กรุงเทพฯ จะท่วมหรือไม่ขึ้นอยู่ที่ 3 ปัจจัย คือ น้ำเหนือ น้ำฝน และน้ำทะเลหนุน ขณะนี้ 2 ปัจจัยแรกถือเป็นความเสี่ยง เนื่องจากแนวโน้มการระบายน้ำเหนือเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดปริมาณน้ำไหลลงแม่น้ำเจ้าพระยาผ่าน อ.บางไทร (สถานีวัดน้ำ C.29A) จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็นจุดยุทธศาสตร์ชี้ขาด เฉลี่ยอยู่ 3,017 ลบ.ม./วินาที (1 ต.ค. 65) ก่อนหน้าหนึ่งวันอยู่ที่ 2,929 ลบ.ม./วินาที
ในขณะที่จุดพีคเมื่อครั้งน้ำท่วมใหญ่ปี 54 ปริมาณน้ำไหลผ่านบางไทรอยู่ที่ 3,860 ลบ.ม./วินาที ซึ่งนี่คือตัวเลขที่บ่งบอกว่า ทำนบแตก และทำให้เกิดน้ำท่วมใหญ่ กรุงเทพฯ
นับจากนี้ไปขึ้นอยู่กับว่ากรมชลประทานจะบริหารจัดการน้ำเหนือซึ่งอยู่ด้านบน อ.บางไทร รวมทั้งน้ำสมทบจากฝั่งตะวันตกอย่างแม่น้ำน้อย ส่วนฝั่งตะวันออกจากเขื่อนป่าสักฯ ล่าสุดระบายอยู่ที่ 355.19 ลบ.ม./วินาที (ปี 64 เขื่อนป่าสักฯ ระบาย 900-1,000 ลบ.ม./วินาที) ซึ่งล่าสุดกรมชลประทานใช้วิธีพร่องน้ำส่วนหนึ่งลง 12 ทุ่งใน 8 จังหวัดภาคกลาง รองรับน้ำได้ 1,300 ลบ.ม./วินาที
อย่างไรก็ตาม เพื่อความเข้าใจที่มากขึ้น การบริหารน้ำเหนือให้มีประสิทธิภาพนั้นขึ้นอยู่กับปริมาณน้ำที่ระบายออกในแต่ละเขื่อนหรือแต่ละประตูน้ำ รวมทั้งการให้น้ำหนักระหว่างปริมาณน้ำที่จะพร่องไปยังฝั่งตะวันตกและตะวันออกด้วย ซึ่งหากปล่อยน้ำไหลจาก อ.เมือง จ.นครสวรรค์ (สถานี C.2) ลงไปตรงๆ ออกอ่าวไทยง่ายๆ ก็คงจะดี แต่ในความเป็นจริงไม่สามารถทำเช่นนั้นได้ เพราะปริมาณน้ำมีมาก จึงต้องพร่องออกซ้ายหรือขวาให้สมดุลกัน
กล่าวคือฝั่งตะวันตก น้ำเหนือจะถูกพร่องน้ำออกแม่น้ำท่าจีน และแม่น้ำน้อย ด้านฝั่งตะวันออกก็จะพร่องคลองชัยนาท-ป่าสัก แม่น้ำลพบุรี และคลองย่อยต่างๆ โดยตัวชี้วัดว่ากรุงเทพฯ จะตกอยู่ในความเสี่ยงหรือไม่ ก็จะอยู่ที่การปล่อยน้ำที่สถานีบางไทร หากระบายน้ำออกจากจุดนี้เกิน 3,500 ลบ.ม./วินาที ถือว่าเริ่มมีความเสี่ยง เพราะจะทำให้ปริมาณน้ำในคลองด้านล่างลงมารับไม่ไหวและจะเริ่มไหลบ่า การสูบและพนังกั้นน้ำจะเอาไม่อยู่
ก่อนน้ำจะเข้าสู่กรุงเทพฯ ด้านทิศเหนือเป็นพื้นที่ติดกับ จ.ปทุมธานี ซึ่งจะมีคลองระพีพัฒน์แยกตก ทำหน้าที่รับน้ำด่านแรก จากนั้นน้ำส่วนหนึ่งที่เพิ่มมากขึ้นจะถูกผันเข้าประตูระบายน้ำพระนารายณ์ ผ่านคลอง 13 ผ่านเขตหนองจอก มีนบุรี ลาดกระบัง และไหลออกสู่ทะเลที่สมุทรปราการ
ทั้งนี้ ปลายคลองระพีพัฒน์แยกตกฝั่งเจ้าพระยาจะเชื่อมกับคลอง 1 ที่จะไหลงมายังคลองรังสิตประยูรศักดิ์ด้านล่าง ถือเป็นปราการด่านสุดท้ายในการสกัดน้ำเหนือไม่ให้เข้า กทม. อาจกล่าวได้ว่าถ้าน้ำท่วมรังสิต กรุงเทพด้านเหนือก็ไม่รอด และถัดลงมาจากคลองรังสิตฯ ก็จะมีคลองหกวาที่ขนานอยู่ด้านล่างอีกคลองซึ่งจะผันน้ำไปฝั่งตะวันออก
ด้านฝั่งตะวันตกจะมีแม่น้ำนครชัยศรี และแม่น้ำท่าจีนทำหน้าที่รับน้ำและพร้องน้ำ โดยที่ กทม.จะระบายน้ำออกจากคลองมหาสวัสดิ์ลงสู่ท่าจีน รวมถึงระบายออกจากคลองหลักอื่นๆ เช่น คลองทวีวัฒนา คลองโยง คลองภาษีเจริญ คลองดาวคะนอง คลองชักพระ และคลองบางกอกใหญ่ ฯลฯ
ต้องรอดูว่า การสูบน้ำ ระบายน้ำ และการพร่องน้ำของ กทม. จะมีศักยภาพมากแค่ไหน บรรดาสถานีสูบน้ำ บ่อสูบน้ำ ประตูระบายน้ำ แก้มลิง และอุโมงค์น้ำจะสามารถช่วยบล็อคไม่ให้น้ำเข้าพื้นที่ชั้นในของกรุงเทพฯ และสูบน้ำออกได้เร็วแค่ไหน
ขณะเดียวกัน ต้องติดตามปริมาณฝนว่าจะตกซ้ำอีกหรือไม่ โดยปริมาณฝนรายเดือนสะสมเฉลี่ยใน กทม. ณ วันที่ 1 ต.ค. 65 อยู่ที่ 1979.5 มม. ขณะที่น้ำทะเลหนุนในช่วงนี้ยังไม่น่าเป็นห่วง
เมื่อพิจารณาแผนบริหารน้ำของ กทม. เทียบกับปริมาณน้ำเหนือที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ต้องติดตามว่าผู้ว่าฯ กทม.จะคุยกับผู้ว่าฯ ปทุมธานีและนนทบุรีอย่างไร เพื่อแก้ปัญหาร่วมกัน โดยปัจจัยที่คุมไม่ได้คือปริมาณฝนที่คาดว่าจะตกลงมาอีก
นอกจากนั้นต้องติดตามพายุลูกใหม่ว่าจะมาเมื่อใด การขุดลอกและเร่งพร่องน้ำในคลองหลักของ กทม. เช่น คลองลาดพร้าว คลองเปรมประชากร คลองประเวศฯ และคลองอื่นๆ ฝั่งตะวันตกทำได้มากน้อยแค่ไหนด้วย
เกาะติดสถานการณ์น้ำลุ่มเจ้าพระยา
รายงานสถานการณ์น้ำโดยศูนยืปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ กรมชลประทาน วันที่ 1 ต.ค. 65 (สภาพน้ำท่า)
แม่น้ำเจ้าพระยา สถานี C.2 อ.เมือง จ.นครสวรรค์ ปริมาณน้ำไหลผ่าน 2,611 ลบ.ม./วินาที (เมื่อวาน 2,598 ลบ.ม./วินาที) ต่ำกว่าตลิง 1.34 ม.
เขื่อนเจ้าพระยาสถานี C.13 อ.สรรพยา จ.ชัยนาท ปริมาณน้ำไหลผ่าน 2,586 ลบ.ม./วินาที (เมื่อวาน 2,500 ลบ.ม./วินาที) ระดับน้ำเหนือเขื่อน +17.02 ม.รทก. ระดับน้ำท้ายเขื่อน 15.87 ม.รทก.
แม่น้ำป่าสัก เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ระบาย 355.19 ลบ.ม./วินาที เมื่อวาน 225.41 ลบ.ม./วินาที (ปี 64 เขื่อนป่าสักฯ ระบาย 900-1,000 ลบ.ม./วินาที) ท้ายเขื่อนพระราม 6 สถานีวัดน้ำ S.26 ระบาย 691 ลบ.ม./วินาที (เมื่อวาน 609 ลบ.ม./วินาที) ปริมาณน้ำคลองระพีพัฒน์ผ่าน ปตร.พระนารายณ์ 23 ลบ.ม./วินาที (เมื่อวาน 18 ลบ.ม./วินาที)
น้ำไหลลงแม่น้ำเจ้าพระยาผ่านสถานีวัดน้ำ C.29A อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา ปริมาณน้ำไหลผ่านเฉลี่ย 3,017 ลบ.ม./วินาที เมื่อวาน 2,929 ลบ.ม./วินาที ในขณะที่น้ำท่วมใหญ่ปี 54 ปริมาณน้ำไหลผ่านบางไทร 3,860 ลบ.ม./วินาที ซึ่งตัวเลขนี้ที่บางไทรถือเป็นด่านหน้าชี้ชะตาว่าน้ำจะท่วมกรุงเทพฯ หรือไม่
รับน้ำเข้าฝั่นตะวันตกและตะวันออก
รับน้ำฝั่งตะวันตก 143 ลบ.ม./วินาที เมื่อวาน 133 ลบ.ม./วินาที เพิ่มขึ้น 10 ลบ.ม./วินาที (รับน้ำสูงสุด 585 ลบ.ม./วินาที)
รับน้ำฝั่งตะวันออก 48 ลบ.ม./วินาที เมื่อวาน 47 ลบ.ม./วินาที เพิ่มขึ้น 1 ลบ.ม./วินาที (รับน้ำสูงสุด 275 ลบ.ม./วินาที)
รวม 2 ฝั่ง เพิ่มขึ้น 11 ลบ.ม./วินาที
ทำความรู้จักคลองหลักด้านทิศเหนือ กทม.
1) คลองระพีพัฒน์
เริ่มต้นจากประตูระบายน้ำพระนารายณ์ ที่ ต.ท่าหลวง อ.ท่าเรือ จ.พระนครศรีอยุธยา ก่อนจะไหลลงมาที่ อ.หนองแค จ.สระบุรี ระยะทาง 32 กิโลเมตร และแยกออกเป็นสองสาย คือ คลองระพีพัฒน์แยกใต้ ระบายน้ำผ่านทางประตูน้ำพระศรีเสาวภาคไปออก อ.องครักษ์ จ.นครนายก ระยะทาง 28.7 กิโลเมตร
อีกสายคือ คลองระพีพัฒน์แยกตะวันตก ระบายน้ำผ่านทางประตูน้ำพระศรีศิลป์ และไปสิ้นสุดที่ประตูน้ำพระอินทร์ราชา จ.ปทุมธานี (บริเวณ อ.คลองหลวง ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นคลอง 1 ที่เชื่อมลงมาถึงคลองรังสิตประยูรศักดิ์) ระยะทาง 36.6 กิโลเมตร และยังเชื่อมต่อไปยังคลองเชียงรากน้อย ที่วิ่งลอดใต้ถนนพหลโยธินไปออกแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งประตูน้ำพระอินทร์ราชาถือเป็นประตูหลักที่กั้นน้ำไม่ให้ลงมารังสิตทางคลอง 1
2) คลองรังสิตประยูรศักดิ์
เป็นคลองเชื่อมระหว่างแม่น้ำเจ้าพระยากับแม่น้ำนครนายก ที่ อ.องครักษ์ เดิมทีมีคนเรียกว่า “คลอง 8 วา” เพราะตอนขุดตั้งใจให้มีความกว้าง 8 วา คลองรังสิตฯ นี้วิ่งลอดถนนวิภาวดีรังสิต บริเวณห้างฟิวเจอร์ปาร์ครังสิต ซึ่งจุดนี้จะมีประตูน้ำจุฬาลงกรณ์ที่เป็นประตูหลักกั้นน้ำคลองรังสิตฝั่งตะวันออกกับด้านตะวันตกที่เชื่อมกับแม่น้ำเจ้าพระยา
3) คลองหกวา
เป็นคลองด้านล่างถัดลงมาจากคลองรังสิตฯ ถือเป็นคลองสายล่างสุดที่เริ่มจากแถวถนนพหลโยธิน 54/1 ยาวไปออกแม่น้ำบางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา โดยแนวคลองจะขนานกับถนนลำลูกกา และเป็นเส้นแบ่งเขตจังหวัดระหว่างกรุงเทพฯ กับปทุมธานีในช่วงคลองต้นๆ และแบ่งนครนายกกับฉะเชิงเทราในคลองปลายๆ คลอง โดยคลองหกวาจะเชื่อมต่อลงไปยังคลองแสนแสบอีกทอด
คลองทั้งสามสายนี้จะมีคล่องย่อยซอยเชื่อมกันเป็นคลอง 1, 2, 3, ไปจนถึงคลอง 14,15,16 ซึ่งอยู่ในพื้นที่ จ.นครนายก