ขอร่วมแสดงความอาลัย มะเร็งปอดคร่าชีวิตอาจารย์ มช. ผู้เชี่ยวชาญ​เรื่องผึ้งระดับโลก

iGreen ขอร่วมแสดงความอาลัยต่อการจากไปของ รศ.ดร.ภาณุวรรณ จันทวรรณกูร อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ด้วยโรคมะเร็งปอด เมื่อเช้าวันที่ 18 มี.ค. 2565 

อาจารย์ภาณุวรรณ เพิ่งทราบว่าป่วยเป็นมะเร็งปอดระยะที่ 3 เมื่อปลายปี 2564 ที่ผ่านมา ท่ามกลางความแปลกใจของผู้ใกล้ชิด เพราะอายุยังน้อย ไม่สูบบุหรี่หรือใกล้ชิดกับกิจกรรมเสี่ยงอื่น ยกเว้นอาศัยอยู่ในเมืองเชียงใหม่ซึ่งเป็นพื้นที่มีปัญหาฝุ่นควัน pm2.5 มายาวนาน 

เมื่อทราบว่าตัวเองเป็นผู้ป่วยจากโรคร้าย ดร.ภาณุวรรณ ปวารณาตนเป็นกรณีตัวอย่างผู้ได้รับผลกระทบจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก และติดตามการผลักดันการแก้ปัญหามลพิษฝุ่นควันมาโดยตลอด 

ก่อนหน้านี้ ผศ.ดร.ว่าน วิริยา ผู้ช่วยหัวหน้าศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) เปิดเผยบนเวทีเสวนา “เชียงใหม่ เพื่อลมหายใจที่ดีกว่า” ตอนหนึ่งว่า เป็นเรื่องน่าใจหายถึงผลการตรวจสุจภาพของรุ่นพี่ที่รักและนับถือกัน คือ รศ.ดร.ภาณุวรรณ จันทรวรรณกูร อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์ มช. ที่เพิ่งรับทราบว่า ตัวเองเป็นมะเร็งปอด ระยะที่ 3

อาจารย์ว่าน กล่าวกับ IGreen ว่า อาจารย์ภาณุวรรณเป็นผู้เชี่ยวชาญ​เรื่องผึ้งระดับโลก ไม่มีประวัติเกี่ยวข้องกับการสูบบุหรี่ หรือใกล้ชิดกับผู้สูบบุหรี่ เพียงแค่อยู่อาศัยในพื้นที่มีฝุ่นควัน PM2.5 ในเชียงใหม่มานานกว่า 10 ปี และอาจารย์ต้องการให้นำอาการป่วยของตัวเองมาเป็นบทเรียนและจะได้เข้าใจถึงผลกระทบจากฝุ่น PM2.5

“อาจารย์อยากให้นำข้อมูลการป่วยโรคมะเร็งของตัวเองเป็นบทเรียนสำหรับคนอื่น ๆ เพื่อเป็นการเรียนรู้และป้องกันตนเอง โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยง เพราะไม่มีทางรู้ว่าใครจะเป็นคิวของมะเร็งคนต่อไป

“ขอขอบพระคุณท่านอาจารย์ภาณุวรรณที่เสียสละให้นำเคสนี้ให้เกิดการถกเถียง พูดคุย วิจัย และนำไปสู่แก้ไขปัญหาอย่างจริงจังร่วมกันทั้งประเทศ ขอเป็นกำลังใจให้ท่านอาจารย์ต่อสู้ และผ่านพ้น เอาชนะ หายป่วยจากมะเร็งได้ในเร็ววัน” อาจารย์ว่านระบุขณะเป็นผู้บรรยายถึงความจำเป็นในการสวมหน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันเชื้อโรคและมลพิษทางอากาศ

ก่อนหน้านี้ ศ.นพ.ชายชาญ โพธิรัตน์ จากหน่วยวิชาโรคระบบการหายใจ เวชบำบัดวิกฤตและภูมิแพ้ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เคยระบุว่า แนวโน้มการเสียชีวิตในช่วงที่มีค่ามลภาวะทางอากาศสูงจากปี 2559-2562 เพิ่มขึ้นกว่า 200%

นอกจากนี้จากการศึกษาขององค์การอนามัยโลกศึกษาในส่วนของประเทศไทย พบว่ามีผู้เสียชีวิตจาก PM2.5 ราวๆ ปีละ 4 หมื่นคน สูงเป็น 4 เท่าของการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุการจราจรทางบก

Related posts

‘เฉลิมชัย’ นำทีมไทยถก COP29 นำเสนอ 5 ประเด็นลดก๊าซ 222 ล้านตัน

ค่าฝุ่นปากีสถานทะลุ 1,900 รั้งอันดับโลก อ้างพัดข้ามพรมแดนจากอินเดีย

โลกจมกองพลาสติก ต้องเปลี่ยนวิธีผลิต ลดการบริโภค กำจัดอย่างยั่งยืน