ซูเปอร์มาร์เก็ตอังกฤษ เลิกกำหนด ‘วันหมดอายุนม’ ลดการทิ้งของเสียหยุดโลกร้อน

ภาพ: Morrisons

ยุโรปหันมาเลิกสนใจกับ “วันหมดอายุ” ที่ปิดไว้บนบรรจุภัณฑ์อาหารในซูเปอร์มาร์เก็ต เพราะจริง ๆ แล้วมันไม่ได้ “หมดอายุ” วันนั้นทันที แต่ยังสามารรับประทานได้อีกนานหรือไม่ก็สามารถนำมาแปรรูปได้ด้วย

iGreen เคยนำเสนอประเด็นอาหารหมดอายุที่ยังบริโภคได้มาอย่างต่อเนื่อง สิ่งนี้ไม่ใช่เรื่องเล่น ๆ เพราะมันช่วยลดภาระของโลกในการแบกรับของเสียจากอาหารกินทิ้งกินขว้างที่มีมากถึง 900 ล้านตันต่อปี และคาร์บอนฟุตพริ้นท์จากคาร์บอนไดออกไซด์จากการทิ้งอาหารเหลือกินอยู่ที่ประมาณ 3,300 ล้านตัน

ล่าสุด Morrisons ซูเปอร์มาร์เก็ตที่มีชื่อเสียงในอังกฤษเตรียมเลิกกำหนดวันหมดอายุกับผลิตภัณฑ์นมเกือบทั้งหมด โดยกล่าวว่าการทำแบบนี้จะช่วยหยุดการเทนมทิ้งหลายล้านลิตรในแต่ละปี เพราะหมดเชื่อว่าถ้ากำหนดวันหมดอายุผู้บริโภคจะไม่กล้าดื่มมัน

หลังจากเลิกบอกวันหมดอายุแล้ว Morrisons จะปิดฉลาด ‘best before’ หรือคุณภาพดีที่สุดก่อนวันที่ … ให้กับ 90% ของนมแบรนด์ของบริษัทและสนับสนุนให้ผู้บริโภคดมกลิ่นเพื่อตรวจสอบคุณภาพของนมด้วยตนเอง

Morrisons กล่าวว่า การวิจัยพบว่านมไม่จำเป็นต้องระบุว่าเป็นอาหารที่เน่าเสียง่าย “วันที่บนกล่องหรือขวดนมจะยังคงเหมือนเดิม สิ่งที่กำลังเปลี่ยนไป คือสิ่งที่เราขอให้ลูกค้าทำ” นั่นคือการบอกให้ลูกค้าทดสอบนมด้วยประสาทสัมผัสตนเอง

Morrisons แนะว่า ลูกค้าควรตรวจดูนมโดยถือขวดไว้ที่จมูก ถ้ามีกลิ่นเปรี้ยวก็อาจจะบูดได้ หากมีก้อนและเป็นไขแสดงว่าไม่ควรใช้ แต่ลูกค้าสามารถยืดอายุนมได้ด้วยใส่ตู้เย็น และปิดขวดให้แน่นที่สุด

อย่าคิดว่านี่เป็นแค่เรื่องของการประหยัด ความเปลี่ยนแปลงนี้จะส่งผลต่อการต่อสู้กับแคมเปญลดอาหารเหลือทิ้ง และการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลกได้ไม่น้อยเลย

นั่นเพราะสหราชอาณาจักรต้องทิ้งนมประมาณ 330,000 ตันทุกปี หรือประมาณ 7% ของการผลิตทั้งหมดในประเทศตามตัวเลขในปี 2018 จากข้อมูลของ Wrap องค์กรการกุศลที่รณรงค์ด้านอาหารเหลือทิ้ง

นมที่ถูกทิ้งไปมากถึง 231 ล้านลิตรถูกเททิ้งไปในครัวเรือน ทำให้นมเป็นอาหารที่ถูกทิ้งมากที่สุดอันดับสามในสหราชอาณาจักร รองจากมันฝรั่ง และขนมปัง ทั้งหมดนี้เป็นอาหารหลักของคนอังกฤษ และชาวตะวันตกทั้งนั้น

นอกจากนี้ นมยังเกี่ยวข้องกับการปล่อยคาร์บอนสู งเนื่องจากมาจากการเลี้ยงโค โดยรวมแล้วอุตสาหกรรมปศุสัตว์ (ไม่เฉพาะโค) สร้างคาร์บอนฟุตพริ้นท์มหาศาลในสัดส่วน 14.5% ของการปล่อยก๊าซทั้งหมด

นมทุกแกลลอนที่ถูกบริโภคไปส่งผลให้เกิดก๊าซเรือนกระจกเทียบเท่ากับการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 7.9 กิโลกรัมเลยทีเดียว

ข้อมูลจาก
• “Morrisons scraps ‘use by’ date on milk in favour of sniff test” (10 Jan 2022). BBC.
• Jasper Jolly. (9 Jan 2022). “‘Use the sniff test’: Morrisons to scrap ‘use-by’ dates from milk packaging”. Guardian.

Related posts

กรรมการชาติเห็นชอบร่างพรบ.โลกร้อน เดินหน้าสู่เศรษกิจคาร์บอนต่ำ

ฝุ่น PM2.5 พุ่ง ‘หอฟอกอากาศระดับเมือง’ คืนชีวิตให้คนกรุง อย่างไร

5 ปีอุณภูมิโลกส่อทะลุ 1.5 องศา ไทยเร่งรับมือ 6 สาขาเสี่ยงระดับพื้นที่