard Gagnon – Own work / wikimedia.org

Related posts

มหาอำนาจโลกในมือ ‘ทรัมป์’ จุดจบการดำเนินงานด้านสภาพภูมิอากาศ?

โลกจมกองพลาสติก ต้องเปลี่ยนวิธีผลิต ลดการบริโภค กำจัดอย่างยั่งยืน

อุณหภูมิทะลุ 3.1°C แผนลดก๊าซเรือนกระจกในปี 2030 เป็นเรื่องเพ้อฝัน